xs
xsm
sm
md
lg

'ครูเล็ก'ภัทราวดี มีชูธน-สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ ศิลปินแห่งชาติ57

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วันนี้(19 ม.ค.) ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(กวช.) โดยมีวาระการพิจารณารายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2557 ซึ่งในการพิจารณาครั้งนี้ ได้มีการปรับเกณฑ์การพิจารณาจากเดิมที่คณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ จะนำเสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาตามกระบวนการมาแล้ว เพื่อให้คณะกรรมการ กวช.พิจารณาเห็นชอบ แต่ในครั้งนี้ได้มีการนำเสนอรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาในแต่ละสาขาเรียงตามลำดับ พร้อมแนบรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกสำรองมาให้ กวช.ร่วมพิจารณาด้วย โดยที่ประชุมได้ใช้เวลาในการพิจารณานานกว่า 3 ชั่วโมง

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม แถลงภายหลังการประชุม กวช. ว่า กวช.ได้พิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี 2557 โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ผลงาน ตลอดจน ความเหมาะสมทุกประการ โดยมีผู้สมควรที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ 3 สาขา จำนวน 12 คน ดังนี้ 1.สาขาทัศนศิลป์ มีการเสนอรายชื่อ 94 คนผ่านการเห็นชอบ 5 คน ได้แก่ นายชวลิต เสริมปรุงสุข (จิตรกรรม) นายนิจ หิญชีระนันทน์ (การออกแบบผังเมือง) นายปัญญา วิจินธนสาร (จิตรกรรม) นายจรูญ อังศวานนท์ (สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์)และ นายบุญช่วย หิรัญวิทย์ (ประณีตศิลป์) 2. สาขาวรรณศิลป์ มีการเสนอรายชื่อ 90 คน ผ่านการเห็นชอบ 1 คนได้แก่ นางชมัยภร บางคมบาง(แสงกระจ่าง) และ 3.สาขาศิลปะการแสดง มีการเสนอรายชื่อ 129 คน ผ่านการเห็นชอบ 6 คนได้แก่ นายสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ (โทรทัศน์และภาพยนตร์)นางดุษฎี บุญทัศนกุล (ดนตรีสากล) นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ (ดนตรีไทย) นางภัทราวดี มีชูธน (ละครเวทีและภาพยนตร์) นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา (ดนตรีไทยลูกทุ่ง-ประพันธ์เพลง)และ นายณรงค์ จันทร์พุ่ม (หนังตะลุง)

รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ศิลปินแห่งชาติ ทั้ง 12 คน จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันศิลปินแห่งชาติวันที่ 24 ก.พ.นี้ พร้อมทั้งจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ และการจัดกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติดำเนินการมา ตั้งแต่ ปี 2528 ถึง 2556 รวมมีศิลปินแห่งชาติจำนวน 246 คน เสียชีวิตไปแล้ว 110 คน และ มีชีวิตอยู่ 136 คน

นายปัญญา วิจินธนสาร กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติรางวัลนี้ ถือเป็นเกียรติยศขั้นสูงของชีวิตการทำงานศิลปะ ตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ตนมุ่งหวังสร้างประโยชน์แก่สังคม และพร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการช่วยทำประโยชน์ให้วงการศิลปะให้ขยายในวงกว้างให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงการศิลปะในประเทศไทยยังมีน้อย จึงอยากเสนอให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม วธ. ช่วยผลักดันส่งเสริมให้หลักสูตรวิชาศิลปะเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษามากขึ้น รวมทั้งขอให้มีการส่งเสริมการจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้จากศิลปินแห่งชาติ และผู้มีความรู้ด้านศิลปะสู่เยาวชน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและเห็นคุณค่าของงานศิลปะนำไปสู่การพัฒนาสังคม

นายสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ กล่าวว่า ตนทำงานในวงการโทรทัศน์ไทยมากว่า 60 ปีในฐานะนักแสดง ผู้เขียนบทโทรทัศน์ ผู้กำกับการแสดง ดีใจที่มีผู้เห็นคุณค่า เพราะทำงานด้วยความตั้งใจมาตลอด ในฐานะศิลปินแห่งชาติคนใหม่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เป็นวิทยาทาน เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน ทั้งนี้ตนมีแนวคิดจะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านศิลปะการแสดงเทคนิคการเขียนบทโทรทัศน์ ขอฝากให้คนในวงการโทรทัศน์ดำรงเจตจำนงที่ดีนำเสนอรายการต่าง ๆ ด้วยความรับผิดชอบมีสาระ ไม่ใช่หวังแต่เรตติ้ง ซึ่งปัจจุบันมีแต่รายการบันเทิงละครน้ำเน่า และให้ความสำคัญกับเด็กเยาวชนน้อยมาก

นางชมัยภร บางคมบาง(แสงกระจ่าง) กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ โดยที่ผ่านมาตนตั้งใจนำเสนอผลงานเขียนที่ให้แง่คิดเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเด็กเยาวชน และครอบครัวเชื่อว่า เมื่อได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ก็จะสามารถทำงานดังกล่าวและขยายไปสู่สาธารณชนได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนั้นสิ่งที่ทำมาตลอดคือเขียนนิยายที่ช่วยแก้ปัญหาและทำความเข้าใจกับความคิด เพื่อเป็นแง่คิดและข้อเตือนใจให้แก่ผู้อ่าน สิ่งที่อยากฝากกับเด็กเยาวชน และคนทั่วไปคือการเขียนทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น คนที่รักการเขียนไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นนักเขียนเสมอไป แต่อีกนัยหนึ่งเป็นการทำความเข้าใจให้รู้จักตัวเองและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ด้วยดี

นางดุษฎี บุญทัศนกุล กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณบิดามารดาครูอาจารย์ มิตรสหายทุกคนขอบคุณลูกศิษย์ ขอบคุณคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ทั้งหมดนี้เป็นกำลังใจผลักดันให้ตนทำงานศิลปะเพื่อรับใช้สังคม และส่วนรวม ตนทำงานมาตลอดจนอายุใกล้จะ 80 ปี ยังไม่เคยหยุดนิ่งมีทั้งการสร้างสรรค์ศิลปะดนตรีเพื่อให้สามารถปักธงชาติไทยในเวทีการแสดงระดับโลก ซึ่งปีนี้ประสบความสำเร็จและได้รับมา 2 เหรียญทอง สอนลูกศิษย์มา 40 กว่าปี จนสามารถพัฒนาผลงานมีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงได้มีโอกาสทำงานดนตรีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นความภาคภูมิใจได้ทำในสิ่งที่อยากทำ บิดามารดาของตนเองสอนมาตลอดว่า เราต้องรับใช้ชาติและราษฎรไทยอย่างซื่อสัตย์สุจริต ตนเป็นคนดนตรีก็จะใช้วิชาที่มีรับใช้ส่วนร่วมและจะทำไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

สำหรับประวัติศิลปินแห่งชาติประจำปี 2557 สาขาทัศนศิลป์ประกอบด้วย 1.นายจรูญ อังศวานนท์ อายุ 78 ปี เป็นชาวกรุงเทพฯ จบปริญญาตรีศิลปะบัณฑิต จากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาการออกแบบตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากร(มศก.) โดยเป็นนักตกแต่งภายในชั้นนำของประเทศที่ได้รับสร้างสรรค์ผลงานเป็นอันดับต้นของไทย และเป็นบรมครูของวงการออกแบบตกแต่งภายในของประเทศ

2.นายชวลิต เสริมปรุงสุข อายุ 75 ปี เป็นชาวจังหวัดขอนแก่น จบปริญญาตรีคณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มศก. เป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ โดยได้รับเงินเดือนในตำแหน่งศาสตราจารย์ เพื่อเป็นศิลปินอิสระสร้างศิลปะตามที่ใจรัก

3.นายนิจ หิญชีระนันทน์ อายุ 90 ปี เป็นชาวกรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการวางแผนภาค และผังเมืองจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา เข้ารับราชการสำนักผังเมืองกระทรวงมหาดไทย (มท.) ตำแหน่งสูงสุด คือ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง ระหว่างปฏิบัติราชการได้สร้างผลงานที่ทรงคุณค่าหลายชิ้นอาทิ เป็นผู้ค้นพบเมืองโบราณ“จันเสน” เมืองโบราณสมัยทวารวดีในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ส่งเสริม แนะนำโครงการจนเกิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ และโครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

