xs
xsm
sm
md
lg

“กรมศุลฯ” เผยปีงบฯ 62 นำเข้ารถยนต์หรูเพิ่ม ตั้งเป้าเก็บรายได้รวม 1.1 แสนล้านในปีงบฯ 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กรมศุลกากร” เผยปริมาณการนำเข้ารถยนต์หรูยี่ห้อบีเอ็มดับบลิว-เบนท์ลี่ในปีงบฯ 62 พุ่งแรงแตะ 102.9% โดยเกิดจากผู้นำเข้าเห็นความชัดเจนในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ราคาที่ใช้คำนวณและผู้ซื้อในไทยยังมีความต้องการซื้อ ด้านภาพรวมผลจัดเก็บรายได้ในปีงบฯ 62 จะมีทั้งสิ้น 1.08 แสนล้านบาท สูงเกินคาด 523 ล้านบาท หรือราว 0.5% ขณะที่ผลจัดเก็บแทนหน่วยงานอื่นมีกว่า 4.7 แสนล้านบาท 79,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.3 พันล้านบาท หรือราว 1.6% ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ 1.1 แสนล้านในปีงบฯ 63

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึงการนำเข้ารถยนต์หรูในช่วงปีงบประมาณ 62 ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีการขยายตัวของการนำเข้ารถยนต์หรูยี่ห้อบีเอ็มดับบลิว-เบนท์ลี่และเมอร์เซเดส-เบนซ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบีเอ็มดับบลิว และเมอร์เซเดสเบนซ์ ซึ่งส่งผลให้การจัดเก็บภาษีรถยนต์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เพิ่มขึ้นถึง 120.9% ขณะที่การจัดเก็บภาษีนำเข้ารถเมอร์เซเดส-เบนซ์นั้นจะเพิ่มขึ้น 1.8%

สำหรับสาเหตุที่มีการนำเข้ารถยนต์หรูที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากในปีงบประมาณ 61 มีการชะลอการนำเข้าเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เข้ามาตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์หรู อีกทั้งกรมศุลกากรได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การใช้ราคารถยนต์เพื่อใช้คำนวณมูลค่าการเสียภาษีใหม่ และเมื่อในปี 62 การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนจึงทำให้ปริมาณการนำเข้ารถยนต์หรูเพิ่มขึ้นอีกครั้งแต่อีกส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากผู้ซื้อในไทยยังมีความต้องการรถยนต์ดังกล่าวอยู่พอสมควร

ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงผลจัดเก็บรายได้กรมศุลกากรโดยภาพรวมในปีงบประมาณ 62 ว่า สามารจัดเก็บได้ 108,523 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8,523 ล้านบาทหรือราว 8.5% และยังสูงกว่าคาดการณ์ 523 ล้านบาท หรือประมาณ 0.5% ทั้งนี้การจัดเก็บอากรขาเข้าในปีงบประมาณที่ผ่านมายังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.2% แม้สถานการณ์การค้าโลกยังคงมีความเสี่ยงสูงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากก็ตาม โดยสินค้านำเข้าที่จัดเก็บอากรได้ในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล มีมูลค่าการจัดเก็บรวมที่ 1.28 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 30% ส่วนประกอบรถยนต์มีมูลค่าจัดเก็บรวม 8.16 พันล้านบาท และรถยนต์โดยสาร 2.1 พันล้านบาท เป็นต้น

ด้านผลการจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่น กรมศุลกากรสามารถจัดเก็บได้เป็นจำนวน 479,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7,330 ล้านบาท หรือราว 1.6% โดยเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 326,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,088 ล้านบาท หรือราว 1% และจัดเก็บภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ จำนวน 106,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,531 ล้านบาท หรือ3.4% อย่างไรก็ตาม นายชัยยุทธ ยังกล่าวด้วยว่าในปีงบประมาณ 63 กรมศุลกากรมีเป้าหมายการจัดเก็บอยู่ที่ 1.11 แสนล้านบาท โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากรได้กำชับให้ผู้บริหารของกรมศุลกากรวางแผนและเร่งรัดการจัดเก็บให้เป็นไปตามเป้า โดยจะให้ความสำคัญต่อภาษีทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ส่วนประกอบรถยนต์ ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และรถยนต์โดยสาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผลจัดเก็บสูงสุด 5 อันดับในปีงบประมาณ 62

ส่วนผลการตรวจพบการกระทำความผิดในปีงบประมาณ 62 นั้น กรมศุลกากรได้ตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากร หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรได้ทั้งสิ้น 32,255 คดี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,784 ล้านบาท แบ่งเป็นจำนวนคดีจากการลักลอบ 20.7% คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิด 20.7% คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบ 65.2% เป็นจำนวนคดีจากการหลีกเลี่ยง 79.3% คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดผิดกรณีหลีกเลี่ยงถึง 34.8% ทั้งนี้ มีสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน และยาเสพติดประเภทโคคาอีน ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก และยาเสพติดประเภทเคตามีน โดยพบการนำเข้ายาเสพติดเช่นใบกระท่อมตามแนวชายแดนภาคตะวันออกมากสุด

นายชัยยุทธ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์โดยผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารและตัวแทนรับชำระ หรือ “ระบบ Bill Payment” ว่าช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 334.37 บาทต่อ 1 ใบขนสินค้า หรือปีละ 286 ล้านบาท และจากสถิติการใช้ระบบดังกล่าวในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินด้วยตนเองเป็นจำนวน 1,848,947 ฉบับ คิดเป็น 99.93% ของจำนวนใบเสร็จรับเงินที่รับชำระด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการระบบ Bill Payment 6 แห่ง และ2 จุดรับชำระ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์จำกัด (มหาชน) และบริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด (7-eleven)


กำลังโหลดความคิดเห็น