xs
xsm
sm
md
lg

สงครามการค้า-ทัวร์จีนหด ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือน ต.ค.ลดต่อเนื่องเดือนที่ 2

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2561 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือน 2 นับตั้งแต่มิถุนายน 2561 มาอยู่ที่ระดับ 86.4 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่ากังวลปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ปัญหาการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนในไทย ปัญหาราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารายังไม่สูงและปัญหาราคาน้ำมัน ส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัวลง ซึ่งค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ระดับ 100 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความกังวลถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง คือ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มลดลงมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบัน แต่ยังมีสัญญาณว่านักท่องเที่ยวจีนจะไม่ลดลงมากกว่านี้ ประกอบกระแสข่าวทั้ง 2 ผู้นำทั้งสหรัฐฯ และจีนเริ่มหันมาเจรจากัน โดยได้โทรศัพท์คุยกันและมีท่าทีว่าจะเปิดการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อหาทางออกของปัญหา คาดว่าหากผลการเจรจาออกมาดี น่าจะส่งผลให้การค้าของโลกจะกลับมาดีขึ้นรวมถึงไทย

ดังนั้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มองว่าหากปัญหาดังกล่าวไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้การค้าโดยเฉพาะการส่งออกของไทยจะส่งออกได้ตามเป้าหมาย ที่คาดการณ์ไว้เป็นบวกไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 และนักท่องเที่ยวจากจีนจะกลับมาท่องเที่ยวในไทยทุกภาคส่งผลให้ปีนี้ยอดนักท่องเที่ยวในไทยจะมีมากกว่า 38 ล้านคนได้

นอกจากนี้ จะทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มบ้าน รถยนต์ แต่น่าจะส่งผลให้การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่น่าจะกลับมาดีขึ้น รวมทั้งสินค้าภาคการเกษตรแม้จะยังไม่ดีขึ้นเต็มที่แต่ราคาส่วนใหญ่ไม่ได้ลดลงไปมาก เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้ผันผวนมากจนเกินไปและมีแนวโน้มทรงตัวมากขึ้น โดยเหตุผลเหล่านี้จะทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมของไทยดีขึ้น ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 2561 ที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมองไว้ น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.6 และหากผลการพูดคุยทั้ง 2 ผู้นำไปในทิศทางที่ดีปัจจัยอื่นปรับดีจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2562 น่าเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 โดยเฉลี่ยจะเติบโตร้อยละ 4.3-4.5