xs
xsm
sm
md
lg

FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนพุ่ง 161% หวังเงินทุน ตปท.ไหลเข้าระบบ แม้การเมือง-เศรษฐกิจไทยถดถอย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซนร้อนแรงอย่างมาก ครั้งแรกในรอบ 2 ปีนักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าออกของเงินทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่นักลงทุนกังวลกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจไทย

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่า “ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 161.41 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 161% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าออกของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงผลสำเร็จของวัคซีนป้องกัน Covid-19 สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ”

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้ โดยดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กุมภาพันธ์ 2564) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” (ช่วงค่าดัชนี 160-200) ครั้งแรกในรอบ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 161.41 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 161% ขณะที่ความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศ ปรับตัวขึ้นอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” และความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติปรับตัวขึ้นอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก”

ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพลังงาน (ENERGY) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดประกันภัยและประกันชีวิต (INSUR) ขณะที่ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลเข้าออกของเงินทุน ส่วนปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์การเมืองในประเทศ

ผลสำรวจ ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้น 91% อยู่ที่ระดับ 150.00 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 167% อยู่ที่ระดับ 166.67 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 150% อยู่ที่ระดับ 156.52 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น 338% อยู่ที่ระดับ 175.00 

โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 SET index ฟื้นตัวแรงตอบรับข่าวดีทั้งจากปัจจัยนอกประเทศ ที่ได้รับข่าวความสำเร็จของวัคซีนป้องกัน Covid-19 ทั้งของ Pfizer/BioNTech, Moderna และ AstraZeneca ที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติด Covid-19 สูง อีกทั้งข่าวความชัดเจนของผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะได้นายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 รวมถึงข่าวดีจากปัจจัยในประเทศจากการประกาศ GDP ไตรมาส 3/2563 แม้จะยังหดตัวที่ -6.4% แต่นับว่าปรับตัวดีกว่าคาดการณ์ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสก่อนหน้าหลังมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 ผ่อนคลายลง จากปัจจัยข้างต้นส่งผลให้เงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเป็นบวกสุทธิเป็นเดือนแรกของปี โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน SET Index ปิดที่ 1,408.31 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.9% จากเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าออกของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงผลสำเร็จของวัคซีนป้องกัน Covid-19 สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

"ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา และการเริ่มดำเนินการตามนโยบายของนาย โจ ไบเดน สถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปหลังเพิ่มความเข้มงวดมาตรการล็อกดาวน์จากการระบาดระลอกสองของ Covid-19 ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มาตรการภาครัฐในกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคเอกชนเพิ่มเติม และการทยอยอนุมัติงบประมาณให้แก่โครงการภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท"

ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนธันวาคม 2563 ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ว่า กนง. จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากการสำรวจเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 63 อย่างไรก็ตาม มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นที่คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปีอาจปรับตัวลดลงเนื่องจากในช่วงปลายปีจะมีเม็ดเงินจากการซื้อกองทุนเข้ามาในตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นและอาจมีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยมากขึ้นจากปัจจัยด้านการเมืองสหรัฐฯ ที่มีความชัดเจนมากขึ้นและนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีไบเดน ที่มีแนวโน้มประนีประนอมมากกว่าทำให้เงินลงทุนจากสหรัฐฯ ไหลเข้า Emerging Markets มากขึ้น

ด้าน น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนธันวาคม 2563 โดยมีรายละเอียด ได้แก่ ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนธันวาคมนี้อยู่ที่ระดับ 46 ลดลงเล็กน้อยจากครั้งที่แล้วและยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือนธันวาคมนี้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำแล้ว และ กนง. อาจต้องการเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็น ถ้าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มอ่อนแอ และมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ส่งผลอาจทำให้ ธปท. ตัดสินใจลดดอกเบี้ย ขณะที่ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” โดยปรับตัวลดลงจากครั้งก่อน สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงระดับ 0.84% และ 1.41% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (23 พ.ย. 63) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก และ Fund Flow ต่างชาติ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)


กำลังโหลดความคิดเห็น