xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ไทยไม่แพ้ “สิงคโปร์” ลุ้นผุดมาตรการทดสอบก่อนลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนดูมาตรการควบคุมตลาดคริปโตเคอร์เรนซี “ไทย” และ “สิงคโปร์” ภาพรวมขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกัน ด้วยเจตนาเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น คาดมาตรการใหม่ MAS ที่ให้นักลงทุนต้องทำการทดสอบก่อนลงสนาม อาจเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ ก.ล.ต.ไทยพิจารณาและนำมาใช้ควบคุมตลาดเหรียญดิจิทัลในประเทศ ยอมปล่อยผ่านให้ “ฮ่องกง” เดินเกมส์เป็น Cryto Hub ของเอเชีย

แม้จะถูกกดดันจากปัจจัยลบต่างๆ นานา รวมถึงถูกควบคุมจากหน่วยงานของประเทศต่างๆ แต่สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง “คริปโตเคอร์เรนซี” ก็ยังถือเป็นที่นิยมของนักลงทุน ด้วยเพราะเป็นเครื่องมือการลงทุนแบบใหม่ที่ใครต่อใครต่างเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนกลับคืนมาได้คุ้มค่าที่ลงทุน

ขณะที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย แม้ปี 2565 จะไม่เฟื่องฟูเหมือนปีที่ผ่านมา เห็นได้จากยอดบัญชีที่เคลื่อนไหวลดลงอย่างชัดเจน เพราะความผันผวนของราคาเหรียญคริปโตฯที่อยู่ในทิศทางขาลงและความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อตลาดหรือ Exchange ที่เลือกใช้บริการลด เพราะการควบคุมของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ Regulator อย่างสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เนื่องจาก ก.ล.ต.กำลังวางกรอบ โดยเพิ่มกฏเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆออกมาเป็นเพราะไม่ต้องการให้ตลาดร้อนแรงเกินไป ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุน รวมถึงสร้างผลกระทบในวงกว้างมากกว่า

คริปโตฯยังเป็นแหล่งฟอกเงิน 

ต้องยอมรับว่าตลาดคริปโตฯ นอกจากเป็นคุณหรือสวรรค์ให้นักลงทุนรุ่นใหม่ในการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ยังกลายเป็นอีกช่องทางที่ให้วงการมืดดำทั่วโลกอาศัยเป็นช่องทางหรือเครื่องมือในการฟอกเงินสกปรกให้กลับมาเป็นเงินขาวสะอาดด้วย

รายงานจาก Elliptic (สำนักวิเคราะห์ออนไลน์) ซึ่งออกมารายงานว่า มีข้อมูลธุรกรรมผิดกฎหมาย นับตั้งแต่ปี 2563 พบว่าอาชญากรไซเบอร์ได้ใช้การแลกเปลี่ยนแบบกระจายอำนาจ(DEXs) ผ่านระบบข้ามสายบล็อกเชน และบริการแลกเปลี่ยนที่ไม่ใช่ KYC (เรียกว่าการแลกเปลี่ยนเหรียญ) เพื่อเคลื่อนย้ายเงินเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยรายงานระบุว่า มีการใช้มากขึ้นในการประมวลผลเงินที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมต่างๆ เช่น การโจรกรรม บริการเว็บมืดฝังไวรัส การผสมด้วยแผนการล่อลวงที่หลากหลาย ในลักษณะชักชวนการลงทุนด้วยผลตอบแทนสูงซึ่งแท้จริงแล้วคือแชร์ลูกโซ่ ตลอดจนการฝังแรนซัมแวร์และอื่น ๆ เพื่อเรียกค่าไถ่ข้อมูลหรือจารกรรมข้อมูล

นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าว นักวิจัยของ Elliptic ได้วิเคราะห์สิ่งที่ค้นพบสำหรับเครื่องมือบล็อกเชนแต่ละตัว โดยเริ่มจาก DEX ตั้งแต่ปี 2563 ได้อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการที่ DEX เป็นโปรโตคอลที่อนุญาตให้ผู้ใช้ดำเนินการคำสั่งซื้อและขายโดยใช้สัญญาอัจฉริยะทำให้การใช้ DEX โดยอาชญากรมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการหาประโยชน์ในพื้นที่การเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi) และการแฮ็กของการแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์ ขณะเดียวกัน cross bridge เป็นเครื่องมือประเภทที่ 2 ที่ Elliptic พบว่าเป็นที่นิยมในหมู่อาชญากร โดย Elliptic รายงานว่าตั้งแต่ปี 2563 อาชญากรได้ระดมเงินทุนที่ผิดกฎหมายเกือบ 750 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นช่วยสะท้อนว่า แม้บรรดากูรูต่างๆจะออกมาการันตีว่า “คริปโตเคอร์เรนซี” คืออนาคตใหม่ของโลกการลงทุน แต่ว่าปัจจุบันหลายประเทศเริ่มเห็นช่วงโหว่ที่น่ากลัวของเครื่องมือการลงทุนดังกล่าวออกมาอย่างต่อเนื่องนอกเหนือจากจีนที่ดำเนินการควบคุมเรื่องดังกล่าวอย่างหนักหน่วงด้วยเช่นกัน เช่น Financial Stability Oversight Council หรือ FSOC ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลเสถียรภาพการเงิน ของรัฐบาลกลางสหรัฐ ออกโรงแจ้งเตือนช่องโหว่ความเสี่ยงในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี หลังมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในลักษณะกระจายอำนาจ หรือ decentralized แต่มีความผันผวนสูง ปลอดภัยต่ำ ความไม่สมดุลของสภาพคล่อง ซึ่งอาจต้องมีการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎระเบียบเพิ่ม

ทั้งนี้  FSOC ได้แสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับช่องโหว่ในตลาดคริปโต ที่มีความผันผวนรุนแรง ทั้งด้านราคาและความปลอดภัย และปริมาณความถี่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่ของตลาดคริปโต และทำให้เกิดการขาดทุนครั้งใหญ่ในตลาด นั่นเพราะเมื่อตลาดคริปโตฯขยายตัวและมีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว จะทำให้การเก็งกำไรครั้งใหญ่และการกำกับดูแลกิจกรรมด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ครอบคลุม อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบล็อกเชนเป็นวงกว้าง FSOC จึงเรียกร้องให้ประเมินความเสี่ยง และความปลอดภัย แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับที่ดีมากนัก ซึ่งทำให้ตลาดสูญเสียมูลค่าไปแล้วกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และความเสี่ยงก็ไม่ได้ลดน้อยลง

สิงคโปร์จากผ่อนปรนหันมาคุมเข้ม

ขณะที่สิงคโปร์ จากที่เคยหวังจะใช้คริปโตเคอร์เรนซีมาเป็นจุดดึงดูดเม็ดเงินทั่วโลก ถึงเคยขั้นตั้งตนเองเป็น Cryto Hub ของเอเชีย ด้วยจำนวนประชากรต่อการถือครองคริปโตฯสูง (เกือบร้อยละ 50 ของจำนวนประชากร) และมีการลงทุนของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมาก รวมถึงภาครัฐค่อนข้างเปิดกว้างกับใบอนุญาตหลากหลายรูปแบบ ทำให้นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมาสิงคโปร์ก็กลายเป็นประเทศที่ดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจจากจีนจำนวนมาก แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางที่เข้มงวดมากขึ้น

จากเดิมปี 2563 สิงคโปร์ได้ตรากฎหมาย Payment Services Act (PSA) หรือกฎหมายบริการชำระเงิน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบชำระเงินหลากหลายรูปแบบ โดยรวมถึงการกำหนดให้การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Virtual Asset Service Providers) เป็นการให้บริการทางการเงินประเภทหนึ่งตามกฎหมายที่ต้องได้รับอนุญาตจาก MAS (The Monetary Authority of Singapore) และที่ผ่านมา MAS ก็ได้ให้ใบอนุญาตในหลายรูปแบบแก่ตลาด คริปโตฯในประเทศเพื่อหวังจะดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2565 พบว่า MAS ได้มีแผนขยายขอบเขตการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเพิ่มประเด็นการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคจากการลงทุนในคริปโตฯ เช่น จำกัดการโฆษณาในบางลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคริปโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นโฆษณาผ่านตู้ ATM ที่มีการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะปีนี้ ตลาดคริปโตร ฯ มีความผันผวนมาก นับแต่วิกฤติที่เกิดขึ้นกับมูลค่าของ TerraUSD (UST) ที่หลุดจากการตรึงราคากับดอลลาร์ เนื่องจาก UST ไม่ได้ตั้งเงินสำรองไว้จริง แต่ใช้วิธีการตรึงมูลค่าด้วยการกำหนดอัลกอริทึมที่สร้างความสมดุลระหว่าง UST กับ LUNA จนลามไปสู่วิกฤติลูกโซ่ที่เกิดขึ้น และสิงคโปร์ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกกล่าวอ้างว่ามีความเชื่อมโยงกับองค์กรธุรกิจที่ให้บริการเหล่านี้ ทั้งที่ในความจริง บางกิจกรรม เป็นลักษณะของฟังก์ชัน การให้บริการที่อาจไม่ได้เชื่อมโยงกับ entity ที่จัดตั้งในสิงคโปร์อย่างชัดเจน

