xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน [6 เมษายน 2561]

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน เดือนเมษายนของทุกปีจะมีวันสำคัญๆ ของประเทศที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของชาติของเรา ได้แก่ วันที่ 6 เมษายน วันจักรี ซึ่งปวงชนชาวไทยทุกคนร่วมใจกันน้อมจิตระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงโปรดเกล้าให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น เมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา โดยการสืบทอดศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา อันเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้ปัจจุบันนั้น กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมมาเยือนมากที่สุดในโลกประมาณ 20 ล้านคนต่อปี ติดต่อกัน 2 ปีซ้อนแล้ว จากผลสำรวจของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

และช่วงเทศกาลสงกรานต์ประกอบด้วยวันสำคัญคือ วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ วันปีใหม่ไทย วันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว ซึ่งในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดงาน”เถลิงศกสุขสันต์ มหาสงกรานต์ ตำนานไทย” พระราชทานแก่ประชาชน ร่วมกันปลูกฝังความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ อีกทั้งเป็นการส่งเสริม และสืบสานศิลปะประเพณีอันดีงามของชาติ ในระหว่างวันที่ 6-8 เมษายน ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า โดยขอเชิญชวนให้แต่งกายด้วยชุดผ้าไทย ชุดลายดอก หรือชุดสุภาพอย่างพร้อมเพรียงกัน และสวยงามด้วย

ทั้งนี้ กิจกรรมที่น่าสนใจคือ 1.พิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

เมื่อช่วงเย็นของวันนี้ วันที่ 6 เมษายน ซึ่งมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากได้ร่วมสวดมนต์อย่างพร้อมเพรียงกันในพิธีดังกล่าว และ 2.การสรงน้ำพระพุทธกำเนิด กาสาวพัสตร์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่หล่อขึ้นเมื่อครั้งทรงผนวช วันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญมาประดิษฐานให้ประชาชนสักการะ ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายนนี้ อีกทั้งโปรดให้จัดสถานที่สำหรับประชาชนได้รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ คนในครอบครัว

นอกจากนี้ จะมีการจัดนิทรรศการความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ การแข่งขันก่อพระเจดีย์ทรายชิงโล่พระราชทาน และการแสดงชุดเถลิงศกเพลามหาสงกรานต์ ซึ่งประกอบด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ อาทิ การละเล่นของหลวงสืบมาแต่โบราณ เช่น โมงครุ่ม และกุลาตีไม้ การแสดงโขนตอนหนุมานชาญกำแหง การบรรเลงดนตรีไทย การสาธิตการปรุงเครื่องหอม การทำอาหารและขนมไทย เป็นต้น ตลอดจนการออกร้านจำหน่ายอาหาร และขนมไทย ร้านจิตอาสา 904 รวมทั้งขอเชิญร่วมบันทึกภาพ 3 มิติประเพณีสงกรานต์ ณ บริเวณงานอีกด้วย

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น แม้จะเป็นประเพณีของไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจจะมีความคล้ายคลึงกัน สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนบ้านเมืองของเราเป็นจำนวนมากทุกปี สิ่งที่ผมอยากจะขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนชาวไทย นอกจากการอนุรักษ์ และสืบสานขนบธรรมเนียมอันดีงามของเรา อาทิ การรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ ทำบุญสร้างกุศล ตักบาตร ขนทรายเข้าวัด และการแต่งกายชุดไทยชุดผ้าพื้นเมืองที่ดีงามอยู่แล้ว การละเว้นในกิจกรรมที่ไม่ส่งเสริมภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของประเทศ เช่น การสาดน้ำรุนแรงด้วยวิธีที่ไม่ปกติพิเรนทร์ๆ การแต่งกายที่ไม่เหมาะสมอุจาด การดื่มเครื่องดองของเมา หรือผู้ที่ใช้รถใช้ถนนจะยิ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นอีกด้วย

อีกประการคือ การเป็นเจ้าบ้านที่ดีด้วยการแสดงออกถึงความเป็นไทย เมืองที่มีน้ำใจไมตรี ต้อนรับขับสู้ด้วยรอยยิ้ม ค้าขายไม่เอาเปรียบไม่โก่งราคา ดูแลสถานที่ท่องเที่ยวห้องน้ำห้องท่าให้สะอาดอยู่เสมอ ทุกสถานที่เลยนะครับ สนามบิน ท่ารถ ท่าเรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งสถานที่ให้บริการต่างๆ อีกด้วย ไกด์ทัวร์ต้องให้ความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ไปด้วย และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นต้น

พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ รัฐบาลได้เตรียมมอบของขวัญปีใหม่ไทย สำหรับพี่น้องประชาชนทุกคน รวมทั้งลูกหลานเยาวชนของเราในช่วงเดือนเมษายน ตามที่ผมได้เคยกล่าวไปบ้างแล้ว 1.การเปิดช่องทางการสื่อสารใหม่ สายด่วนไทยนิยม ในรูปแบบแอปพลิเคชันบนมือถือ เว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก เมื่อวันอังคาร 3 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี สำหรับรับเรื่องราวร้องเรียนจากประชาชน รับฟังความคิดเห็นทั้งติเพื่อก่อ และกำลังใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะช่วยให้รู้สึกเราใกล้ชิดกัน นำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจ ไปจนถึงสร้างความเข้าใจ และสร้างความปรองดองของคนในชาติ

ทั้งนี้ เราจะเชื่อมโยงข้อมูลกับช่องทางที่มีอยู่แล้วเดิม อาทิ สายด่วน 1111 ของรัฐบาล ที่มีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อีกกว่า 300 หน่วยงาน เช่น สายด่วน 1567 ศูนย์ดำรงธรรม ของกระทรวงมหาดไทย สายด่วน 1299 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ของ คสช. สายด่วน 191 แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มค้นเคยในรูปแบบของแอปพลิเคชันบนมือถือ ชื่อ Police i lert u ที่กำลังขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

ซึ่งสายด่วนไทยนิยม และสายด่วน 1111 นี้ จะเป็นเครื่องมือรับเรื่องราวจากพี่น้องประชาชนทุกลักษณะ ทั้งให้คำปรึกษา ทั้งเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ เรื่องฉุกเฉิน เรื่องไม่ฉุกเฉิน ซึ่งร้อยละ 90 สามารถแก้ไขได้โดยใช้เวลาสั้นๆ แต่เป็นทุกข์ของประชาชนมายาวนาน

ส่วนเรื่องที่ต้องอาศัยการบูรณาการนั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมาย ก็จะส่งต่อถึงหน่วยงานของรัฐ ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ให้รับเรื่องไปดำเนินการ โดยจะสามารถติดตามความคืบหน้าได้ เนื่องจากอยู่ในระบบฐานข้อมูลอยู่แล้ว ในส่วนที่ 2 นี้ อาจต้องอาศัยเวลาก็ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง หรือละเลย และไม่ทิ้งให้ใครประสบชะตากรรมโดยลำพัง โดยที่หน่วยงานของรัฐไม่เข้าไปดูแล

เรื่องที่ 2.การเปิดตัววิทยุเพื่อครอบครัว คลื่น FM 105 MHz. ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะเริ่มให้บริการในวันครอบครัว วันที่ 14 เมษายนนี้ และก็จะพัฒนาให้เป็นวิทยุเพื่อเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และทุกคนในครอบครัว อย่างเต็มรูปแบบต่อไป โดยจะทำการเผยแพร่ผ่านทั้งสื่อวิทยุ และสื่อออนไลน์ ควบคู่กันไปด้วย จะได้เห็นหน้าเห็นตากันกับผู้ดำเนินรายการ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันไปด้วย

ซึ่งจะคัดสรรให้นักจัดรายการมืออาชีพ หรืออาสาสมัคร หรือนักศึกษาฝึกปฏิบัติก็ตาม จะต้องไม่นำเสนอสาระและบันเทิงที่ผิดเพี้ยน หรือลดคุณค่าของเนื้อหาในรายการลง ผมก็เชื่อว่าในเมื่อรัฐบาลสร้างคน คนก็สร้างชาติ และพลเมืองดีของชาติ ก็จะสร้างจากครอบครัวที่อบอุ่นมีคุณภาพ ก็ขอเชิญชวนติดตามรายการต่างๆตามข้อมูลที่จะได้ประชาสัมพันธ์ออกไปอีกครั้ง

และ 3.คือการจัดพิมพ์หนังสือชุดความรู้ สำหรับประชาชนและเยาวชน ซึ่งกำหนดจะเปิดตัวช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ผมคาดหวังว่าจะช่วยพี่น้องประชาชนได้รู้สิทธิของตน ไม่ตกข่าว ถูกสวมสิทธิ์ หรือไม่เป็นเหยื่อการทุจริตเหมือนที่เป็นคดีอยู่ในปัจจุบัน

