ปีเก่าผ่านพ้นไปปีใหม่มาเยือนเพียงเริ่มต้นปีหมูก็ดุเดือดตั้งแต่วินาทีแรกของการเปลี่ยนศักราชใหม่เลยก็ว่าได้ ด้วยเหตุการณ์ลอบวางระเบิดตามจุดต่างๆทั่วกรุงเทพฯเมื่อวันสิ้นปี เล่นเอางานเคานท์ดาวน์ต้องยกเลิกกันเป็นทิวแถว
อย่างไรก็ดีแม้เหตุการณ์จะล่วงเลยมาเป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว ชาวกรุงก็ยังไม่หายจากอาการวิตกกังวลด้วยความกลัวระเบิดอยู่ดี
ด้านเศรษฐกิจไทยก็พังพินาศยับเยินแม้จะได้รับการยืนยันจากหลายๆฝ่ายว่าจะมีผลกระทบในระยะสั้นก็ตาม งานนี้หมูเลยกลายเป็นแพะรับบาปไปทั้งฉายาปีหมูดิน หมูดุ หมูเขี้ยวตัน ก็ว่ากันไป ได้แต่หวังว่าทางการจะรีบหาตัวผู้กระทำผิดมาชำระโทษโดยเร็วเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจของประชาชนคืน
กล่าวถึงเรื่องหมูๆก็อดหวนระลึกถึงจังหวัดตรังไม่ได้ จังหวัดนี้เขามีความเกี่ยวพันกับเรื่องหมูๆอยู่ไม่น้อย "หมู"สำหรับที่อื่นจะเป็นเรื่องร้ายบ้างดีบ้างก็สุดจะหยั่ง แต่สำหรับชาวตรังแล้วเชื่อแน่ว่าเรื่องราวของหมูที่นี่ต้องเป็น "หมูทอง"แน่นอน
เพราะจังหวัดตรังเขามีของดีเลื่องชื่อเกี่ยวกับหมูอยู่ในจังหวัดหลายอย่าง โดยที่โด่งดังโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดตรังเป็นอย่างยิ่งก็ต้องยกให้ "หมูย่างเมืองตรัง" ที่มีรสชาติยอดเยี่ยมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
สลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง ได้เล่าถึงประวัติหมูย่างเมืองตรังว่า หมูย่างเมืองตรัง เป็นตำรับที่อยู่คู่กับคนตรังมานานกว่า 150 ปี ที่มาที่ไปต้องเท้าความตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เมื่อเริ่มมีคนจีนอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย ตรังเป็นจุดหนึ่งที่ชาวจีนนิยมมาอาศัย เนื่องจากเป็นเส้นทางใกล้ทะเลเส้นทางการเดินทางทางเรือก็สะดวก
"คนจีนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นจีนกวางตุ้ง ซึ่งชาวกวางตุ้งก็จะมีอาหารที่จะใช้ในช่วงเทศกาลเช่นตรุษจีน สารทจีน เขาก็เอามาเผยแพร่ หมู่คนจีนในเมืองตรังนิยมนำหมูย่างมากินกับกาแฟในตอนเช้า เป็นปกติวิสัยมานานแล้ว จนกลายเป็นวัฒนธรรมการกินกาแฟกับหมูย่างในยามเช้า ที่ไม่เหมือนใคร และยากที่ใครจะเลียนแบบ หมูย่างเมืองตรังจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตรัง
หมูที่ใช้ทำหมูย่างก็จะใช้หมูพื้นเมืองเรียกกันว่า "หมูขี้พล้า" ตัวไม่ใหญ่มากเลี้ยงกันตามธรรมชาติ หนัง มัน เนื้อ จะพอดีกันทั้งสามอย่าง ก่อนย่างนั้นหมูจะต้องผ่านการหมักเครื่องยาจีน 2 -3ชั่วโมง ผสมด้วยน้ำผึ้ง เหล้าจีนหมักทั้งตัว ย่างจนมั่นใจรสชาติเข้าเนื้อ หนังกรอบ คนตรังมีเคล็ดว่ากินหมูย่างแล้ววันนั้นทำอะไรหมูไปหมดง่ายๆโชคดี เคล็ดลับที่แตกต่างจากหมูย่างแห่งอื่นอีกประการหนึ่งก็คือ จะมีการใช้เข็มแหลมจิ้มให้น้ำมันไหลออกจากแผ่นหนัง หมูย่างเมืองตรังมีเอกลักษณ์ไม่ใช้น้ำจิ้ม ฉะนั้นถ้าไปกินหมูย่างเมืองตรังแล้วมีน้ำจิ้มก็แสดงว่าปลอม"
