xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน [19 ตุลาคม 2561]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในบ้านเมืองของเรา ที่สร้างความเจริญก้าวหน้าให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้แก่ประชาชนทวยราษฎร์ทั้งปวง จึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดีด้วยการถวายพระนามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง โดยกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคมเป็นวันปิยมหาราช พระราชกรณียกิจสำคัญที่นับว่าเป็นการปฏิรูปประเทศครั้งยิ่งใหญ่คือ การเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไปปราศจากการเสียเลือดเนื้อ หรือการต่อต้านที่รุนแรง เหมือนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยอาศัยมาตรการทางกฎหมาย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ โดยประสบความสำเร็จได้ในเวลาเพียง 30 ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไป

นอกจากนี้ ได้มีการปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัย การปฏิรูประบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ การไฟฟ้า การประปา การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ และการสาธารณสุข เป็นต้น สำหรับการเสด็จประพาสยุโรป นับเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการของพระองค์ ที่ไม่เพียงเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรปเท่านั้น แต่ยังทรงเลือกสรรเอาแบบแผน ขนบธรรมเนียมประเพณีในดินแดนเหล่านั้นมาปรับปรุงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น จนเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก ที่สำคัญช่วยให้ชาติไทยเราเป็นประเทศเอกราชไม่ตกเป็นเมืองขึ้นใครจวบจนทุกวันนี้

ในการนี้เพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ รัฐบาลได้จัดกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย พิธีทำบุญตักบาตร พิธีวางพวงมาลาและถวายบังคมหน้าพระบรมราชานุสรณ์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต อีกทั้งพิธีถวายบังคมและจุดเทียน เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ท้องสนามหลวง โดยขอเชิญชวนประชาชนแต่งกายด้วยเสื้อโทนสีชมพู ในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ อย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ

พี่น้องประชาชนที่รักครับ การปฏิรูปประเทศนั้น ต้องอาศัยระยะเวลา และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือจากทุกๆคนนะครับ ผมขอยกเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2515 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นผู้อำนวยการสาธิตการสร้างฝนเทียม เพื่อเติมน้ำในแหล่งเก็บกัก โดยเลือกพื้นที่แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ผิวน้ำเพียง 46.5 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,160 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่เล็กที่สุดที่เคยมีการทดลองสร้างฝนเทียม โดยการสาธิตดังกล่าว ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง พระองค์สามารถสร้างฝนเทียมให้ตกลงในพื้นที่เป้าหมายอย่างแม่นยำ จนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ท่ามกลางสักขีพยาน ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ และสื่อมวลชน ทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

นับว่าเป็นก้าวสำคัญก้่าวหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ ที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งที่เป็นความเดือดร้อนของพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาไทย ดังนั้นวันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็นวัน "วันเทคโนโลยีของไทย" เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ในครั้งนั้น สำหรับวันนี้ผมขอยกตัวอย่างการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมที่รัฐบาลนี้ได้สืบสาน รักษาต่อยอดศาสตร์พระราชาต่างๆ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาคเกษตรใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และรายได้แก่เกษตรกรไทยให้หลุดพ้นจากวังวนแห่งปัญหาเดิมๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ

1.การปรับโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ ให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนในทุกรูปแบบ คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด ส่งผลให้การทำงานในภาพรวมมีเอกภาพ สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้ืนได้อย่างรวดเร็ว และตรงจุด

2.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบอย่างบูรณาการกัน ร่วมกับหลายหน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.ส่งผลให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบกระจายน้ำได้มากกว่าที่ผ่านมาถึง 4 เท่าก่อนที่เราเข้ามา สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานกว่า 3,500 แห่ง บนพื้นที่กว่า 28,000 ล้านไร่ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 9.74 ล้านไร่ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,652 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานโครงการ 1.3 ล้านครัวเรือน และมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2,750 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ ยังได้จัดทำที่พักน้ำหลากด้วยระบบแก้มลิงตามพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ทุ่งบางระกำ และทุ่งเจ้าพระยา ซึ่งเรายังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง และมีอีกหลายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ผ่านๆ มาไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ แต่ก็เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้หลายโครงการ

