xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เผยเศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้นตามการท่องเที่ยว-บริโภคเอกชน อานิสงส์เงินหมื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.67 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการเงินโอน 10,000 บาท สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้าที่เพิ่มขึ้น ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นตามการส่งออกที่ไม่รวมรถยนต์ และอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในบางภาคส่วนยังชะลอตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยลง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงาน จากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ อย่างไรก็ดี หมวดอาหารสดลดลงจากราคาผักตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น หลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว โดยหมวดอาหารปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดที่ไม่ใช่อาหารปรับลดลง

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลใกล้เคียงเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง จากการส่งกลับกำไรที่ลดลง หลังเร่งไปในเดือนก่อนหน้า ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง จากการจ้างงานในภาคบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ภาคการค้า และก่อสร้าง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น

น.ส.ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยว่า ในเดือน ต.ค.นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 2.7 ล้านคน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 2.5 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซีย และจีนชะลอลง ส่วนหนึ่งจากปัจจัยในประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวหลายสัญชาติ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และนักท่องเที่ยวระยะยาว (long-haul) โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนียังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้รายรับภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวพำนักในไทยสะสม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกลุ่มยุโรป รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อวันที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยตั้งแต่ 1 ม.ค.-24 พ.ย.67 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 31.3 ล้านคน

* เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เงินโอน 10,000 บาท) โดยการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นใน 1) หมวดสินค้าไม่คงทน จากปริมาณการใช้น้ำมัน และยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว และยาสูบ 2) หมวดสินค้าคงทน ตามยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 3) หมวดสินค้ากึ่งคงทน จากปริมาณการนำเข้าสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะเสื้อผ้า และ 4) หมวดบริการ จากหมวดโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทย และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
* ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่ลดลง ส่วนดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากหมวด 1) เคมีภัณฑ์ ตามการผลิตยา 2) เครื่องใช้ไฟฟ้า สอดคล้องกับการส่งออกเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอุปสงค์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการซื้อทดแทนหลังน้ำท่วมคลี่คลาย และ 3) หมวดอาหารและเครื่องดื่ม จากอาหารสัตว์สำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์นม อย่างไรก็ตาม การผลิตลดลงในบางหมวด เช่น ปิโตรเลียม จากปริมาณสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ตามการส่งออกที่ชะลอลง
* มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าไปยังทวีปอเมริกาเหนือ และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปยังตลาดอาเซียน ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปลดลง หลังปัญหาการขาดแคลนอุปทานของประเทศคู่ค้าคลี่คลายต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันปาล์ม และยาง ไปอินเดีย และน้ำตาลไปกัมพูชา รวมถึงหมวดยานยนต์ ลดลงตามการส่งออกรถยนต์นั่ง และรถกระบะไปยังตลาดอาเซียน และออสเตรเลีย
* มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดจาก 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไต้หวัน 2) สินค้าอุปโภคและบริโภค ตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือจากจีน รวมถึงผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม และ 3) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าเครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์จากญี่ปุ่นและจีน
* เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นตาม 1) การนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะหมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ในงานทั่วไป มอเตอร์ไฟฟ้า และเรือ 2) ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ จากเครื่องจักรและเครื่องมือทั่วไป และ 3) ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นตามรถแทรกเตอร์ สำหรับการลงทุนด้านการก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ อิฐบล็อก ซีเมนต์ และพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต รวมถึงพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างปรับดีขึ้น จากพื้นที่เพื่อที่อยู่อาศัย และเพื่ออุตสาหกรรมและโรงงาน
* การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าจัดการเรียนการสอนของหน่วยงานด้านการศึกษา และการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ด้านรายจ่ายลงทุน ขยายตัวสูงจากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของหน่วยงานด้านคมนาคม และด้านการศึกษา สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขยายตัวจากการเบิกจ่ายในโครงการด้านการสื่อสาร และสาธารณูปโภค
* ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.83% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามหมวดพลังงานจากผลของฐานต่ำในปีก่อน ที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงจากราคาผักตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น หลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.77% ทรงตัว โดยราคาอาหารปรับสูงขึ้น แต่ราคาของใช้ส่วนตัวปรับลดลง

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7 พันล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุล 1.4 พันล้านดอลลาร์ เกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลลดลง จากการส่งกลับกำไรที่ลดลงหลังเร่งไปในเดือนก่อนหน้า ตลาดแรงงานปรับแย่ลงจากการจ้างงานในภาคบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ภาคการค้ายานยนต์ และก่อสร้าง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และการค้า ขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจขนส่ง รวมถึงการระดมทุนผ่านสินเชื่อภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและร้านอาหาร


สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน ต.ค.67 เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามความไม่แน่นอนของขนาดการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมทั้งความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนค่าเงินบาทในเดือน พ.ย. ซึ่งข้อมูลจนถึงวันที่ 25 พ.ย.67 พบว่าค่าเงินบาทยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังจากมีผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้การนำของ "โดนัลด์ ทรัมป์" อาจส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง และเฟดอาจจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยได้เท่ากับที่เคยประเมินไว้

น.ส.ปราณี กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยว ซึ่งดูได้จากเครื่องชี้ เช่น จำนวนการจองตั๋วที่นั่งเครื่องบินเข้าไทยที่เพิ่มขึ้น และ Seat capacity ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะเที่ยวบินจากยุโรป รวมทั้งคำค้นหาเกี่ยวกับการเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ที่สะท้อนจาก Google destination ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้จะสอดคล้องกับที่ ธปท.ได้เคยประเมินไว้

ขณะที่การส่งออกสินค้า แม้การส่งออกในเดือน ต.ค.จะอยู่ในระดับสูง แต่ยังต้องจับตาความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้า "โดนัลด์ ทรัมป์" ซึ่งจะมีต่อปริมาณการค้าโลก และเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการตอบโต้ทางการค้าต่างๆ จากจีนและประเทศอื่นๆ ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยฟื้นตัวขึ้น แต่ยังมีบางอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้รายรับธุรกิจ และรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง โดยสิ่งที่ต้องติดตามในระยะถัดไป คือ 1.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อการส่งออก และการผลิต 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น