xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.มั่นใจการเลือกตั้งไม่ทำนิคมฯ สมาร์ทปาร์คสะดุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (23 ม.ค.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามบันทึกความร่วมมือกับพันธมิตร 3 ฝ่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคมอัจฉริยะ (Smart Digital/Telecommunication) และบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคต ทั้งด้านการวางระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบให้บริการธุรกรรมทางการเงิน การใช้พลังงานอัจฉริยะที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการร่วมกันพัฒนาสมาร์ทปาร์คในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,500 ไร่ เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2,800 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการปี 2565 กนอ.ประเมินจะมีเม็ดเงินลงทุนจากเอกชนในพื้นที่ 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ประกอบด้วย หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (ROBOTICS) อุตสาหกรรมการบิน และลอจิสติกส์ (AVIATION AND LOGISTICS) อุตสาหกรรมดิจิทัล (DIGITAL) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (BIOFUELS AND BIOCHEMICALS) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (MEDICAL HUB) ซึ่งเบื้องต้น บมจ.ปตท. และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจี (BIG) ได้แสดงความสนใจลงทุนลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการหน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม หรือ Air Separation Unit (ASU) ในพื้นที่นี้ตามโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC)

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า แม้มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่ แต่คาดว่าไม่มีผลกระทบต่อโครงการนี้ เพราะเป็นนโยบายที่ดีในการส่งเสริมการลงทุน และโครงการนี้อยู่ระหว่างการจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยตั้งเป้าหมายว่า EIA จะผ่านความเห็นชอบในปีนี้