3.การส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มช่องทางการตลาด โดยสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกันทำการเกษตรแบบแปลงใหม่ และจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร รวมทั้งจัดหาทางชวนเข้ามาเป็นผู้รับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่โดยตรง ในส่วนของร้านค้าก็มีร้านค้าประชารัฐเข้าไปด้วย

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรให้มีบทบาทเป็นหน่วยธุรกิจ ร่วมกับภาคเอกชนภายใต้กลไกการสานพลังประชารัฐ รวมทั้งพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือสมาร์ทฟาร์เมอร์ เพื่อทดแทนเกษตรกรสูงอายุ และเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น

ที่สำคัญรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ และมีภูมิคุ้มกันด้วย สามารถพัฒนาตนเอง และเข้มแข็งได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

4.การแก้ไขปัญหาราคาข้าวให้มีเสถียรภาพ โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำแผนการผลิตข้าวครบวงจร เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรที่ทำนาในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยใช้มาตรการจูงใจด้วยหาผู้รับซื้อผลผลิต และรับรองราคารับซื้อขั้นต่ำ ทำให้ปริมาณข้าวลดลง ราคาข้าวมีเสถียรภาพ การมีผู้ร่วมสมัครใจเข้าร่วมโครงการก็ทำได้หลายราย ประสบความสำเร็จจำนวนมาก

5.การแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน จัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศตามนโยบายการตลาด โดยมีหลักการก็คือ เกษตรกรควรรู้ปริมาณความต้องการและราคาซื้อขายผลผลิตการเกษตร ก่อนลงมือเพาะปลูก และภาครัฐมีมาตรการลดความเสี่ยง ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่างๆให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรแบบยั่งยืน หันมาทำแผนการผลิตดังกล่าว

โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป ซึ่งเราจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ตลาดโลกด้วย เราตั้งราคาเอง ตั้งราคาสูงไว้ก่อนในทำนองนี้ไม่ได้ เพราะจะต้องแข่งในในตลาดโลก เราต้องสร้างราคาให้เหมาะสม ให้สมดุลย์กันระหว่างดีมานด์ ซัพพลายด้วย

6.การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยกับสถาบันการเงินของเจ้าหนี้ ทำให้เราสามารถปรับโครงสร้างหนี้สินให้เกษตรกรมากกว่า 36,000 ราย ลดภาระหนี้ของเกษตรกรได้ประมาณ 10,200 ล้านบาท

และเราต้องติดตามเจ้าหนี้รายใหม่ๆ รายใหญ่ๆ ซึ่งอาจจะคงมีเหลืออยู่ ก็ขอให้ทุกคนระมัดระวังในการปล่อยกู้ด้วย ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการปฏิรูปนั้น จะต้องเริ่มจากตัวเองก่อนเสมอ จากนั้นจะต้องร่วมแรงร่วมใจร่วมมือกันในการแก้ปัญหาต่างๆของประเทศไปได้อย่างยั่งยืน

พี่น้องที่รักทุกท่านครับ การปฏิรูปประเทศนั้น เราจะมองเฉพาะในมุมของเรา หรือปัจจัยภายในประเทศแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เราต้องทำงานเชิงรุก โดยสร้างตัวเราในเวทีระหว่างประเทศที่เป็นปัจจัยภายนอกด้วย ให้สามารถรู้เท่าทันไปจนถึงการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการขับเคลื่อนประเทศของเราไปด้วย