รวมทั้งรู้นโยบายของรัฐ จะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และแสวงหาความร่วมมือร่วมใจกันทำเพื่อชาติบ้านเมืองต่อไป ยกตัวอย่าง นโยบายตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ที่ผมได้ริเริ่มให้จัดขึ้นที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ตลอด 3 ปีที่ดำเนินงาน ได้สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท ก็นับว่าประสบความสำเร็จ ด้วยหลักคิดในการยกระดับตลาดชุมชน ตลาดสดทั่วไป ที่มีแทบทุกหมู่บ้านให้เป็นพื้นที่พัฒนาองค์ความรู้ให้เกษตรกรผู้ผลิต ในเรื่องของการทำบัญชีธุรกิจ การจับคู่ทางธุรกิจ การต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ การตลาด เป็นต้น

ปัจจุบันแนวความคิดนี้ก็ได้ขยายผลไปสู่ตลาดประชารัฐ กว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ว่าตั้งตลาดมาอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ผู้บริหารตลาดต้องศึกษาสภาพแวดล้อม ที่มีลักษณะเฉพาะ ความต้องการของชุมชนของตน และปรับปรุงตลาดประชารัฐของท่าน ให้ตอบสนองพฤติกรรมของชาวชุมชน เช่น เป็นตลาดสินค้าอินทรีย์ สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ตลาดสินค้าโอท็อป ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย ซึ่งเราต้องดึงกลไกประชารัฐในพื้นที่ของตนเข้ามาร่วม

ทั้ง 3 รายการดังกล่าวนั้น เป็นความตั้งใจของ ของผม รัฐบาล และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำเทคโนโลยียุคดิจิตัล นวัตกรรมใหม่ๆ และสิ่งสร้างสรรค์ มาสู่สังคมไทยของเราเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของเราทุกคนในอนาคต

สุดสัปดาห์ก่อนผมได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม กลุ่มอนุภูมิภาค GMS นี้มีสมาชิกประกอบไปด้วย ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน ยูนนาน และกวางสี

ในเชิงภูมิศาสตร์ กลุ่มประเทศ GMS ถือเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่สำคัญโดยเฉพาะในเรื่องการค้าการลงทุน

ซึ่งในภูมิภาคส่วนนี้ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 2,300,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมกันประมาณ 250 ล้านคน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งความร่วมมือนี้ก็เพื่อจะพัฒนาภูมิภาค เพิ่มประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่เอง และพื้นที่อื่น ๆ ที่เชื่อมโยงโดยรอบด้วย

กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค GMS นี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย ADB เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก เพื่อดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้าการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรกรรม และบริการ สนับสนุนการจ้างงานและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน

ตลอดจนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริม และเพิ่มขีดความสามารถรวมทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจในเวทีการค้าโลก ตามยุทธศาสตร์ 3 C ได้แก่ Connectivity หรือการเพิ่มความเชื่อมโยง Competitiveness หรือการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และ Civil Society หรือการทำงานแบบประชาสังคม เพื่อขับให้ทุกภูมิภาคจีเอ็มเอส เป็นภูมิภาคที่มั่งคั่งและยั่งยืน ก่อน 25 ปี ที่ผ่านมา ความร่วมมือในทุกภูมิภาคจีเอ็มเอส เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ทั้งการเชื่อมโยงแบบกายภาพระหว่างการเชื่อมสัมพันธ์ 80 แห่ง ทำถนนกว่า 10,000 กิโลเมตร เส้นทางรถไฟกว่า 500 กิโลเมตร สายส่งไฟฟ้ากว่า 3,000 กิโลเมตร และความสามารถในการผลิตพลังงานไฟฟ้ากว่า 1,570 เมกะวัตต์ และความช่วยเหลือด้านกฎระเบียบ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพด้วย ซึ่งทั้งนี้ จำเป็นต้องมีจุดร่วมระหว่างกัน ทั้งความเชื่อมั่น ความไว้ใจวางใจ ผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน

ที่ผ่านมา มีการให้สัตยาบันร่วมกันในการปฏิบัติด้านความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้สามารถเดินหน้าดำเนินการได้ มีพัฒนาการสาขาพลังงาน และปรับปรุงหลักการ ระบบซื้อขายให้เอื้อต่อการสนับสนุนการจัดตั้งตลาดภูมิภาคด้วย