ด้วยความที่หมูย่างเมืองตรังโด่งดังมากจึงมักมีผู้แอบอ้างลอกเลียนแบบเสมอ จนกระทั่งทางจังหวัดต้องทำการจดทะเบียนให้หมูย่างเมืองตรังเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดตรัง เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ แม้จะเป็นสูตรดั้งเดิมแต่ถ้าหากนำออกไปขายนอกจังหวัดตรังก็จะไม่ใช่ "หมูย่างเมืองตรัง"แต่จะเรียกว่า "หมูย่างสูตรเมืองตรัง"แทน
นอกจากหมูย่างเมืองตรังแล้ว ยังมีสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าที่นี่มีความผูกพันกับเรื่องหมูพอสมควรเจ้าสัตว์ที่ว่านี้ก็คือ "พะยูน"หรือ หมูน้ำ หมูดุด หรือในภาษาถิ่นเรียกดูกอง เชื่อกันว่าพะยูนมีบรรพบุรุษร่วมกับช้าง แต่วิวัฒนาการอาศัยอยู่ในทะเล
พะยูนในจังหวัดตรังอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติเจ้าไหม และรอบๆเกาะลิบงในทะเลตรัง ซึ่งหลายๆคนๆว่านี่อาจจะเป็นอาณาจักรของพะยูนแห่งสุดท้ายในเมืองไทย โดยในพื้นที่ดังกล่าวยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหญ้าทะเล อันเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน และจากการสำรวจคาดว่าเหลือพะยูนอยู่ประมาณ 60 ตัว
พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชอบออกหากินรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ 12-13 เดือน ตัวโตเต็มที่ มีอายุประมาณ 13-14 ปี ชอบอาศัยหากินตามพื้นท้องทะเลชายฝั่ง ทั้งกลางวันและกลางคืน
โดยเขตน้ำลึกหน้าเกาะลิบงตลอดแนวและพื้นที่บางส่วนในอุทยานเจ้าไหม ในวันที่น้ำขึ้นเต็มสามารถออกไปเฝ้ามองดูพะยูน ชมแหล่งอาศัยของพะยูนได้ แต่โอกาสที่จะพบตัวพะยูนมีน้อยมาก ถ้าต้องการชมฝูงพะยูนให้ได้อย่างแน่นอนบางครั้งอาจต้องใช้บริการเครื่องร่อนของอุทยานเจ้าไหมที่ตั้งอยู่บริเวณหัวเกาะ
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พะยูนลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเป็นเพราะ ชาวบ้านเชื่อกันว่าการกินเนื้อพะยูนเป็นเหมือนยาอายุวัฒนะเนื้อพะยูนปรุงอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงกะทิ ผัดพะโล้ ทอด ผัดเครื่องใน น้ำมันพะยูนใช้ทาแก้ปวดเมื่อยและแก้น้ำร้อนลวก น้ำตาเป็นยาเสน่ห์ ส่วนกระดูกฝนผสมกับน้ำมะนาวกินแก้พิษจากการถูกเงี่ยงหรือหนามของปลาแทง หนังตรงส่วนหลังหั่นตามยาวตามลำตัวแล้วนำไปตากแห้งใช้ทำไม้เท้าได้
โดยธรรมชาติ พะยูนเป็นสัตว์ที่อายุยืนยาวถึง 70 ปี ต้องมีอายุมากกว่า 10 ขึ้นไปจึงจะสมบูรณ์พร้อมที่จะให้กำเนิดลูกได้ ให้กำเนิดลูกเพียงหนึ่งตัวเท่านั้น และต้องเลี้ยงดูลูกอีกนานร่วม 2 ปี จึงทำให้มีโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่พะยูนจะหายไปหรือสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเล
ปัจจุบันแม้พะยูนจะเหลือน้อย แต่พะยูนก็ได้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง ที่มีการทำของที่ระลึกจากไท้เทพธาโรที่มีกลิ่นหอมเป็นโอทอประดับ 5 ดาว สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเมืองตรัง
สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่โดดเด่นด้วยเรื่องแบบหมูๆในจังหวัดตรังก็คือ "เกาะสุกร" หรือเกาะหมู ที่มีหาดทรายสวยงามหลายแห่ง เกาะสุกรเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สอง รองมาจากเกาะลิบง ฐานะปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
ตัวเกาะขนานกับแนวชายฝั่ง ห่างจากฝั่งเพียง 3 กิโลเมตร พื้นที่ทางตะวันออกของเกาะเป็นที่ราบ ทิศตะวันตกจะเป็นเนินเขา มีชาวบ้านอาศัยอยู่บนเกาะ 4 หมู่บ้าน นอกจากนี้แตงโมที่เกาะสุกรมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดตรังว่ามีรสชาติหวานอร่อย
ประชากรส่วนใหญ่บนเกาะสุกรเป็นชาวมุสลิมที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สงบ อาชีพส่วนใหญ่ทำการประมง ทำนา ทำสวนยางพารา ที่มาของชื่อเกาะสุกรหรือเกาะหมูนั้น เป็นเพราะในอดีตเกาะแห่งนี้เคยมีหมูป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันไม่มีหมูบนเกาะให้เห็น สันนิษฐานว่าเป็นเพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม หากจะกล่าวว่าเป็นเกาะหมูของคนไม่กินหมูก็คงไม่ไกลความจริงเท่าไหร่นัก
บนเกาะสุกร มีถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านและชายหาดของเกาะ สามารถเดินเที่ยวชมวิถีชีวิตแบบมุสลิมของชาวเกาะได้ ตลอดจนพักผ่อนเพลิดเพลินกับธรรมชาติ จุดชมวิวบนเขากลางเกาะที่สามารถมองเห็นตัวเกาะอย่างชัดเจน ชายหาดเงียบสงบแถบฝั่งตะวันตกก็เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เกาะใกล้เคียงอย่างเกาะเหลาเหลียง เกาะตะเกียง เกาะเภตรา ก็มีชื่อเสียงเรื่องจุดดำน้ำตื้นที่สวยงามและมีชื่อเสียงของทะเลตรัง
เรื่องของหมูในเมืองตรังจึงเป็น "หมูทอง" ทั้งนั้น ทั้งหมูย่างที่ค้าขายนำเงินตรามาให้ หมูน้ำอย่างพะยูนที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และหวนแหน และเกาะสุกรหรือเกาะหมูที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวน่ายลไปตราบนานเท่านาน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวตรังเพิ่มเติมได้ที่ ททท. ภาคใต้ เขต 2 โทร.0-7521-5867,0-7521-5868
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
สวย สนุก เสียว ...เที่ยวสามอันซีนเมืองตรัง
"ทะเลตรัง" ความงดงามที่มิอาจถูกกลืน
หนีร้อนเข้าถ้ำ....สัมผัสมนต์เสน่ห์ "ถ้ำมรกต" เมืองตรัง
เที่ยว "ตรัง"สัมผัสมนต์ขลังเมืองสงบแห่งอันดามัน
"ไหว้พระจันทร์" เมืองตรัง ประเพณีโบราณที่มีปีละครั้ง
"ประเพณี…วิถีตรัง"เอกลักษณ์อันโดดเด่น
"เมืองตรัง"ไม่เคยร้างกลิ่นกาแฟ