ช่วงเดือนตุลาคมนี้ ผมมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ ก็เข้าร่วมการประชุมต่างๆบ่อยครั้ง เลยได้ทราบมุมมองของประเทศต่างๆ ก็อยากจะมาเล่าสู่กันฟังกับพี่น้องประชาชนคนไทย หลังจากกลับมาจากการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง กับญี่ปุ่นในวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมาแล้ว ผมก็ได้เดินทางไปประชุมผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ และมีผู้นำองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก ที่เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งทางผู้นำอาเซียนก็ได้แสดงวิสัยทัศน์ และบทบาทที่สำคัญในการร่วมมือที่จะผลักดันการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs รวมถึงการลดช่องว่างของการพัฒนา เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภูมิภาค และความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ และต้องคำนึงถึงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจอีกด้วย

การประชุมครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่องค์การระหว่างประเทศให้กับภูมิภาคอาเซียนและประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน แลกเปลี่ยนมุมมองกับที่ประชุมในเรื่องหลัก 3 เรื่อง ได้แก่

1.การส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเงินของภูมิภาคและของโลก ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งที่ผ่านมา ฐานะด้านการต่างประเทศของไทย เข้มแข็ง และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบผสมผสาน รวมทั้งมีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับสถานการณ์ ก็จะช่วยบรรเทาความผันผวนให้ตลาดการเงินได้ในระดับหนึ่ง และส่งเสริมเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต

ผมจึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีอย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ตั้งแต่ระดับประเทศ คือ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ และมีหนี้สินต่างประเทศที่ไม่สูงจนเกินไป ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้หนี้ต่างประเทศของเราอยู่ที่ประมาณร้อยละ 35 ซึ่งนับว่าดีกว่าหลักเกณฑ์สากลที่กำหนดว่า ไม่ควรสูงเกินร้อยละ 80 นี่เป็นเรื่องของหนี้ต่างประเทศ หนี้สาธารณะอีกตัวหนึ่ง อันนั้นเราไม่เกิน 60 ในภาพรวมเรามีประมาณ 40 กว่าๆ ซึ่งที่กำหนดไว้แล้วนั้น ก็จะต้องมองไปขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากเกินกว่านั้นก็จะเป็นสัญญาณอันตราย

ในระดับภูมิภาคผ่านความร่วมมือทางการเงิน และความช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ และในระดับโลกผ่านความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ ในการจะสอดส่องดูแลเศรษฐกิจการเงิน และสนับสนุนทางการเงินที่เป็นวงกว้าง ก็ช่วยเหลือประเทศที่เกิดวิกฤตและป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประเทศสามารถมีกันชน ช่วยป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่ดีขึ้นแล้ว กลไกความร่วมมือเหล่านี้ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการด้านการเงินของประชาชนได้มากขึ้นอีกด้วย

2.ผมจะเชิญชวนให้ World Bank และ UN ทำการศึกษาวิจัยเพื่อจะเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงเดิมในภูมิภาค เช่น ACMECS และ IMT-GT รวมถึงการสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่าง World Bank , ADB และ AIIB ในการระดมทุน

3.การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น หรือ SEP for SDGs และส่วนของภูมิภาค ประกอบกับการที่อาเซียนจะจัดตั้งศูนย์อาเซียน ต้องการด้านการศึกษา วิจัย และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในปี 2562 ถือเป็นปัจจัยส่งเสริมให้อาเซียนบรรลุ SDGs และเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางยิ่งขึ้น ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมีวิสัยทัศน์ สร้างอนาคตร่วมกันอย่างมียุทธศาสตร์

นอกจากนี้ ผมได้เน้นย้ำถึงการพัฒนามนุษย์ ถือเป็นหัวใจของการบริหารที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของธนาคารโลก โดยเสนอว่า ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพในการหาทุนระหว่างอาเซียน เวิล์ดแบงก์ ไอเอฟเอฟ ยูเอ็น ซึ่งประธานธนาคารโลกยอมรับว่า ในอดีตเคยแนะนำประเทศต่างๆ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก่อน แล้วค่อยลงมือกับทรัพยากรมนุษย์ แต่ประเทศไทยอยากให้ความสำคัญกับคนเป็นลำดับแรก อาทิ การดูแลด้านสาธารณสุขอย่างครอบคลุม ทั่วถึง ซึ่งส่งผลดีกับการเจริญเติบโตของประเทศอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ธนาคารโลกจึงหันมาสนับสนุนให้นานาประเทศ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ได้แก่ การดูแลประชากรด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ เนื่องจากมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การลงทุนครั้งนี้ สร้างแรงสำคัญมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวทางที่ประเทศไทยดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นการปูทางของไทยด้วย