ด้วยเหตุนี้ MAS จึงได้ระบุแนวนโยบายในการปรับกฎระเบียบใหม่ในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยการเพิ่มมาตรการป้องกันเพิ่มเติม (additional safeguards) รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการคงไว้ในเงินทุนสำรองของเหรียญประเภท Stablecoin โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีการปรับลดลง จนอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล และกระทบต่อความมั่นคงของบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในสิงคโปร์

ไม่เพียงเท่านี้ MAS ยังอาจมีการควบคุมจำนวนผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงการจำกัดการให้บริการคริปโต Leverage (การยืมเงินเพื่อเพิ่มกำลังซื้อคริปโต) ควบคุมการจัดทำการตลาด (Crypto marketing) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทต้องได้รับอนุญาตจาก MAS ก่อนการให้บริการ แม้บริการนั้นจะไม่ใช่การให้บริการในประเทศเลยก็ตาม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ต.ค.65 MAS ได้เปิดเผยข้อเสนอใหม่เพื่อปกป้องนักลงทุนว่า การซื้อขายคริปโตมีความเสี่ยงสูงและไม่เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม คริปโตมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศสินทรัพย์ดิจิทัลในวงกว้าง และเป็นไปไม่ได้ที่จะแบนสกุลเงินดิจิทัล

ดังนั้น ภายใต้แผนการนี้จะเปิดให้ภาคประชาชนตรวจสอบจนถึงวันที่ 21 ธันวาคมนี้ ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมาย MAS จะกำหนดให้ผู้ให้บริการคริปโตฯดำเนินการอย่างโปร่งใสมากขึ้นด้วยการแจ้งให้ลูกค้ารับรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงเพื่อให้สามารถตัดสินใจโดยอิงกับข้อมูลมากขึ้น และป้องกันไม่ให้ลูกค้ายอมรับความเสี่ยงสูงกว่าที่ต้องการหรือเต็มใจ หรือเกินกำลังที่จะรับผิดชอบได้ และ MAS ยังไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการเสนอมาตรการจูงใจเพื่อให้ลูกค้าลงทุนในคริปโต รวมถึงห้ามใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อดึงดูดลูกค้า และผู้ให้บริการยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานบางอย่างเกี่ยวกับวิธีทำธุรกิจอย่างเคร่งครัด

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังผลักดันให้กำหนดกฎระเบียบควบคุมคริปโตหลังตลาดผันผวนรุนแรง และบริษัทชื่อดังหลายแห่งล้มละลาย ซึ่งบางแห่งมีฐานอยู่ในแดนลอดช่องและส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงว่าที่ฮับคริปโตของสิงคโปร์


ก.ล.ต. เฮียริ่ง กำหนดขั้นต่ำ 5 พันบาท

และเมื่อเร็วๆนี้ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 2 ฉบับ คือ  แนวทางการเปิดเผยความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี และการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล และ หลักเกณฑ์การห้ามผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลให้บริหารหรือสนับสนุนการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม (deposit taking & lending) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ซื้อขายจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การลงทุนและการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ รวมถึงได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างเพียงพอ

