xs
xsm
sm
md
lg

'รสนา' FB : "ปตท. VS ความเป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสว.กทม.โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ปตท. VS ความเป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม"

ปตท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ใช้งบประมาณในการโฆษณามากที่สุด มิหนำซ้ำยังสูงกว่าบางบริษัทธุรกิจเอกชน ดังในปี2555( ต.ค 54 -ก.ย 55 ) ปตท.ใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ถึง 1,019.3ล้านบาท

งบโฆษณาส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-Corperate Social Responsibility) ในที่นี้จะขอพูดถึงเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ของปตท.ด้านสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่คุกคามต่อการอยู่รอดของระบบชีวิตทั้งโลก เช่น กิจกรรมโครงการปลูกป่าถาวร 1 ล้านไร่ของปตท. ซึ่งเป็นกิจกรรมนำร่องที่เป็นแบบอย่างของการแก้ปัญหาโลกร้อนและแก้ปัญหาความแห้งแล้ง คาดกันว่าหากต้นไม้ปลูกได้โตเต็มที่จนครบ 1 ล้านไร่ก็จะสามารถลดก๊าซ CO2 หรือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อนได้ถึง 2 แสนต้นต่อปี

แต่ในอีกด้านหนึ่งธุรกิจจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ (NGV) สำหรับยานยนต์ของปตท. กลับเป็นต้นตอของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศถึงปีละ 750,000 ตัน ถ้าปริมาณก๊าซที่สร้างมลภาวะในอากาศดังกล่าวมาจากเนื้อก๊าซธรรมชาติที่ขุดขึ้นมาจากใต้ดินก็ไม่สู้กระไรนัก แต่ข้อเท็จจริงก็คือก๊าซขยะจำนวนมากเหล่านั้นมาจากนโยบายของรัฐเอง กล่าวคือมาจากการเติมบรรจุเข้าไปตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน พ.ศ.2552 นั้นเอง

ในที่นี้ขอยกข้อความบางตอนใน “บทสรุปผู้บริหาร" จาก "รายงานการพิจารณาศึกษา โครงการแนวทางการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในก๊าซธรรมชาติ (NGV)" ของคณะอนุกรรมาธิการเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ซึ่งมีพล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง เป็นประธาน และพล.อ.รัชกฤต กาญจนวัฒน์ เป็นรองประธาน) ในคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา พ.ศ.2555 ดังนี้

“การเติมค่าคาร์บอนไดออกไซด์ลงในแก๊ส NGV ถึง 18% ขณะที่มาตรฐานสากลกำหนดไว้เพียง 3% จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หน่วยงานด้านพลังงานของไทยเร่งทำการศึกษาและพัฒนาคุณภาพก๊าซธรรมชาติหรือ NGV และรณรงค์ใช้เป็นพลังงานทางเลือกเพื่อร่วมกันลดมลภาวะในอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ซึ่งในขณะนี้มีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 3 แสนคัน แต่ก๊าซ NGV ที่บริษัทปตท.นำมาจำหน่ายนั้นจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่ถึง 18%... ด้วยเหตุผลเรื่องคุณภาพก๊าซและความเหมาะสมต่อเครื่องยนต์ ซึ่งการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในก๊าซ NGV นั้นเป็นไปตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติสำหรับเครื่องยนต์ พ.ศ.2552

โดยผลจากการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปทำให้รถยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศปีละ 750,000 ตันทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและเรียกร้องให้บริษัทปตท.ปรับลดการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือเพียง 3% ตามมาตรฐานสากล” นอกจากนี้ใน"บทสรุปผู้บริหาร" ฉบับนี้ยังกล่าวอีกว่า

“จากกรณีดังกล่าวคณะอนุกรรมาธิการเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเป็นห่วงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพของประชาชนและต่อสภาพแวดล้อม รวมถึงการที่บริษัทปตท.นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผสมในก๊าซ NGV จำนวนสูงถึง 18% นั้น คณะอนุ
กรรมาธิการฯ เห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากบริษัทปตท.คิดราคาก๊าซในจำนวนเนื้อก๊าซ 100% ทั้งที่จริงแล้วมีเนื้อก๊าซจริงเพียง 82% เท่านั้น"

ขอทิ้งท้ายฝากรัฐบาล กระทรวงพลังงาน บอร์ดปตท. รวมทั้งผู้บริโภคก๊าซ NGV และประชาชนผู้ห่วงใยสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ด้วย “ข้อพิจารณา” พร้อมทั้ง “ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ”ของคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้

