xs
xsm
sm
md
lg

IMF ชี้เศรษฐกิจไทยปี 63 โต 3%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


IMF มองไทยมีศักยภาพ คาดจีดีพีปี 63 โต 3% ระบุใช้นโยบายการเงินการคลังยังสามารถผ่อนคลายได้มากกว่านี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลก ระบุปัญหากีดกันทางการค้ายังคงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย

   นายโจนาธาน ออสทรี รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า IMF ได้ทำรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และไทย โดยปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3% เนื่องจากประเทศไทยยังมีศักยภาพการเติบโตหลายด้าน และต้องใช้นโยบายการเงินการคลังให้ผ่อนคลายได้มากกว่าเดิมอีก เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการปฏิรูปต่างๆ การสนับสนุนการออม รวมถึงยังมีช่องว่างในการใช้เครื่องมือการคลังในการลดแรงกระแทกจากวัฏจักรขาลงของเศรษฐกิจ

สำหรับปัญหาการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังคงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวมทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจของไทยด้วย โดยในปีนี้มองจีดีพีของไทยเติบโต 2.9% ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.5%

“จากการประเมินเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ยืนยันว่า ไทยยังมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงิน และการคลังได้ รวมถึงการจัดการเรื่องดอกเบี้ยที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้แน่นอน”

ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันนั้นมีเพียงพอที่จะรองรับต่อความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนไทยควรตั้งกองทุนความมั่งคั่งหรือไม่นั้น IMF ไม่สามารถประเมินได้

  
ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียในปีนี้ปรับลดประมาณการลงเหลือขยายตัว 5% ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนเมื่อเดือนเมษายน ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.4% และในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 5.1% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 5.4%

สำหรับสาเหตุที่ปรับประมาณการลงนั้น มาจากการค้าและการลงทุนชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ จากมาตรการกีดกันทางการค้าและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคการผลิต

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว และภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้นนั้น แม้จะเป็นปัจจัยช่วยประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย แต่ขณะเดียวกัน อาจส่งผลต่อความเปราะบางทางการเงินของประเทศในภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกภูมิภาค เช่น ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอตัวกว่าคาด ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง (Brexit)

ด้านความเสี่ยงภายในภูมิภาค เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความตึงเครียดภายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลี ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น

  


กำลังโหลดความคิดเห็น