การประชุมครั้งนี้ ผมในฐานะผู้แทนประเทศไทย นำเสนอต่อที่ประชุมถึงแนวทางปฏิบัติเป็นเลิศของประเทศไทย ในการดำเนินนโยบายด้านสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงเสนอประสบการณ์ของไทยในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรม สร้างสมดุลการใช้น้ำตามหลักการสากล และความตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ประชาคมอนุภูมิภาค โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากนี้ เรายังแสดงท่าทีผลักดัน เน้นย้ำ และสนับสนุนการดำเนินกิจการตามแผนงานของจีเอ็มเอสต่อเนื่อง ใน 6 ประเด็น สำคัญ ได้แก่ 1 การผลักดันและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเร่งรัดการดำเนินงานตามกรอบการลงทุนในภูมิภาค ปี 2565 ให้เป็นรูปธรรมตามกำหนดเวลา ซึ่งส่วนของประเทศไทยประกอบด้วย การลงทุนเช่น เส้นทางรถไฟ เชียงราย-เชียงของ และโครงการความช่วยเหลือทางวิทยาการ จำนวน 79 โครงการ

นอกจากนี้ ไทยจะเดินหน้าสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา และจัดตั้งกลไกระดมเงินทุนใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาแผนงานการลงทุนให้ก้าวหน้าด้วย

2 เน้นย้ำการขยายและเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และการอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

3 เน้นย้ำความสัมพันธ์ของนโยบายอีอีซี และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในจีเอ็มเอส เพื่อจะเพิ่มโอกาสการพัฒนาและฐานการผลิตเชื่อมโยงและการลงทุน เพื่อจะสร้างและเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าทั้งภายในและภายนอกอนุภูมิภาค และเชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0

4 สนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคจีเอ็มเอส โดยมุ่งอำนวยความสะดวกเชิงกฎระเบียบ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าถึงโครงข่ายสายด่วนไฟฟ้าในอนุภูมิภาคจีเอ็มเอส เพื่อนำไปสู่การเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้า และเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างหลายภาคส่วนในอนาคต

5 สนับสนุนการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ สำหรับการลงทุนของเอกชนในภูมิภาค ผ่านการอำนวยการต่างๆ เช่น พิจารณากลไกการค้ำประกันสินเชื่อ แก่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน และสนับสนุนการเพิ่มบทบาทของสมาคมขนส่ง อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และ 6 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการภัยพิบัติ เพื่อจะก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขงสีเขียว หรือ กรีนแม่โขง

ระยะต่อไป ประเทศสมาชิกในภูมิภาค จะเพิ่มการสนับสนุนความร่วมมือ ระหว่างรัฐกับภาคเอกชนให้มากขึ้น รวมถึงสนับสนุนการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม นอกจากนี้ จะพัฒนาความร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งกรอบอาเซียน เอ็กเม็กซ์ และนิวเต็กซ์ ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มพลังขับเคลื่อนให้อนุภูมิภาคในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบให้เป็นระบบเดียวกัน จากจีเอ็มเอสถึงอาเซียน ถึงเอเชีย และถึงโลก เพื่อจะวางรากฐานในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งไทยยินดีใช้หลักการในการส่งเสริมการลงทุนที่เรียกว่า ไทยแลนด์บวก1 ควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้ ผมมีโอกาสหารือทวิภาคีกับ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายเหงียน ซวน ฟุกนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยไทยและ สปป.ลาว มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น และมีกลไกความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ และยังมีความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงสำคัญ เช่น สะพาน และถนนสายต่างๆ ซึ่งไทยและลาวจะร่วมการพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงสูงสุดระหว่าง 2 ภูมิภาค รวมทั้งเส้นทางรถไฟด้วยนะครับ

สำหรับเวียดนามนั้น มีมูลค่าการค้าที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ผมเองหยิบยกของให้เวียดนามดูแลสนับสนุนนักลงทุนไทยในสาขาต่างๆ เช่น ธนาคาร พลังงานลม การปิโตรเคมี และเร่งขบวนการนำเข้ารถยนต์จากไทย อีกทั้งกำชับนักลงทุนไทยตลอดว่า ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ กติกา กฎหมาย ในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนของเวียดนามในการประกอบธุรกิจด้วย