“6. ข้อพิจารณา

6.1 ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ที่มีในประเทศปัจจุบันมาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือจากอ่าวไทยและจากพม่า ซึ่งมีคุณภาพค่อนข้างดีอยู่แล้วโดยมีค่าความร้อน (Wobbe index) อยู่ประมาณ 37-41 MJ/m3 และมี CO2 อยู่แล้วประมาณ 12 และ 6% ส่วนแหล่งที่มี CO2 มากเกือบ 20% นั้นมีปริมาณก๊าซธรรมชาติน้อยมากและเลิกผลิตก๊าซแล้ว สำหรับก๊าซธรรมชาติจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น คุณภาพดีมากเช่นกัน ผู้ผลิต (ปตท.) จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องแยก CO2 ออกไปก่อน เพื่อให้ความร้อน Wobbe สูงขึ้นแล้วต้องเติม CO2 กลับเข้าไปมากกว่าเดิมเสียอีก เพื่อลดความร้อน ประกอบกับปริมาณก๊าซ NGV ที่ใช้กับรถยนต์นั้นไม่มาก มีเพียง 4% ของปริมาณก๊าซที่ใช้ในไทยทั้งหมด จึงไม่น่ามีปัญหาต่อการบริหารจัดการก๊าซ

6.2 ควรติดตั้ง ECU เครื่องปรับจูนก๊าซอัตโนมัติในรถยนต์ให้สามารถใช้ก๊าซที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันได้

6.3 การเติมก๊าซที่ไม่มีประโยชน์ต่อการเผาไหม้ เช่น CO2 (เสมือนก๊าซเสีย) เพิ่มเข้าไปอีก เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค (ประชาชน) เพราะได้เนื้อก๊าซจริง ๆ เพียง 82% เท่านั้น

6.4 ผู้ผลิต (ปตท.) เคยแจ้งในที่ประชุมผู้เกี่ยวข้องว่าจะทำการแก้ไขเรื่อง CO2 ให้เหลือน้อยลงตั้งแต่ปี 2553 แต่ปัจจุบันยังมิได้ลดการเติม CO2 ให้เหลือน้อยลงแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีการแข่งขัน โดยรัฐให้ปตท.ผูกขาดแต่ผู้เดียว ประกอบกับข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงานก็ไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับนโยบายในปตท.อีกด้วย จึงอาจกำหนดนโยบายจากภาครัฐให้เอื้อประโยชน์ต่อปตท.

6.5 ประชาชนที่อยู่บริเวณถนน รวมทั้งผู้ขับขี่จักรยานยนต์ด้วย ได้รับก๊าซเสีย (CO2) ที่ถูกปล่อยออกสู่ท้องถนน ทำให้เกิดภูมิแพ้และโรคระบบทางเดินหายใจและอาจนำไปส่โรคมะเร็งได้ในที่สุด

6.6 CO2 จาก NGV ที่ออกจากท่อไอเสียรถยนต์ออกสู่บรรยากาศ ปีละประมาณกว่า 700,000 ตัน ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอันนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน

6.7 CO2 ที่เพิ่มใน NGV ถึง 18% จะมีปัญหาระยะยาวที่ CO2 ไปรวมตัวกับไอน้ำในถังทำให้เกิดกรด ซึ่งจะกัดกร่อนถังเหล็กให้ผุ และไม่สามารถรับแรงดันที่สูงถึง 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้วได้ ทำให้ถังเกิดระเบิด ฉะนั้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะมีลูกระเบิดในรถยนต์อยู่บนท้องถนนเป็นแสนๆ ลูก (ปัจจุบันรถใช้ NGV ประมาณเกือบ 300,000 คัน)

6.8 เนื่องจากต้องการส่งเสริมให้รถยนต์มีการใช้ NGV มาก ๆ จึงลดคุณภาพถังก๊าซ NGV ลง เพื่อให้ราคาถูก โดยถังที่ใช้ในไทยมีการติดตั้ง Solenoid Valve ซึ่งทำหน้าที่ตัดก๊าซเมื่อรถยนต์เกิดอุบัติเหตุทำให้รถเกิดไฟไหม้ได้ (Solenoid Valve มีราคาประมาณ 20,000 บาท)

7. ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

7.1 ภาครัฐควรมีการบริหารจัดการทางด้านคุณภาพของก๊่าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ใหม่ โดยให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานยกเลิกประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ พ.ศ.2552 และให้กรมธุรกิจพลังงานออกประกาศใหม่โดยกำหนดให้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์จะต้องมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่ไม่ถึง 3% โดยปริมาตร ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล เนื่องจากก๊าซ NGV ที่ใช้ในภาคขนส่งมีเพียง 4% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด

7.2 กรมการขนส่งทางบกควรต้องกำหนดให้รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกคันต้องติดตั้งกล่อง ECU เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เพื่อให้สามารถปรับจูนก๊าซได้โดยอัตโนมัติหากคุณภาพของก๊าซธรรมชาติที่เติมเข้าไปมีความแตกต่างกัน เพื่อป้องกันความเสียหายของเครื่องยนต์ และกำหนดให้รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทุกคันต้องติดตั้ง Solenoid Valve ที่ถังก๊าซเพื่อเป็นมาตราฐานความปลอดภัย