สำหรับวันที่ 18 และ 19 ตุลาคมนี้ ผมเข้าร่วมผู้นำเอเชีย-ยุโรป อาเซียน ครั้งที่ 12 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์และพัฒนาการด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ของโลก เพื่อกำหนดทิศทางแนวนโยบายในการกระชับสัมพันธ์ ส่งเสริมความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน โดยสหภาพยุโรป ในฐานะเจ้าภาพ กำหนดหัวข้อหลัก ของการประชุมว่า ยุโรป และเอเซียหุ้นส่วนระดับโลก โดยมีผู้นำจากประเทศในอาเซีย และยุโรป จำนวน 51 ประเทศ กับอีก 2 องค์กรนานาชาติ ได้แก่ สหภาพยุโรป และสำนักเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย การลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสส่งเสริมบทบาทประเทศไทยในเวทีอาเซียน ซึ่งผมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตที่ครอบคลุม และเชื่อมโยงอย่างยั่งยืน สนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน SCG ซึ่งไทยสนับสนุนให้เอเชียและยุโรปเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง และความเชื่อมโยงที่เป็นรูปธรรม เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทั้งจากธรรมชาติ จากน้ำมือมนุษย์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำอื่นๆ ในการส่งเสริมความร่วมมือภาคี ต่อสถานการณ์ภูมิภาคและของโลก ทั้งเรื่องการสนับสนุน และการค้าเสรี และการปรับกฎกติการะหว่างประเทศ ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ร่วมกัน ในช่วงการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการด้วย

ดังนั้น การประชุมอาเซียน ผมเข้าร่วมประชุม EU ASEAN reading Rating ถึงมีการหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียน-อียู 2018-2022 เพื่อจะแก้ไขปัญหาระดับโลก รวมทั้งการร่วมกันรับมือกับสงครามการค้าและการสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการยกระดับความเชื่อมโยงระหว่าง 2 ภูมิภาค ไปสู่ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม กฎระเบียบ รวมถึงความเชื่อมโยงของประชาชน เพื่อเตรียมการสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นความท้าทายที่เกิดจากหลากหลายมิติ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสังคมสูงวัย และการสมดุลระหว่างประเด็นด้านมนุษยธรรม กับการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคง สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์และส่งผลให้ผู้ที่จะรับหน้าที่ประธานอาเซียนต่อไปด้วย

สุดท้ายนี้ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีการจัดนิทรรศการสร้างความสุข จ.กาฬสินธุ์ และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องหารายได้ให้พี่้น้องประชาชนด้วยการแสวงหาจุดแข็ง จุดขายของตนมาขยายผล ทำให้นึกถึงการรวมกลุ่มกันของ แพรวาจีจี้เกิร์ลกรุ๊ป มีสมาชิก 18 คน จาก 18 อำเภอ ของ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานเพลง และท่าเต้นจากพื้นบ้านประยุกต์ ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจ คือการนำผ้าไหมแพรวา ผ้าทอมือที่เป็นเอกลักษณ์ของภูไท มาตัดเย็บเป็นชุดศิลปิน ดัดแปลง ออกแบบเสื้อผ้าให้แปลกใหม่ ทันสมัย ทั้งหมดเป็นผลงานของคนไทยในท้องถิ่นเองออกสู่สายตาชาวไทยทั่วประเทศ

