xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.แจงที่มารายได้-นโยบายหาเสียง 13 เรื่อง 5 ด้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มีรายงานว่า เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของรายได้ ความคุ้มค่า และผลกระทบความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ในเว็บไซต์ โดยระบุว่า เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57 ที่บัญญัติว่า การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อย้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และ 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย โดยทางพรรคระบุที่มาของรายได้ที่จะใช้ดำเนินโครงการตามนโยบายที่หาเสียงจาก 6 แหล่ง ประกอบด้วย

1.ปรับลดงบประมาณบางรายการ เช่น งบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉิน สำนักนายกรัฐมนตรี การลดงบประมาณโครงการเดิมที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน เป็นต้น

2.ภาษีใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง

3.เงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

4.การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี

5.รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

6.เงินร่วมทุนจากเอกชนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ

สำหรับการดำเนินโครงการตามนโยบายหาเสียงพรรคประชาธิปัตย์ ได้แบ่งออกเป็น 5 ด้าน รวมใช้งบประมาณทั้งหมด 392,015 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้ การศึกษา 62,348 ล้านบาท สวัสดิการสังคม 148,928 ล้านบาท เกษตรคุณภาพ 130,000 ล้านบาท แรงงาน 50,000 ล้านบาท สาธารณสุข 739 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณที่ใช้ ประโยชน์ความคุ้มค่า เป็นรายนโยบายทั้ง 13 เรื่องด้วย โดยทุกนโยบายยืนยันว่าไร้ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย แต่มีบางนโยบายที่งบประมาณจะเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ประกันรายได้แรงงานขั้นต่ำ ใช้งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 2.66 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันทำงานเพิ่มขึ้น โดยไม่ทำให้รายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญอีกทั้งไม่เป็นภาระเพิ่มขึ้นของนายจ้าง ผู้ประกอบการ ซึ่งรัฐบาลอาจต้องรับภาระมากขึ้นหากแรงงานไหลเข้าระบบมากขึ้น และ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดใช้งบประมาณ 17,832 ล้านบาท เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับสิทธิค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูทุกเเดือนจำนวน 1,000 บาทต่อเดือน แบบถ้วนหน้า ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 8 ขวบ โดยเดือนแรกจะได้รับ 5 พันบาท ซึ่งเมื่อดำเนินโครงการครบ 8 ปี รัฐบาลจะต้องใช้เงินเพิ่มเป็นประมาณ 59,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงการประกันรายได้พืชผลเกษตรใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรที่มีอาชีพสวนยางพารา ปาล์น้ำมัน ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง มีหลักประกันในอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ที่มั่นคง แต่หากพืชผลเกษตรตามโครงการนี้มีราคาตกต่ำที่สุดพร้อมกันในรอบปี รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณ 350,000 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น