นั่นเพราะ ก.ล.ต.พบว่า คริปโตเคอร์เรนซี ส่วนใหญ่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานหรือกิจการใด ๆ รองรับ การซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล จึงมักเป็นเพียงการเก็งกำไรและราคามีความผันผวนสูง ทำให้อาจมีความเสี่ยงในระดับที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนทั่วไป ประกอบกับกลไกการกำกับดูแลการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบันยังมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องให้ผู้ซื้อขายน้อยกว่าผลิตภัณฑ์เสี่ยงสูงอื่น ๆ ในตลาดทุนที่มีการกำกับดูแลการให้ข้อมูลเข้มงวดกว่า รวมถึงการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศมีทิศทาง เปิดให้ผู้ลงทุนที่มีความสามารถรับความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยจำกัดการเข้าถึงการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี สำหรับรายย่อย

โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ประกอบด้วยผู้ประกอบธุรกิจประเภทศูนย์ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี รวมถึงนายหน้าและผู้ค้าจะต้องเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน เนื่องจากผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องกำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลต่อธุรกรรมขั้นต่ำ 5 พันบาท (ยกเว้น โทเคนดิจิทัล ที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ)

ในส่วนของการกำหนดหลักเกณฑ์ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม (deposit taking & lending) นั้น เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อขายและประชาชนทั่วไปจากความเสี่ยงของผู้ให้บริการธุรกรรมในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งเพื่อช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดจากการเข้าใจผิด

ทั้งนี้ คาดว่าการออกหลักเกณฑ์ deposit taking & lending เพื่อปิดช่องโหว่และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ออกผลิตภัณฑ์ Zipup+ ระดมฝากสินทรัพย์ดิจิทัลจากลูกค้า ก่อนจะโยกไปไว้ที่ "ซิปเม็กซ์ สิงคโปร์" และได้นำไปฝากต่อ Babel Finance-Celsius ที่มีปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ลูกค้า Zipup+ ไม่ได้รับความเสียหายมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท

ดังนั้น ภาพรวมแม้การดำเนินงานของก.ล.ต.ต่อตลาดคริปโตเคอร์เรนซีอาจดูช้าหรืออืดอาด แต่หลายฝ่ายต่างมุ่งหวังว่า ก.ล.ต.จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆของธุรกินสินทรัพย์ดิจิทัลให้ครอบคลุมถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และความเสี่ยงต่างๆที่จะมีผลต่อนักลงทุนได้อย่างครบถ้วน เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดกรณีของ Zipmex และ Bitkub ออกมาให้ปวดหัวอย่างต่อเนื่องจนอาจทำให้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่ใครต่อใครเชียร์ว่าดี ว่าคือโอกาส อาจเป็นเพียงแค่บ่อนพนันที่กรรมการไม่เคยตามทันผู้เล่นได้สักที

ดำเนินการยืดหยุ่น-รับฟังความเห็น

ล่าสุด “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร่วมเสนอความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัลในงานสัมมนานานาชาติ Future Investment Initiative (FII) ครั้งที่ 6 หัวข้อ “Writing the Rules of Crypto” ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ว่า สำหรับหัวข้อแนวทางการส่งเสริมการพูดคุยหารือระหว่างผู้ลงทุน ผู้พัฒนา ผู้ประกอบธุรกิจ และภาครัฐความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น หากภาครัฐไม่ได้มีการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน และมุมมองอนาคตของตลาดและธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี ในอีก 15 ปีข้างหน้า

เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้ความเห็นว่า การส่งเสริมแนวทางการหารือระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้ลงทุนจะเกิดขึ้นได้ต้องเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างกันจะเกิดผลประโยชน์ร่วมกัน โดย ก.ล.ต. ได้หารือกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง และการออกร่างประกาศหลักเกณฑ์หรือแนวคิดต่าง ๆ จะดำเนินการจัดให้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชน ซึ่ง ก.ล.ต. พร้อมจะรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ด้วย ก.ล.ต. ยึดถือนโยบายการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนานโยบาย และการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม และเนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกิจที่ดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน และมีการทำธุรกรรมข้ามประเทศ (cross-border/borderless) ความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มสมาชิก International Organization of Securities Commissions (IOSCO) และในระดับภูมิภาคจึงมีความสำคัญเช่นกัน และ ก.ล.ต. สนับสนุนการระดมทุนโดยใช้เทคโนโลยี เช่น การออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (digital token) เพื่อระดมทุน ดังนั้น หากภาครัฐไม่ได้ทำการกำกับดูแลอาจทำให้มีการหลอกหลวง หรือการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจกระทบกับความเชื่อมั่นในการซื้อขายและส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน

สำหรับมุมมองในอนาคตอีก 15 ปีข้างหน้า เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้ความเห็นว่า “เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ได้ชัดเจน ด้วยเรื่องนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง (dynamic) อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ยึดหลักการส่งเสริมและการพัฒนานวัตกรรมควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสมและใช้หลักการกำกับดูแลแบบ “same activity same risk same rule” และมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ซื้อขายอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา รวมทั้งให้ความร่วมมือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ”

 “ฮ่องกง” ขอเป็นชาวสวน หวังดึงดูดเงิน

ล่าสุด “ฮ่องกง” ประกาศปรับแผนการแข่งขันตลาดคริปโต โดยมีการวางแผนปรับปรุงข้อกฏหมายหลายอย่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนรายย่อย สามารถเทรดคริปโตฯ ได้แบบถูกต้องตามกฎหมาย ตามกลยุทธ์เมืองท่าเขตปกครองเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อหวังดึงส่วนแบ่งจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกกลางที่รุกหนักด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยนโยบายดังกล่าวถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง หลังจากที่จีนแผ่นดินใหญ่ออกมาตรการคุมเข้ม จำกัดการใช้และการเข้าถึงคริปโต และการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

ทั้งนี้ มีรายงานว่าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ปกครองพิเศษฮ่องกง ได้มีการพิจารณาถึงโครงการออกใบอนุญาตสำหรับแพลตฟอร์มคริปโตฯ ที่จะมีการกำหนดบังคับใช้ในเดือน มีนาคมปี 2566 นี้ ซึ่งจุดประสงค์ของกฏหมายที่ปรับปรุงนี้ จะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนรายย่อย สามารถเทรดคริปโตฯได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายบนพื้นที่เมืองท่าเขตปกครองเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอยู่นอกเหนือการบังคับใช้กฎหมายในประเทศจีน

นอกจากนี้ ฮ่องกงหวังว่า จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนคริปโตแห่งใหม่ของเอเซีย เพื่อสร้างการแข่งขัน และดึงส่วนแบ่งการตลาดกระดานเทรดคริปโต นอกเหนือจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่พยายามสร้างศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งใหม่ และเพื่อให้นักลงทุนในประเทศจีนและนักลงทุนจากต่างประเทศ สามารถเข้ามาลงทุนได้ง่าย และเพื่อให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมคริปโตฯหลออกไปยังเขตพื้นที่อื่นน้อยที่สุด โดยขณะนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ในช่วงของการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดเสร็จได้ทันตามกระบวนการ

ทดสอบก่อนลงทุนมีโอกาสเกิดขึ้นในไทย

โดยสรุปแม้หลายฝ่ายอาจมองว่ามาตรการที่ ก.ล.ต.นำมาใช้ควบคุมตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศดูล่าช้า แต่ถือว่ามีความรัดกุมที่เพียงพอต่อความเสี่ยงและความผันผวนของเงินสกุลดิจิทัลในปัจจุบัน เห็นได้จากหลายมาตรการที่เพิ่มเข้ามาเป็นไปในทิศทางเดียวกับ MAS ของสิงคโปร์ ซึ่งทำออกมาแล้วเป็นที่ยอมรับจากหลายฝ่าย

นั่นทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า มาตรการล่าสุดของ MAS ที่กำหนดให้ผู้ที่ต้องการลงทุนในคริปโตฯต้องเข้ารับการทดสอบเพื่อประเมินความเข้าใจในความเสี่ยงก่อนอนุญาตให้ซื้อขายนั้น รวมถึงการห้ามใช้บัตรเครดิตหรือแอปการชำระเงินต่างๆ เพื่อซื้อคริปโต อาจเป็นอีกหนึ่งมาตรการใหม่ที่ก.ล.ต.ไทยอาจจะนำเข้ามาเพิ่มการควบคุมตลาดคริปโตฯไทยในอนาคต ซึ่งคาดว่าแม้จะมีเสียงโอดครวญจากผู้ประกอบการ หรือผู้ที่ต้องการลงทุน แต่เพื่อลดความเสี่ยง หรือผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลัง ก.ล.ต.ก็พร้อมจะเดินหน้าเรื่องดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น