4.นายบุญช่วย หิรัญวิทย์ อายุ 81 ปี เป็นชาวจังหวัดน่าน จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 3 ปัจจุบัน คือ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคาร ได้ฝึกหัดทำเครื่องเงิน และสามารถคิดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จนเป็นที่ยอมรับแพร่หลายในต่อ ๆ มา คือ ลายดอกกระถิน และยังได้พัฒนารูปแบบเครื่องเงินในอีกหลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังเป็นครูถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนตลอดเวลาได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง

5.นายปัญญา วิจินธนสาร อายุ 58 ปี เป็นชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จบการศึกษาปริญญาศิลปะบัณฑิต(ศิลปไทย) ที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มศก. เป็นศิลปินที่สร้างศิลปะในแนวศิลปะไทยร่วมสมัย มีผลงานโดดเด่นทำให้สามารถถวายงานรับใช้ในการเขียนภาพประกอบในหนังสือพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และล่าสุดเป็นผู้ถวายงานรับใช้ในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ในโครงการพระราชดำริ คือ การบูรณะวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในมศก.และมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ส่วนสาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นางชมัยภร บางคมบาง(แสงกระจ่าง) อายุ 64 ปี ชาวจังหวัดจันทบุรี จบปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยรับราชการที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีผลงานเขียนบทกวี เรื่องสั้นและบทวิจารณ์ตั้งแต่เป็นนิสิต ต่อมาได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมอย่างจริงจัง จนเป็นนักเขียนอาชีพ ผลงานวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดีและสารคดี ได้แก่ เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ ตลอดช่วงระยะเวลา 4 ทศวรรษ มีผลงานมากกว่า 80 เรื่องในจำนวนนี้ ได้รับรางวัลระดับชาติ 22 เรื่อง โดยหลายเรื่องถูกสร้างเป็นบทละครโทรทัศน์และวรรณกรรมเยาวชน ได้รับการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาและหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับระดับมัธยมศึกษา สำหรับงานเขียนของนางชมัยภรจะนำเสนประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับครอบครัวและสังคม เช่น ปัญหาความไม่เข้าใจกันของวัยรุ่นกับพ่อแม่ ปัญหาความพิการทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนปัญหาบ้านเมือง เป็นต้นส่งผลให้งานเขียนของนางชมัยภรเป็นแรงบัลดาลใจให้กับนักเขียนรุ่นหลัง

สำหรับสาขาศิลปะการแสดงประกอบด้วย 1. นายณรงค์ จันทร์พุ่ม อายุ 67 ปี ชาวจังหวัดตรัง จบการศึกษาวิชาเอกภูมิศาสตร์ วิชาโทประวัติศาสตร์ วิทยาลัยการศึกษาบางแสน(มหาวิทยาลัยบูรพา) เริ่มรับราชการที่ร.ร.ลาดปลาเค้าพิทยาคม ก่อนย้ายมมาจังหวัดตรัง เพื่อ สังกัด ร.ร.วิเชียรมาตุ และร.ร.กันตังรัษฎาศึกษา ตามลำดับ จึงลาออกจากราชการ นายณรงค์รักและชื่นชอบการแสดงหลังตะลุงตั้งแต่ยังเด็ก โดยขณะที่สอนอยู่ในร.ร.วิเชียรมาตุได้สอนรายวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นหลังตะลุงอย่างจริงจัง เมื่อออกจากราชการแล้วได้ตั้งคณะชื่อว่า"คณะหนังอาจารย์ณรงค์ตะลุงบัณฑิต" มีความโดดเด่นตรงการพัฒนาเทคนิคการแสดงตลอดเวลาทดลองสร้างตัวหนังตะลุงให้ทันสมัย โดยไม่เสียเอกลักษณ์ผนวกกับดนตรีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับของเดิมที่สำคัญ คือ มีบทเจรจาที่หลักแหลมคมคายสะท้อนความรู้สึกนึกคิดอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่บทตลกก็ไม่หยาบคายแต่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้อย่างครึกครื้นจนได้รับการยกย่องอย่างแพร่หลาย

