xs
xsm
sm
md
lg

"ประวิตร"ย้ำทุกชาติอาเซียนร่วมมือแก้ปัญหาก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 12 (ADMM) ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศสมาชิก

โอกาสนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (ADSOM) และผลการประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ จากนั้นได้หารือร่วมกันถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน การตอบสนองและการฟื้นฟูสำหรับการต่อต้านการก่อการร้าย โดยแสดงความกังวลร่วมกันถึงภัยจากการก่อการร้ายที่ต้องการบูรณาการความร่วมมือในการรับมือกันมากขึ้นในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง การตอบสนองและการฟื้นฟูสำหรับการต่อต้านการก่อการร้าย

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความเสียใจกับ สปป.ลาว และอินโดนีเซีย ต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ผ่านมา โดยรัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ พร้อมเชื่อมั่นว่าประเทศ สปป.ลาว และอินโดนีเซีย จะสามารถผ่านความยากลำบากไปได้โดยเร็ว” พล.ท.คงชีพ กล่าว

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำถึงความตระหนักร่วมกันถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคที่ถูกแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มผู้ไม่หวังดี ขยายผลเป็นภัยคุกคามข้ามชาติ ซึ่งทุกประเทศจำเป็นต้องให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกันมากขึ้น ผ่านการเสริมสร้างกลไกความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และความมั่นคงทางทะเล รวมถึงการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของหลายประเทศที่ควรได้รับการริเริ่มแสวงหาแนวทางและสร้างกลไกความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระดับภูมิภาค ที่เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนร่วมกัน ขณะเดียวกัน ยืนยันถึงความพร้อมของกระทรวงกลาโหมไทยในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ที่มุ่งมั่นจะสานต่อและขับเคลื่อนความร่วมมือ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศ ให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืนต่อไป

พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมอาเซียนได้เห็นชอบกับข้อเสนอของกระทรวงกลาโหมไทย ในการร่วมกันผลักดันการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) โดยจะนำไปหารือเพื่อแสวงความร่วมมือกันในการประชุม ADMM ปี 2562 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ จากนั้นได้ลงนามร่วมกัน ในปฏิญญาร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับแนวความคิดด้านต่างๆ 5 ฉบับ ประกอบด้วย การจัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญของอาเซียน ด้านเคมี ชีวภาพและรังสี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กัน กรอบแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์อากาศยานทหารบินเผชิญหน้ากัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด ขอบเขตการปฏิบัติงานของผู้แทนฝ่ายทหาร ประจำศูนย์ประสานงานอาเซียน สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ โดยกองกำลังเตรียมพร้อมอาเซียน แนวความคิดว่าด้วยบรรทัดฐาน การคัดเลือกประเทศผู้สังเกตการณ์ของคณะผู้เชี่ยวชาญในกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศคู่เจรจา รวมทั้งแนวความคิดโครงการ "Our Eyes Initiative" ในการแลกเปลี่ยนข่าวสารทางยุทธศาสตร์ด้านการต่อต้านการก่อการร้ายร่วมกัน พร้อมทั้งได้ลงนามร่วมกันในปฏิญญาร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียนเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคร่วมกัน