7.3 กรมการขนส่งทางบกต้องมีการตรวจสอบถังบรรจุก๊าซ NGV อย่างใกล้ชิดทั้งก่อนและหลังการติดตั้งและควรมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกๆปี โดยวิธีการตรวจสอบในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกยังไม่มีห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ สำหรับใช้ทดสอบคุณภาพของถังบรรจุก๊าซ จึงใช้วิธีตรวจสอบถังบรรจุก๊าซด้วยสายตา

7.4 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมธุรกิจพลังงาน และกระทรวงพลังงาน ควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและความรู้เรื่องเกี่ยวกับก๊าซ NGV แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

7.5 ควรมีการทบทวนกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่กำหนดให้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างๆ ไม่เฉพาะกระทรวงพลังงานเท่านั้น ในการไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจ และบริษัทต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลกำไร ซึ่งเข้าข่ายผลประโยนช์ทับซ้อน

7.6 คณะอนุกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกต คือ จากการชี้แจงของผู้แทนจาก บมจ.ปตท. ที่ได้ชี้แจงว่า การที่ปตท.ไม่สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในก๊าซธรรมชาติ (NGV) ได้นั้น เนื่องจากการก่อสร้างโรงแยกก๊าซโรงที่ 6 ยังไม่เสร็จสิ้น แต่ ณ ปัจจุบันโรงแยกก๊าซโรงที่ 6 ของปตท.ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้น และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 แล้ว แต่ปตท.ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ในการที่จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เติมเข้าไปในก๊าซธรรมชาติ (NGV) แต่อย่างใด โดยอ้างว่าขอศึกษาไปอีกระยะหนึ่งก่อน ทั้งๆที่มีขีดความสามารถที่จะดำเนินการได้

7.7 เห็นสมควรเสนอให้คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ นำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อขอหารือ และตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการเร่งรัดการลด CO2 ให้เหลือ 3% ตามมาตรฐานสากล รวมถึงการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่ควรมี ของรถยนต์ที่ติดตั้งระบบก๊าซ NGV "

ปตท.อุตส่าห์ลงทุนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นเกรดยูโร 4 เพื่อสุขภาพของประชาชนคนไทยและชาวอาเซียน ทั้งยังได้ผลพลอยได้ในการกีดกันการนำเข้าน้ำมันจากประเทศอื่น เข้ามาแข่งขันในตลาดน้ำมันไทย เพราะประเทศในอาเซียนใช้น้ำมันยูโร 2 -3 แต่ก๊าซ NGV ในยานยนต์ของปตท. กลับต่ำกว่ามาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์ของใคร?

ในทางพุทธศาสนา เรามีหลักสำคัญที่เรียกว่าหลักศีลธรรม (ศีล+ธรรม) เพื่อเป็นหลักการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างปกติสุข ทั้งนี้โดยภาครัฐและผู้บริหารกิจการของบ้านเมืองจะต้องกระทำการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนเสียก่อน กล่าวคือ

ศีล หมายถึง ข้อห้ามมิให้กระทำสิ่งที่ผิด เช่นในที่นี้ได้แก่การที่รัฐไม่ควรอนุญาตให้เติมก๊าซเสียลงใน NGV ยานยนต์ ซึ่งก่อมลพิษแก่สุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือถ้าเกิดระเบิดเพราะถังก๊าซสึกกร่อนเร็วจาก CO2 ที่เติมลงไป ก็จะเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงอันเป็นการผิดศีลข้อ 1 ที่ห้ามทำร้ายชีวิตและสุขภาพ นี่ยังไม่นับศีลข้อ 2 และศีลข้อ 4 ที่เป็นข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ

ธรรม หมายถึง ข้อบัญญัติให้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ในกรณีนี้ได้แก่การที่ปตท.มีโครงการให้ปลูกต้นไม้ล้านไร่ เป็นต้น

แต่พุทธศาสนาก็มีแนวทางให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ปกครองปฏิบัติ"หลักศีล"ให้ดีเสียก่อน เช่น ไม่ดำเนินนโยบายที่ผิด อันก่อความเสียหายแก่ประชาชน จากนั้นจึงเลื่อนระดับมาปฏิบัติ"หลักธรรม" เช่น ความเมตตา การให้ทาน เป็นต้น ไม่ใช่ลับหลังประพฤติฉ้อโกงแต่ต่อหน้าบริจาคเงินทำบุญถวายวัด เอาชื่อเสียงติดไว้หน้าศาลาการเปรียญ อย่างนี้เขาเรียกว่าหน้าไหว้หลังหลอก ซึ่งผู้บริหารบ้านเมืองที่มีจริยธรรมของทุกศาสนาไม่พึงกระทำโดยเด็ดขาด หรือเมื่อกระทำผิดพลาดไปแล้วโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ควรปรับปรุงแก้ไข และหันมาดำเนินนโยบายที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มิใช่สร้างวาทกรรมอำพรางผลประโยชน์ทับซ้อนยอกย้อนซ่อนเงื่อนไปเรื่อย ๆ โดยปราศจากจิตสำนึกแห่งหิริโอตตัปปะ ซึ่งก็คือความสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดีนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น