2.นางดุษฎี บุญทัศนกุล อายุ 75 ปี เป็นชาวกรุงเทพฯ บิดาชื่อ นายปรีดี พนมยงค์ มารดา ชื่อท่านผู้หญิงพูนศุข สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วิชาเอกขับร้อง วิชาโทเปียโน จากสถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเรียนขับร้องเพิ่มเติมที่ราชวิทยาลัยดนตรีกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นนักร้องที่มีความสามารถสูงได้สร้างสรรค์ผลงานการขับร้อง เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนในประเทศและต่างประเทศมายาวนานถึง 50 ปี มีผลงานการประพันธ์หนังสือมากมาย โดยเฉพาะการแนะนำความรู้และแรงบันดาลใจจากการร้องเพลง ซึ่งภารกิจสำคัญ คือ ได้สร้างหลักสูตรการใช้ดนตรีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้โครงการลมหายใจดนตรี เพื่อชีวิตรวมถึงอุทิศตนเพื่อเป็นวิทยากรอบรมความรู้ให้แก่ภาครัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ

3.นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา อายุ 78 ปี เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอุบลวิทยากรอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นนักพากย์ภาพยนตร์เขียนบทละครวิทยุ สร้างภาพยนตร์กำกับภาพยนตร์ และเขียนบทภาพยนตร์ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากมาย เช่น เพลงมนต์รักลำน้ำพองกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ มนต์รักแม่น้ำมูล ลูกทุ่งเพลงสวรรค์

4.นางภัทราวดี มีชูธน อายุ 66 ปี จบมัธยมปลายจากโรงเรียนราชินีและโรงเรียน Micklefield ประเทศอังกฤษ เป็นศิลปินที่เปี่ยมไปด้วยพลังการสร้างสรรค์มีความเป็นครูผู้ให้ และสนใจเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา มีผลงานที่เผยแพร่แก่สาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก เช่น ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลพระราชทานตุ๊กตาทองรางวัลดารานำแสดงฝ่ายหญิง

5.นายสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ อายุ 82 ปี เป็นชาวกรุงเทพฯได้รับทุนไปศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยนิฮง กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จนจบการศึกษาระดับปริญญาโทเป็นพนักงานรุ่นบุกเบิกของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทยเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการโทรทัศน์มีหน้าที่ทำทุกอย่างตั้งแต่จัดรายการวิทยุกำกับเวที เขียนบท แปลภาพยนตร์ภาษาญี่ปุ่น แสดงละคร สอนเทคนิคการแสดงต่าง ๆ ให้แก่นักแสดงในยุคนั้น ได้รับรางวัลเกียรติยศของวงการบันเทิงจำนวนมาก เช่น รางวัลทีวีตุ๊กตาทองมหาชน รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ รางวัลโทรทัศน์ทองคำ เป็นต้น

6.นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อายุ 71 ปี ชาวจังหวัดกทม.ได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูงจากวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากรมานุษยวิทยาดนตรี Esat-WestCenter มหาวิทยาลัยฮษวายสหรัฐอเมริกา ครุศาสตรบัณฑิต(ภาษาไทย)มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารหารศึกษา)และครถศาสตรดุษฎีบัณฑิต(พัฒนาศึกษา) คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเรียนขิมกับบิดาพอเข้าวิทยาลัยนาฏศิลปเริ่มเรียนพื้นฐานฆ้องวงใหญ่กับหลวงบำรุงจิตรเจริญ(ธูปสาตนวิลัย) พระประณีตวรศัพท์(เขียนวรวาทิน) และครูดนตรีไทยท่านอื่น ๆ ได้รับกาถ่ายทอดเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงถึงเพลงองค์พระพิราพ ตลอดจนได้รับการสืบทอดเป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทยจากนายมนตรีตาโมทย์ เริ่มรับราชการครูแผนก ร.ร.นาฏศิลปและเกษียณอายุราชการใสนตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นายสิริชัยชาญถือเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานมาโดยตลอดทั้งการออกแบบ ซึงให้มี 3 ขนาดร่วมกับเจ้าสุนทรณ เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2528 จนถึงปัจจุบันโดยถวายการสอนระนาดเอก
กำลังโหลดความคิดเห็น