xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.แนะนักลงทุนศึกษารู้ก่อนลงทุนในหุ้นกู้ตลอดชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก.ล.ต.แนะนักลงทุนให้ทำการศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ตลอดชีพ เพราะแม้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ปกติแต่มีความเสี่ยงอื่นๆ ด้วย ชี้ก่อนลงทุนมีเช็กลิสต์ 5 ข้อ สำหรับผู้ลงทุนสำรวจตัวเอง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แนะนักลงทุนให้ทำการศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” (perpetual subordinated bond) หรือหุ้นกู้ตลอดชีพที่มีหลายบริษัทเสนอขายแก่ผู้ลงทุนและเป็นที่สนใจมากเพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ปกติ โดยให้ข้อคิดว่า อย่าดูแต่ผลตอบแทนอย่างเดียว ให้พิจารณาความเสี่ยงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านดอกเบี้ย ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านเครดิตที่สะท้อนในเครดิตเรตติ้ง เช่น หากไม่มีเรตติ้ง (unrated) หรือเรตติ้งต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (non-investment grade) ความเสี่ยงยิ่งสูง จึงมักจะให้ดอกเบี้ยสูงเพื่อจูงใจ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้มีลักษณะที่ซับซ้อนและความเสี่ยงที่มากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป ก่อนลงทุนมีเช็กลิสต์ 5 ข้อสำหรับผู้ลงทุนสำรวจตัวเอง ดังนี้ (blue check mark) ทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน โดยเจ้าหน้าที่การตลาดที่ขายหุ้นกู้จะให้ผู้ซื้อลงนามรับทราบความเสี่ยงการซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนก่อนซื้อ (blue check mark) เงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินสำหรับลงทุนได้ในระยะยาวมาก (blue check mark) ศึกษา factsheet และลักษณะของหุ้นกู้ (features) และเงื่อนไขต่างๆ ให้ครบถ้วน เช่น การไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด การจ่ายดอกเบี้ย (blue check mark) รู้เครดิตเรตติ้ง (blue check mark) รู้วิธีขายคืน

หุ้นกู้ตลอดชีพ หุ้นกู้อีกประเภทหนึ่งที่อยากให้ศึกษามากๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน คือ 1. ส่วนแรกของชื่อ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” ก็คือหุ้นกู้ที่ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ แต่จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ‘หลัง’ จากเจ้าหนี้รายอื่นๆ ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้รับคืนทั้งหมด หรือบางส่วน หรือไม่ได้เงินคืนเลยก็ได้ แต่ยังมีสิทธิจะได้รับเงิน ‘ก่อน’ ผู้ถือหุ้นสามัญ

2. ส่วนท้ายของชื่อ “มีลักษณะคล้ายทุน” ก็คือสิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อบริษัทเลิกกิจการ หรือเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ นั่นคือ ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นกู้ตัวนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด และอาจไม่ได้รับคืนเงินต้นตลอดช่วงเวลาที่ถือหุ้นกู้อยู่นั้น ด้วยลักษณะพิเศษแบบนี้เองจึงทำให้หุ้นกู้นี้ถูกเรียกว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์บ้าง หุ้นกู้ตลอดชีพบ้าง เพราะชะตาชีวิตถูกกำหนดโดยผู้ออก ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ออกต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วงใดๆ ก็ตาม ดังนั้น หากไม่ต้องการถือหุ้นกู้นี้อีกต่อไป ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะทำได้เพียงขายออกไปเท่านั้น ซึ่งอาจขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ได้มา หรือไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรืออาจขายไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นๆ คนยังสนใจหุ้นกู้นี้อยู่หรือไม่ เป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ต้องยอมรับได้

3. ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้ ไม่จำกัดระยะเวลา และไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้ออกอาจไม่จ่ายดอกเบี้ยสำหรับส่วนที่ค้างชำระก็ได้ ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับดอกเบี้ยเมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับผู้ออกเช่นกัน ผู้ถือหุ้นกู้ตัวนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือได้รับดอกเบี้ยล่าช้า นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว ซึ่งจะระบุดอกเบี้ยชัดเจนในช่วง 5 ปีแรก ส่วนในปีต่อๆ ไปจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

4. หุ้นกู้นี้ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (cross-default) คือหากผู้ออกหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ในหุ้นกู้อื่น หรือสัญญาทางการเงินอื่น หรือเจ้าหนี้อื่นของผู้ออกหุ้นกู้ จะไม่ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้เป็นผู้ผิดนัดชำระภายใต้หุ้นกู้นี้ด้วย และเมื่อไม่ผิดนัดชำระ ผู้ถือหุ้นกู้นี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย นอกจากนี้ หากผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้อื่นจนทำให้ขาดสภาพคล่อง ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น