ผมเห็นว่า จังหวัดต่างๆ ล้วนมีภาคพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์สวยงามแตกต่างกันไป แต่ไม่แพร่หลาย ไม่เป็นที่รู้จักต่างถิ่น หรือไม่ได้รับการพัฒนาจนส่งออกมายังตลาดต่างประเทศได้ มีการนิยมใช้ในท้องถิ่น ผู้สูงอายุ ส่วนเยาวชนก็ใส่ผ้าพื้นเมือง ตามงานเทศกาล งานบุญ ผมเองคิดว่า การพัฒนา การออกแบบ เพื่อนำมาใช้รูปแบบอื่นๆ บ้าง นอกจากเป็นการอนุรักษ์ น่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วย เช่น เครื่องแต่งกายนักแสดง กระเป๋า รองเท้า ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน หรือต่างๆ ที่เหมาะสม ริเริ่มสร้างสรรค์ตอบสนองตลาดท้องถิ่น ตลาดในประเทศ และต่างประเทศ

ดังนั้น ผมเห็นว่า แพรวาจีจี้เกิร์ลกรุ๊ป ไม่ได้เป็นเพียงศิลปิน นักร้อง แต่ยังเป็นนางแบบเสื้อผ้า และเป็นสินค้าโอทอปของ จ.กาฬสินธุ์ ผ่านเวทีการแสดง ที่เริ่มสร้างมูลค่าเพิ่ม จากในท้องถิ่นออกสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้รู้จักผ้าไหมแพรวา สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการสร้างงาน สร้างรายได้ จากสิ่งที่มีอยู่เดิม แล้วพัฒนาไปสู่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ นำรายได้เข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นให้ได้ เพื่อกระจายรายได้ กระจายความเจริญออกสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ แม้กระทั่งการเป็นศิลปิน ก็ไม่จำเป็นต้องการเสี่ยงโชค เสี่ยงชะตา ห่างหายบ้านนาเข้ามาเมืองกรุง เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิตอลและสื่อโซเชียล ก็เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถนำเสนอสินค้า แสดงความสามารถของตนได้จากทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ

ยิ่งกว่านั้น วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป สถานีโทรทัศน์ NBT ของกรมประชาสัมพันธ์ จะทำการทดลองออกอากาศทีวีดิจิตอลในระดับภูมิภาค ผ่านช่องหมายเลข 11 เหมือนกันทั้งประเทศ แต่เนื้อหาต่างกัน ซึ่งจะเป็นการผลิตรายการโดย NBT ใน 4 ภูมิภาค ตามภูมิศาสตร์ของประเทศ เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เพื่อนำเสนอข่าวสารและสาระความรู้ เจาะลึกท้องถิ่นมากขึ้น ต่อไปเวลาเดินทางไปไหนในประเทศไทย เมื่อตื่นขึ้นมาจะได้รู้ว่าอยู่ภาคไหน เป็นการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมประจำถิ่น ทั้งข่าวสารจากทีวี วิทยุ การแต่งกายของคนท้องถิ่น รวมถึงสถาปัตยกรรม โรงแรม บ้านเรือน ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่นคงทางวัฒนธรรม ซึ่งส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น ที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ ทุกจังหวัดก็ต้องใช้รูปแบบการพัฒนาเช่นนี้ เราจะได้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในระยะยาว

หลายท่านคงทราบแล้วว่าผมได้เริ่มมีเว็บไซต์ส่วนตัว และช่องทางการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ไปพร้อมกัน ผมก็ต้องการใช้เป็นอีกช่องทางในการสื่อสารกับพี่น้องประชาชนในรูปแบบของการสื่อสารสองทาง นอกจากจะเป็นช่องทางที่พี่น้องประชาชนจะสามารถรับรู้ รับทราบ และเข้าใจ ถึงการทำงานและนโยบายของผม และรัฐบาลได้สะดวกขึ้นแล้ว ก็ยังเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนสามารถจะส่งข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ หรือแจ้งความต้องการให้รัฐบาลทราบ เพื่อจะได้ลงไปดูแลหรือแก้ปัญหาในเรื่องใด ก็จะสามารถแจ้งเข้ามาส่งข้อมูลเข้ามาได้ ซึ่งถือเป็นการนำเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำงานของผม ของรัฐบาล

