xs
xsm
sm
md
lg

เผยพระจิตกาธานชั้นเรือนยอด 9 ชั้น สมเด็จพระเทพฯ โปรดเกล้าช่างแทงหยวก 4 ภูมิภาค ถวายงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ 20 กันยายน 2560 นายสรรชัย เทียมทวีสิน ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง เปิดเผยว่า ตามที่กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง ได้รับนโยบายในการจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันประกอบไปด้วยงานแทงหยวก งานช่างแกะสลักของอ่อน (เครื่องถม) งานช่างดอกไม้ประดิษฐ์ และงานประดิษฐ์เทวดาประดับฐานเรือนไฟองค์พระจิตกาธาน 8 องค์ นั้น การนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัวแทนนายช่างแทงหยวกจาก 4 ภูมิภาค อันประกอบด้วย ช่างราชสำนัก สำนักพระราชวัง, ช่างแทงหยวกสกุล ช่างจังหวัดสงขลา, ช่างแทงหยวกวกุล ช่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดมหาสารคาม ,ช่างแทงหยวกสกุล ช่างเพชรบุรี นักศึกษาวิชาช่างแทงหยวกจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) และตัวแทนช่างฝีมือจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานจากสถาบันวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้ง 4 ภูมิภาค ได้มีโอกาสเข้าร่วมถวายงานในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นการรวบรวมบรรดาช่างฝีมืองานช่างวิจิตรศิลป์ มารวมกัน เพื่อแสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ
สำหรับการดำเนินงานการประดับตกแต่งพระจิตกาธานชั้นเรือนยอด 9 ชั้นนั้น ได้ยึดตามแบบของเก่าที่ระบุไว้เมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 8 คือหลังคาชั้นเรือนยอด จะประดับด้วยงานเครื่องสด อันได้แก่ช่างแทงหยวกงานแกะสลักของอ่อน และงานช่างดอกไม้ประดิษฐ์ ถือได้ว่าเป็นรูปแบบงานช่างเครื่องสดราชสำนักอย่างเต็มรูปแบบตามโบราณราชประเพณี โดยรูปแบบการตกแต่งของหลังคาเรือนยอดประกอบด้วย การร้อยดอกไม้สดเป็นตาข่ายทุกชั้น ขอบปิดประดับด้วยลวดลายแทงหยวกที่เรียกว่า "หยวกรัดเกล้า" สาบลายช่องกระจกด้วยกระดาษทองอังกฤษ ประดับด้วยลายดอกประจำยามที่ทำจากเปลือกมะละกอดิบ ซ้อนชั้นเป็นดอกดวง ที่มุมชั้นของเรือนยอดแต่ละชั้นจะประดับด้วย กระจังทิศ กระจังเจิม ประดิษฐ์จากกาบกล้วยตานี สาบกระดาษทองอังกฤษ ด้านบนจะปักประดับด้วย ดอกไม้ไหวที่ประดิษฐ์เป็น “ดอกปาริชาต” ปักประดับเว้นระยะห่างกัน ซึ่งดอกปาริชาตนั้นเป็นดอกไม้ที่สามารถส่งกลิ่นหอมได้ไกลถึง 5,000 โยชน์ โดยทำจากกลีบกล้วยไม้สีเหลืองจำปาเย็บแบบและการกรองกลีบดอกบานไม่รู้โรย สีม่วง เกสรประดิษฐ์จากเมล็ดธัญพืช โดยเกสรชั้นในสุดนั้นถือว่ามีความพิเศษมากเพราะใช้พลอยรัตน์หายากจำนวน8 สี จากจังหวัดจันทบุรีมาทำ และตรงกลางเกสรก็ได้นำเพชรมูลค่า 2 สลึงมาประดับตรงกลาง
ทั้งนี้ ในวันที่ 17 ตุลาคม เวลา 09.14 น.จะมีพิธีตัดกล้วยตานี จำนวน 55 ต้น พร้อมเครื่องขมารุกขเทวดา ที่สวนกล้วยตานี อ.เขาสอยดาว จ.จันทบุรี และในเวลา 15.00 น.จะทำการขนต้นกล้วยตานีเข้ามาพักไว้ในเขตพระบรมมหาราช ส่วนในวันที่ 19 ตุลาคม เวลา 09.14 น.จะมีพิธีสังเวยบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ไหว้ครูช่างเครื่องสดในราชสำนัก) ณ ลานหน้าอาคารโรงโขน โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และวันที่ 24 ตุลาคม ช่างคณะทำงานจะต้องดำเนินงานแทงหยวกและเตรียมงานเครื่องสดเพื่อนำขึ้นติดตั้งประกอบบนพระจิตกาธานที่พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ให้แล้วเสร็จภภายในวันที่ 25 ตุลาคม ก่อนเวลา 16.00 น. อันเป็นวันบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
กำลังโหลดความคิดเห็น