นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 พ.ย.) ที่ระดับ 34.52 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.65 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.42-34.58 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวนด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทถูกชะลอลงใกล้โซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่เงินบาทจะทยอยอ่อนค่าลงกลับสู่โซน 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด เช่น ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) นอกจากนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนตุลาคมจะอยู่ที่ระดับ 2.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อยู่ที่ระดับ 2.8% ตามคาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของเฟดและเริ่มชะลอตัวลงช้า ทำให้เฟดอาจลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวนด์สูงขึ้นบ้าง ขณะเดียวกัน ก็กดดันให้ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ราคาทองคำยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลสถานการณ์ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มลดลง หลังอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนี ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า BOK อาจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.25% เพื่อช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินวอนเกาหลี (KRW) ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้และเศรษฐกิจโดยรวมก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ BOK สามารถทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ในอนาคต
นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจดูสงบลงได้บ้างในช่วงนี้ หลังอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทอาจยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้าที่ได้แรงหนุนจากทั้งการรีบาวนด์ขึ้นของราคาทองคำในช่วงนั้น รวมถึงการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อาจทำให้กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นจากโซนการเคลื่อนไหวในช่วงก่อนหน้า โดยเงินบาทอาจแกว่งตัวใกล้โซนแนวรับ 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้
ทว่า เราคงมองว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจนของเงินบาทอาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก หากราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนเรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า (Importers) รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมันดิบ เพิ่มเติมได้ หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงมาพอสมควรในช่วงก่อนหน้า อีกทั้งผู้เล่นในตลาดอาจยังคงกังวลต่อการขู่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่จำกัดการแข็งค่าของบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเงินหยวนจีน (CNY) ที่ในระยะหลังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทพอสมควร (Highly Correlated) อนึ่ง หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนดังกล่าวได้อาจเปิดโอกาสแข็งค่าต่อทดสอบโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ (โอกาสยังน้อยอยู่) ส่วนโซนแนวต้านของเงินบาทจะขยับลงมาแถวโซน 34.60-34.70 บาทต่อดอลลาร์