นอกจากนี้ ผมและรัฐมนตรีเวียดนามได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีมอบใบอนุญาตการลงทุนในโครงการอมตะซิตี้ ฮาลอง ที่นักลงทุนไทยกลุ่มอมตะได้เข้าลงทุนที่เวียดนาม ที่เมืองฮาลอง จังหวัดกว่างนินห์ ซึ่งเป็นโครงการในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ผู้นำเมืองอัจฉริยะ บนพื้นที่การลงทุนใหม่ประมาณ 36,200 ไร่ ก็มีข้อสังเกตในการลงทุนในประเทศเวียดนามนั้น จะเห็นได้ว่ามีการเตรียมพื้นที่ขนาดใหญ่ 3 หมื่นกว่าไร่ เราก็ทำได้นะ ของเราก็ทำแบบของเรา ลองดูซิว่าสิทธิประโยชน์ แรงจูงใจต่างๆ จะทำได้อย่างไรที่จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ ผมไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำแบบเขาทั้งหมด เพราะเราก็คือบ้านเรา คนของเรา พื้นที่ของเรา ก็ต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรชดเชยความต่างเหล่านี้ อาจจะต้องฝากคิดด้วยก็แล้วกัน เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนอนาคต เพราะว่าประเทศไทยนั้นที่ดินทั้งหมดเป็นของเอกชนเกือบทั้งสิ้น หลายๆ อย่างที่เราทำมา กว่าจะขับเคลื่อนอีอีซีออกมาได้ ก็ยากลำบากพอสมควร นี่ล่ะคือความแตกต่าง เพราะฉะนั้นไม่อยากให้คนเอาไปบิดเบือน ว่าเราทำแบบนี้ไม่ได้ ทำไม่ดี สู้เขาไม่ได้ ทำนองนี้ ก็ลองดูเหตุดูผลด้วยก็แล้วกัน นี่ผมเป็นข้อสังเกตเฉยๆ ซึ่งก็ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในสองประเทศ เพื่อต่อยอดการค้าการลงทุนระหว่างกันต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ผมอยากจะเรียนให้พี่น้องประชาชนรับทราบให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความมุ่งมั่น จริงใจ ตั้งใจในการทำงานเพื่อพวกเราทุกคน และเพื่อบ้านเมืองของเราในอนาคต

นอกจากการประเมินในมิติต่างๆ เช่น การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือการอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตประกอบการธุรกิจ (Ease of doing business) และการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยการดำเนินการตามสนธิสัญญา พันธสัญญา กติกาสากลต่างๆ เช่น เรื่องงาช้าง ไซเตส การประมงผิดกฎหมาย ไอยูยู การค้ามนุษย์ ทิปรีพอร์ต (TIP Report) การบินพลเรือน (ICAO) เป็นต้น

ผมก็ได้รับรายงานว่า องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งองค์กรต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ ให้น้ำหนักกับท่าทีหรือรายงานต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก 30 กว่าประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป มีประเทศในเอเชีย 2 ประเทศเท่านั้น คือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ประเด็นสำคัญก็คือ OECD มีท่าทีพึงพอใจอย่างมากกับการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ และ คสช. โดยเฉพาะที่เราจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนการปฏิรูปประเทศที่รอบด้าน และมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนหรือติดอาวุธให้กับองค์กรปราบทุจริต ทั้งกำลังคน อำนาจทางกฎหมาย โดยพึงพอใจที่มีการออกกฎหมายที่สำคัญๆ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง การจัดซื้อจัดจ้าง การคุ้มครองพยาน รวมทั้งมาตรการต่อต้านทุจริต ซึ่งเพิ่มความพยายามในด้านคน งบประมาณ กฎหมาย และตั้งองค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริตที่เป็นรูปธรรม เพื่อจะลดผลกระทบต่อการดำเนินการทางเศรษฐกิจ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นภาพลักษณ์ที่ดี เป็นมาตรฐานสากล ในสายตาชาวโลกที่เฝ้ามองเราอยู่ และย่อมส่งผลย้อนกลับมาในทางบวก ทั้งในเรื่องของความร่วมมือ การค้าการลงทุน ทุกๆ ด้าน และทุกระดับตามมาด้วย และจะช่วยให้ความเป็นอยู่และรายได้ของพี่น้องประชาชนสูงขึ้นทางอ้อม เพราะเป็นความเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่ในประเทศและระหว่างประเทศ

สุดท้ายนี้ ผมขอย้ำเรื่องเทศกาลสงกรานต์ของเราอีกครั้ง ขอให้เป็นสงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำประหยัด ชีวาปลอดภัย ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ขอความร่วมมือและเสนอแนวปฏิบัติไว้ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ก็ขอให้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ดีจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นไทยนิยม คงอยู่คู่บ้านเมืองและสังคมของเราตลอดไป

ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคน ทุกครอบครัว มีความสุข สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น