xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.วางเป้าเพิ่มทางเลือกลงทุน-หนุนธุรกิจเล็กระดมทุน สร้าง ecosystem รองรับสินทรัพย์ดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงบทบาทของ ตลท.ในขณะนี้ โดยระบุว่า ปัจจุบันตลาดทุนไทยมีจุดแข็งคือ หุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีความหลากหลาย หลายอุตสาหกรรม หลายกลุ่มธุรกิจ แต่ในอนาคตนักลงทุนอยากลงทุนหลากหลายมากขึ้นอีกในหลายสินทรัพย์ และลงทุนข้ามประเทศ ดังนั้น ตลท.จะพยายามผลักดันให้มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาซื้อขายมากขึ้น ไม่เฉพาะหุ้น แต่จะมีทั้งตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งสินค้าสกุลเงินบาทและสกุลต่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนที่มีประสิทธิภาพผ่านตัวกลางในประเทศ นอกจากนั้น ตลท.จะต้องทำให้ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทเล็กๆ สตาร์ทอัป เอสเอ็มอี 2 เรื่องนี้เป็นหลักนโยบายในปีนี้ที่จะพยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้น

ส่วนการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ตลท.อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าทำอย่างไรที่จะสนับสนุนให้เกิดตลาดทุนเพื่อรองรับสินทรัพย์ดิจิทัลให้เร็วขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่คริปโทเคอร์เรนซี แต่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน ยกตัวอย่าง หากเรามีคอนโดฯ อยากจะปล่อยเช่าเอง แต่ทำได้ไม่สะดวกและต้นทุนอาจจะสูง ทำอย่างไรให้สามารถารวมคอนโดให้เช่าเป็น Asset Pool แล้วนำรายได้จากการปล่อยเช่ามาเป็นสินทรัพย์ขายให้นักลงทุน เป็นต้น โดยให้ผู้ที่อยากระดมทุนมาใช้ Digital Asset Platform และให้ผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนได้

"ตลาดหลักทรัพย์ต้องการสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างตลาดทุนใหม่ที่จะสนับสนุนให้ใครก็ตามที่จะออกสินทรัพย์ใหม่ทำได้ง่าย เช่น issuer คนที่อยากจะซื้อขายเข้ามาซื้อขายทำได้ง่าย มี Exchange มี Clearing House ใครก็ตามที่อยากเก็บ asset ไม่ว่าจะเป็นเงินเป็นของ เหมือนเป็น wallet ก็สามารถเก็บได้หมด ลงทุนแล้วมี customer service ใครก็ตามที่ระดมทุนอยากจะส่งข้อมูลอะไรให้นักลงทุน จ่ายปันผล โอนเงิน ทำผ่าน customer service module เป็น application ที่เรามองว่าอยากทำให้เกิด เราเน้นที่การสร้าง eco system" นายภากร กล่าว

สำหรับการปรับหลักเกณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาหุ้นฟรีโฟลตต่ำที่ทำให้ภาพรวมตลาดเกิดความผันผวนนั้น นายภากร กล่าวว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาใน 2 ประเด็นคือ จะระมัดระวังอย่างไรไม่ให้หุ้นมีฟรีโฟลตน้อยเกินไป และจะทำอย่างไรในการเลือกหุ้นดังกล่าวเข้ามาในดัชนีเพื่อให้นักลงทุนได้ทราบว่ามีความจำเป็นต้องซื้อหุ้นดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน

นายภากร ยังกล่าวถึงทิศทางตลาดทุนในปี 64 โดยระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทั่วโลกใช้เทคโนโลยีมากขึ้นและเร็วขึ้น รวมทั้งการที่โลกเชื่อมโยงกัน มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความต้องการประชาชนเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ทำให้การให้บริการของภาคธุรกิจต้องปรับตัว ซึ่งส่งผลกระทบถึงการทำธุรกิจทั่วโลก โดยผู้ที่มีจุดแข็งก็ยิ่งต้องใช้จุดแข็งในการทำธุรกิจให้ดีขึ้น และยังต้องหารายได้แหล่งใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะจุดแข็งเพียงจุดเดียว หรือการทำธุรกิจเดียวทำให้บริษัทปรับตัวไม่ทัน จึงเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะเห็นภาคธุรกิจพยายามกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจใหม่ๆ หรือจับมือกับพันธมิตรเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

กรณีของประเทศไทย ถือว่าปรับตัวได้เร็วและดีมาก ทั้งๆ ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกค่อนข้างมาก จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์โควิด-19 แต่เพียงระยะเวลา 1 ปีเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นขึ้นมาได้ โดยเฉพาะตลาดทุน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยกลับมาอยู่ในระดับเกือบเท่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แล้ว และหุ้นบางกลุ่มปรับตัวเป็น 100% มา 2 ปีแล้ว การปรับตัวของภาคธุรกิจมีความรวดเร็ว แต่ก็อาจยังมีบางกลุ่มที่ต้องพึ่งพาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง จึงมีทั้ง 2 track ที่นักลงทุนต้องดูข้อมูลและวิเคราะห์ให้ดีแล้วจะเห็นว่าการลงทุนยังมีโอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้นจากในอดีต

สำหรับการระดมทุนผ่านตลาดทุนไทยของภาคธุรกิจนั้น ได้เห็นแนวโน้มมากหลายปีแล้วว่าประเทศไทยมีการระดมทุนในตลาดแรกและตลาดรองคิดเป็นมูลค่ามาร์เกตแคปสูงกว่า 5 แสนล้านบาทมาเป็นเวลา 4-5 ปีแล้ว โดยในปี 63 มูลค่าระดมทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นอันดับที่ 2 ในเอเชีย รองจากจีน ขณะที่การระดมทุนของบริษัทในประเทศ อยู่อันดับ 8 ของโลก และอันดับ 1 ในอาเซียนติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

"การระดมทุนของเรามีแนวโน้มการใช้ตลาดทุนด้วยการออก IPO เกิดขึ้นต่อเนื่อง เป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไป จะเห็นบริษัทใหญ่ที่มีความหลากหลายเข้ามาระดมทุนในตลาด ตลาดทุนจะเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ" นายภากร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น