xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง ปชต.ใหม่ เรียก 16 ล.กรณีตำรวจสลายชุมนุมหน้าหอศิลป์ปี 58

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่กลุ่มนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และนักศึกษา รวม 13 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เรียกค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนจำนวน 16,468,583 บาท จากกรณีเมื่อวันที่ 22-23 พ.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ ซึ่งสังกัดอยู่ในหน่วยงานของจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1-13 ขณะพวกโจทก์กำลังทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?” ที่บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ร่วมกันสั่งการ และควบคุมกำลังเข้ามาห้ามไม่ให้โจทก์ใช้เสรีภาพในการชุมนุมจัดกิจกรรม ด้วยการนำรั้วเหล็กสีเหลืองมาปิดกั้น บริเวณลานหน้าหอศิลป์ไว้โดยรอบ ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมในบริเวณดังกล่าวได้ จึงต้องทำกิจกรรมบริเวณด้านนอกรั้วที่ถูกกั้นไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ใช้กำลังประทุษร้ายต่อร่างกายและจิตใจ และควบคุมตัวโจทก์ไว้ที่สถานีสน.ปทุมวัน โดยไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัวไว้ตามกฎหมาย และไม่ใช่การควบคุมตัวไว้ เพื่อสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือสอบสวนโจทก์แต่อย่างใด โดยหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์นานถึง 10 ชั่วโมง ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการเดินทาง ไม่สามารถเดินทางไปไหนตามที่ใจปรารถนาได้  อีกทั้งยังทำให้ได้รับผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 13 เสียหาย ถือเป็นการร่วมกันกระทำโดยจงใจ กระทำละเมิดต่อโจทก์ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เห็นว่ากิจกรรมที่กลุ่มโจทก์จัดขึ้นถือเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 และพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่รัฐธรรมนูญมีมาตรา 44 ซึ่งหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 3/2558 จำกัดเสรีภาพการชุมนุมไว้ จึงไม่สามารถใช้เสรีภาพการชุมนุมได้ การที่โจทก์ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองนั้น เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าควบคุมจึงชอบด้วยตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ส่วนการควบคุมตัวโจทก์ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันนั้น ไม่ได้มีการยึดอุปกรณ์สื่อสาร อาจารย์ของกลุ่มโจทก์สามารถเข้าพบได้ ดังนั้นการควบคุมตัวจึงชอบแล้ว สำหรับความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นจากการขัดขืนของโจทก์เอง โดยโจทก์ยื่นอุทธรณ์ว่าคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาทำโดยสงบ

ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนยกฟ้อง