xs
xsm
sm
md
lg

รวงข้าวมั่นใจเลือกตั้งปีหน้าไม่กระทบการเบิกจ่ายเมกะโปรเจกต์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า การลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ปี 62 ที่ได้รับการอนุมัติแล้วและคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปีหน้า มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 950,200 ล้านบาท โดยเน้นยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่ EEC ที่มีโครงการรัฐเป็นมูลค่ารวมเกือบ 684,018 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72 ของมูลค่าโครงการที่อยู่ในแผนงานการก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาผู้ชนะการประกวดราคา ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุดเฟสที่ 3 และโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก โดยการวางโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับผ่าน พ.ร.บ.อีอีซี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งเป็นรถไฟทางคู่สายใหม่ที่คาดว่าจะก่อสร้างเป็นเส้นทางแรกจากทั้งหมด 9 เส้นทาง รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ที่จะมีการประมูลภายในช่วงต้นปี และเชื่อว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

ทั้งนี้ เชื่อว่าการลงทุนภายใต้เงื่อนไขของการเลือกตั้ง และการดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่จะไม่กระทบต่อความคืบหน้าของการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงขั้นตอนการหาผู้ชนะการประกวดราคาของโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วเป็นไปตามแผนที่วางไว้

สำหรับการการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐจากเมกะโปรเจกต์อาจสูงกว่าปี 2561 โดยการเร่งตัวของการเบิกจ่ายน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 หรือหลังผ่านการเลือกตั้งในช่วงครึ่งปีแรกแล้ว คาดว่าจะอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท เนื่องจากหลายโครงการอยู่ในขึ้นตอนต่อเนื่องของการเบิกใช้เงิน ได้แก่ รถไฟทางคู่เฟสที่ 1 ทั้ง 7 เส้นทาง รถไฟฟ้าสายสีแดงที่ยังมีการเบิกจ่ายในส่วนของงานโยธาสถานีกลางบางซื่อ เป็นต้น

แนวโน้มที่ดีของเม็ดเงินก่อสร้างจากภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบที่สูงขึ้นมีบทบาทกระตุ้นห่วงโซ่อุปทานทั้งในส่วนต้นน้ำ คือกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มปลายน้ำ คือ กลุ่มผู้รับเหมาช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเมินต่อไปในช่วงปีถัดๆ ไป หรืออย่างน้อยในปี 2563 คาดว่าการเบิกจ่ายเงินสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นอีก บนสมมติฐานที่ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองและมีการผลักดันโครงการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การบริหารจัดการแหล่งที่มาของเงินทุน ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ภายใต้สถานการณ์ที่ต้นทุนทางการเงินในประเทศมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปีข้างหน้า