xs
xsm
sm
md
lg

ชวนเที่ยว“เหอหนาน”เปิดประสบการณ์ในแดนประวัติศาสตร์นับพันปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มณฑลเหอหนาน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์นับพันปี
การท่องเที่ยวมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ชวนนักท่องเที่ยวไทย เปิดประสบการณ์ เดินทางสู่มณฑลเหอหนาน แหล่งประวัติศาสตร์จีนนับพันปี ด้วยการบรรจงคัดสรรสถานที่ท่องเที่ยวพิเศษที่พลาดไม่ได้ ในมณฑลเหอหนานมานำเสนอให้กับนักท่องเที่ยวไทย

โดยได้มีการออกประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวมณฑลเหอหนาน ใน 4 จุดแลนมาร์คสำคัญของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง),ไชน่าทาวน์ ถนนเยาวราช, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เพื่อเชิญชวนคนไทยเดินทางสู่ เหอหนาน - จุดกำเนิดประวัติศาสตร์จีนนับพันปี

กิจกรรมในครั้งนี้ ได้นำการแสดงชุดพิเศษบินตรงมาจากมณฑลเหอหนามาให้คนไทยได้ชื่นชน นั้นคือ การแสดงเส้าหลินกังฟู สุดยอดศิลปะป้องกันตัวชื่อเสียงโด่งดังจากจีนให้ได้ตื่นตาตื่นใจ เรียกเสียงตบมือจากผู้ชมได้จำนวนมาก
การท่องเที่ยวมณฑลเหอหนาน  นำกังฟูวัดเส้าหลิน มาโปรโมทการท่องเที่ยวใน 4 จุดแลนด์มาร์คของเมืองกรุง
สำหรับมณฑลเหอหนาน (Henan) เป็นมณฑลหนึ่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน นับว่าเป็นดินแดนเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์จีนนับพันปีและเปี่ยมไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า โดยมีเมืองโบราณ 4 ใน 8 เมืองโบราณของประเทศจีนอยู่ในมณฑลเหอหนานนี้ ประกอบด้วย เมืองเจิ้งโจว (Zhengzhou), เมืองอันหยาง (Anyang), เมืองลั่วหยาง (Luoyang) และเมืองไคฟง (Kaifeng)

สำหรับแลนด์มาร์คสำคัญของ 4 เมืองโบราณแห่งเหอหนานที่นักท่องเที่ยวไทยไม่ควรพลาด มาเริ่มกันด้วย เมืองเจิ้งโจว เมืองหลวงของเหอหนานเป็นเมืองที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด และเป็นเมืองที่ถูกเรียกว่า พิพิธภัณฑ์แห่งเจิ้งโจว ศูนย์รวมของโบราณกว่า 130,000 ชิ้น และเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมจีนที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่าสามพันปี

เมืองอันหยาง มีสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ที่มีอายุยาวนานที่สุดของจีน คือ อินซวี (The Yin Ruins at Anyang) ถูกค้นพบในปี 1899 จนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกขององค์การ UNESCO นับว่าเป็นเมืองแห่งอารยธรรมจีนโบราณที่สำคัญอีกหนึ่งแห่ง โดยมีการค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญ
คือ กระดูกคำทำนายจารึกด้วยตัวอักษรจีนโบราณที่บ่งบอกเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสถานะทางสังคมของคนในยุคนั้น
ถ้ำผาหลงเหมิน
เมืองลั่วหยาง ที่ตั้งของถ้ำผาหลงเหมิน เป็นถ้ำสลักหินขนาดใหญ่ที่สุดในจีน อายุรวมกว่า 400 ปี มีลักษณะเป็นหมู่ถ้ำเล็ก ๆ ถึง 2,345 คูหา ประติมากรรมพุทธรูปอีก 100,000 กว่าองค์ พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ พระพุทธรูปสลักผาหิน มีความสูง 17 เมตร และมีใบหูยาวกว่า 2 เมตร ได้รับรูปแบบการก่อสร้างอ้างอิงมาจาก พระพุทธเจ้าและจักรพรรคหญิงของจีนบูเช็คเทียน โดยรอยยิ้มของนาง กล่าวกันว่ามีความงามเช่นเดียวกับ Mona Lisa ซึ่งสถานที่แห่งนี้ได้รับการยกย่องจากองค์กร UNESCO ให้เป็นมรดกโลกด้วยเช่นกัน

เมืองไคฟง เป็นเมืองที่ตั้งของศาลไคฟง สถานที่พิพากษาคดีของท่านเปาบุ้นจิ้น ยอดคนคุณธรรมแดนมังกร โดยภายในศาลมีการจัดแสดงชุดเครื่องประหารของเปาบุ้นจิ้นและมีรูปปั้นท่านเปาบุ้นจิ้น หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สูง 3.8 เมตร หนัก 5.6 ตัน นับเป็นรูปปั้นที่หนักที่สุดในเมืองจีน
รูปปั้นท่านเปาบุ้นจิ้น ศาลไคฟง
ไม่เพียงเท่านี้ เหอหนานยังเป็นมณฑลที่มีทัศนีย์ภาพทางธรรมชาติอันงดงามและอุดมสมบูรณ์
อย่างภูเขา Baiyun หรือภูเขาเมฆขาว “ยอดเขาที่สวยที่สุดในประเทศจีน” ให้ความรู้สึกเดินท่ามกลางก้อนเมฆ รวมถึงการฝึกซ้อมกังฟู (Kung Fu) โดยมี Shaolin Kung Fu เป็นหนึ่งในรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดและ มีชื่อเสียงมากที่สุดของศิลปะการต่อสู้ในจีน จนมีคำพูดว่า “ศิลปะการต่อสู้ทั้งหมดเกิดจากวัดเส้าหลิน”

และอีกหนึ่งศิลปะด้านการป้องกันตัวและรักษาสุขภาพชื่อดังของจีน คือ การฝึกฝนไทชิ หรือไทเก็ก (Tai Chi) ที่ผู้คนนับพันทั่วโลกเดินทางมายัง “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของไทชิ” เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนด้านการป้องกันตัว และเพื่อประโยชน์ต่อการรักษาโรค
เยาวชนสนใจกิจกรรมโปรโมทการท่องเที่ยวของมณฑลเหอหนาน
Mr. Guo Ji Shan ผู้อำนวยการฝ่ายการท่องเที่ยวจังหวัดเหอหนาน กล่าวทิ้งท้ายว่า “เหอหนานมณฑลที่มีสถานที่ยอดเยี่ยม ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทุกสถานที่ท่องเที่ยวเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของอารยธรรมอันทรงคุณค่าของจีน พร้อมด้วยทัศนียภาพทางธรรมชาติอันงดงามและอุดมสมบูรณ์ ในฐานะตัวแทนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ขอเชิญนักท่องเที่ยวไทยมาร่วมเปิดประสบการณ์ประทับใจด้วยกันที่ มณฑลเหอหนาน จุดกำเนิดประวัติศาสตร์จีนนับพันปี”
******************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น