xs
xsm
sm
md
lg

กษ.เดินหน้านโยบาย"ตลาดนำการผลิต"ดึง 20 ประเทศเป็นคู่ค้ายางพารา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อขยายคู่ค้ายางพาราในตลาดโลกให้กว้างยิ่งขึ้น ตามนโยบายตลาดนำการผลิต ของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เชิญทูตและผู้ประกอบการยางกว่า 70 คน จาก 20 ประเทศ โดยเฉพาะผู้นำเข้ายางรายใหม่ เช่น เม็กซิโก อินเดีย และอิหร่าน เป็นต้น ลงพื้นที่ จ.กระบี่ และ จ.ตรัง เพื่อศึกษาดูงานการผลิตและแปรรูปยางทั้งระบบในพื้นที่

โดยที่ จ.ตรัง ได้รับทราบการผลิตยางแผ่นรมควัน มาตรฐาน GMP ยางเกรดพรีเมียม การผลิตภัณฑ์ยางอัดก้อน และการดำเนินงานของบริษัทเอกชน ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากยางแหล่งผลิตยางสำคัญ พร้อมจัดการประชุมโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายนนี้ เพื่อชี้แจงนโยบายของรัฐบาลไทย และมาตรการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนายางพาราของไทย ทั้งด้านการผลิต การแปรรูปวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และความหลากหลาย จนทำให้ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกยางคุณภาพรายใหญ่ของโลกให้นานาประเทศที่ร่วมงานครั้งนี้ได้รับทราบ และในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ ระหว่างสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตยาง กับผู้ประกอบการยางต่างประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดหวังว่า การดำเนินการครั้งนี้จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการยางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้นำเข้ารายใหม่จากประเทศเดิมจะมีมากขึ้น เพราะได้รับทราบข้อมูลทั้งในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และที่สำคัญ คือ ความหลากหลายของยางพาราไทย ที่ไม่เพียงการผลิตในขั้นต้นเป็นเพียงน้ำยางดิบเท่านั้น แต่ไทยสามารถพัฒนาไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราตามความต้องการของตลาดได้ รวมถึงคณะทูตานุทูตที่ร่วมงานครั้งนี้จะช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ยางพาราไทยให้เป็นที่รู้จักของต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายช่องทางการค้าสินค้ายางพาราไทย และส่งผลต่อราคายางพาราในประเทศเพิ่มสูงขึ้นได้อีกทางหนึ่ง และหากกิจกรรมนี้ ประสบผลสำเร็จด้วยดี เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งลดปัญหายางล้นตลาดและราคายางตกต่ำได้ และยังช่วยให้มั่นใจได้ว่า สินค้าทางการเกษตรที่ผลิต ตรงกับความต้องการของตลาด มีตลาดรองรับ ช่วยสร้างอาชีพ และส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรก็นำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการผลิต ให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้แม่นยำยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น