xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองไม่รับคดี"วัฒนา เมืองสุข"ฟ้องคสช.ห้ามไปต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จากกรณีนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วนนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ฐานะผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ถูกฟ้อง เรื่องกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีที่มีการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 21/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ห้ามบุคคลที่มีชื่อ 155 ราย เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาต ซึ่งนายวัฒนา ผู้ฟ้อง เป็น 1 ใน 155 รายชื่อดังกล่าวด้วย

โดยคำฟ้องระบุว่า ประกาศดังกล่าว เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากประกาศ คสช. ห้ามบุคคล มีชื่อ 155 ราย เดินทางออกนอกราชอาณาจักร มีผลบังคับทางบริหารจึงถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งสภาพของประกาศใช้บังคับกับบุคคลที่ระบุไว้โดยเฉพาะเจาะจง 155 ราย ด้วยเหตุผลทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ผู้ถูกฟ้อง ไม่ได้เป็นการใช้บังคับกับประชาชนเป็นการทั่วไป และการระบุชื่อก็เกิดจากดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องเพียงฝ่ายเดียวโดยคำนึงถึงผลทางการเมืองเช่นเดียวกัน โดยไม่มีหลักเกณฑ์ใดให้ยึดถือปฏิบัติ

รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของนายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีขอให้เพิกถอนประกาศคสช. ฉบับที่ 21/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 57 เรื่องห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เนื่องจากนายวัฒนาเป็นบุคคลมีชื่อในประกาศดังกล่าวด้วย โดยในคำสั่งของศาลปกครองกลาง ระบุว่า เนื่องจากได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 โดยมาตรา 47 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า บรรดาประกาศและคำสั่งของคสช. หรือคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ 22 พ.ค. 57 จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ประกาศหรือคำสั่งตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด และให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกกว่าจะมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก

ดังนั้นบทบัญญัติดังกล่าวจึงมีผลให้ศาลปกครองไม่อาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ หรือคำสั่งของคสช. หรือคำสั่งของหัวหน้าคสช.ตลอดจนการกระทำที่เป็นการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวได้ ซึ่งประกาศ คสช. ฉบับที่ 21/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 57 ที่ห้ามบุคคลจำนวน 155 คน รวมถึงนายวัฒนา เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาต เป็นประกาศที่ได้ประกาศระหว่างวันที่ 22 พ.ค. 57 จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) 2557 ถือเป็นประกาศที่มีผลบังคับในทางบริหาร และการที่หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้นายวัฒนาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปประเทศสิงค์โปร์ในวันที่ 17ก.ค. 58 ก็เป็นการปฏิบัติตามประกาศฉบับดังกล่าว จึงเป็นประกาศและเป็นการปฏิบัติตามประกาศที่มาตรา 47 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 57 บัญญัติให้เป็นประกาศและการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญให้เป็นที่สุด ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ภายหลังรับทราบคำสั่งศาลแล้ว นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความของนายวัฒนา กล่าวว่า จะรายงานผลคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครอกลางให้นายวัฒนาทราบ และจะไม่หยุดคดีเพียงเท่านี้ เพราะเห็นว่ายังมีข้อกฎหมายและหลักเสรีภาพที่ประกาศ คสช. ยังขัดอยู่ ดังนั้นจะหารือกับนายวัฒนา เพื่อเตรียมจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องนี้ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป ซึ่งจะมีเวลา 30 วันตามกฎหมาย แต่หากดำเนินการยื่นคำอุทธรณ์ไม่ทันภายในกรอบเวลาดังกล่าวก็จะยื่นขอขยายเวลาอุทธรณ์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น