ที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ก็มีพี่น้องประชาชนเขียนเข้ามามากมาย ผมก็ติดตามอ่านอยู่อย่างสม่ำเสมอ อะไรที่ตอบได้เองก็จะตอบไป แล้วก็จะมีทีมงานที่ช่วยคอยติดตามด้วย เพื่อจะรวบรวม สรุปข้อคิดเห็น และปัญหาต่างๆ เป็นหมวดหมู่ แจ้งให้ผมได้ทราบเป็นระยะๆ เพื่อจะแก้ไขปัญหา ในอนาคตผมก็จะหาเวลามาชี้แจง และตอบในประเด็นคำถามสำคัญๆ ตามช่องทางดังกล่าวด้วยตัวของผมเองอีกด้วย

ล่าสุดในเฟซบุ๊ก มีเด็กนักเรียนจากต่างจังหวัด เขียนมาขอคำปรึกษาว่า ทำไมเวลาตั้งใจจะทำอะไรที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม มักมีคนเข้ามาพูดบั่นทอนจิตใจ ไม่ให้กำลังใจ ทำให้บางทีรู้สึกท้อแท้ เมื่อได้อ่าน ก็รู้สึกว่าเด็กคนนี้ต้องเจอกับสิ่งที่ผมเจออยู่บ่อยครั้ง ผมจึงขอเป็นกำลังใจให้ อยากจะบอกว่าขอให้อดทน เราต้องไม่ท้อแท้ในการทำความดี ทำประโยชน์เพื่อสังคม อย่าปล่อยให้คำบั่นทอนหรือคำต่อว่ามาทำให้เป็นอุปสรรคในการทำความดี แต่ให้ยึดมั่นในความตั้งใจดี ทำให้ดี และทำให้มากขึ้น ถ้าในสังคมและประเทศไทยของเรามีคนอย่างเด็กคนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เชื่อว่าประเทศจะสามารถเดินหน้าต่อไปอย่างมีความสุขและสงบร่มเย็นด้วย

ส่วนในอินสตาแกรม มีเรื่องของการปฎิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลเองก็อยู่ระหว่างการเร่งหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย เพื่อให้ก้าวตามทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก และถ้าหากระบบการศึกษาของเรายังไม่เปลี่ยน วันนี้เราก็ทำหลายอย่างไปแล้ว แต่มันต้องใช้เวลาในการที่จะให้เกิดผลผลิตออกมาที่มีผลสัมฤทธิ์โดยรวม เพราะว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนแล้ว ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการสร้างสังคมความเป็นอยู่ที่ดี อาจจะพบกับความยากลำบากในการดำรงชีวิตหรือในการทำธุรกิจเพื่อให้เกิดการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดังนั้นหากพี่น้องประชาชนมีความคิดเห็นหรือข้อเสนอในการปรับปรุงระบบการศึกษาเพิ่มเติม ก็สามารถจะส่งกันเข้ามาได้ ผมอยากให้ช่วยกันคิด ถ้าอยากให้ทำอะไร ถ้าเป็นไปได้ก็กรุณาแนะนำด้วยแล้วกัน ถ้าคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นเป็นประโยชน์ หรือจะเสริมเติมต่อให้กับในส่วนของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้นโยบายตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนและประเทศให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญก็คืออยากให้มีการแสดงความคิดเห็นแบบมีเหตุมีผล ยอมรับความเห็นที่อาจจะแตกต่างกันได้ แล้วก็ขอให้ใช้คำพูดที่สุภาพด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการทุจริต เรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ก็ช่วยกันส่งกันเข้ามาเยอะแยะ ทั้งหมดผมจะเก็บไว้เป็นข้อมูลและเร่งตรวจสอบ ดำเนินการให้ ผมขอฝากหน่วยงานในพื้นที่ได้กวดขันดูแลเรื่องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเข้มงวดและใกล้ชิด บนพื้นฐานของความรับผิดชอบตามลำดับชั้นลงไป เพราะผมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากนที่สุด

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีสวัสดิภาพ และทุกครอบครัวมีความสุข ปลอดภัย สวัสดีครับ