xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! จีนกินรวบตลาดเหล็กในไทย ลุ้นงบปี 63 หนุนอุตสาหกรรมก่อสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 นายถาวร เสนเนียม
ส.อุตฯ ก่อสร้างไทย หวังภาครัฐออกแรงขับเคลื่อนการลงทุนผ่านโครงการต่างๆ ลุ้นงบปี 63 เข้าการพิจารณาของสภาฯ เม็ดเงินลงทุนจะมากแค่ไหน ชี้เกือบ 80% เป็นงบประจำ แต่ก็คาดหวังปี 62 มูลค่าการก่อสร้างจะสูงขึ้น 6.5% ด้านนายก ส.อุตฯ ก่อสร้างไทย หวังรัฐเพิ่มสัดส่วนการใช้สินค้าในไทยระดับ 60% ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง เพื่อหนุนวัสดุก่อสร้าง หวั่นจีนกำลังผูกขาดตลาดเหล็ก ฮุบเมกะโปรเจกต์รัฐ

อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งการเติบโตของมูลค่างานก่อสร้างในแต่ละปี จะมีแรงขับเคลื่อนจากงบประมาณลงทุนของภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งผลประโยชน์จากโครงการลงทุนภาครัฐ จะทำให้ภาคธุรกิจอื่นๆ เติบโต เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายในแต่ละเส้นทาง ส่งผลให้ภาคเอกชนในด้านอสังหาริมทรัพย์ และห้างสรรพสินค้าขยายโครงการรับการเติบโตของเมือง แต่หากโครงการของรัฐกระจายไปสู่ภูมิภาค จะเกี่ยวโยงกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะเกิดตามมา

ซึ่งในงาน “Future Construction 2019 : BUILT TO LAST” ที่จัดขึ้น ประธานเปิดงาน นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มูลค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในปี 2562 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 6.5% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็นแรงส่งจากภาครัฐ 9% และจากภาคเอกชน 3.5% ขณะที่ในช่วงปี 2552-2560 ที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยคิดเป็นสัดส่วน 8.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ วงการก่อสร้างไทยยังเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยติดอันดับที่ 32 ของโลก ในการจัดอันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ โดยธนาคารโลก และครองอันดับที่ 2 ของเอเชีย และอันดับที่ 9 ของโลก ในการจัดอันดับดัชนีความสามารถทางการแข่งขันในหมวดโครงสร้างพื้นฐาน โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF)

"ในยุคที่เศรษฐกิจโลกต้องพึ่งพาแรงขับเคลื่อนจากกลุ่มประเทศในแถบตะวันออก ประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างอาเซียน จึงอยู่ในฐานะตัวแปรที่สำคัญ ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย หนึ่งในฟันเฟืองหลักที่สร้างความก้าวหน้าให้แก่ประเทศ จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้กระทรวงคมนาคมจึงมุ่งมั่นยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ทั้งในส่วนของทางหลวง ทางหลวงชนบท และความปลอดภัยของเส้นทาง เพื่อการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC" รมช.คมนาคมกล่าวและว่า

รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินการลงทุนโครงสร้างระบบคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งรถไฟฟ้าในสายต่างๆ งบลงทุนในนโยบายตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ส่วนการขนส่งทางอากาศนั้น กำลังดำเนินการขยายพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิในเฟสที่ 2 รวมถึงสนามบินดอนเมือง และกำลังศึกษาที่จะเพิ่มสนามบินแห่งที่ 3 ขึ้น ในส่วนของภูมิภาค เร่งศึกษาลดความหนาแน่นของการใช้พื้นที่สนามบินแต่ละแห่ง เช่น การขนส่งทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะเพิ่มสนามบินแห่งที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดลำพูน และในแผนระหว่างปี 2561-2567 รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณ 4,500 ล้านบาท สำหรับการขยายสนามบินในภูมิภาครวม 10 สนามบิน เป็นต้น
นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล
นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมฯ มุ่งมั่นส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมสากล และให้เกิดความยั่งยืนใน 3 ด้าน ได้แก่ ประการแรก ด้านแรงงาน ทั้งในด้านความขาดแคลน ด้านคุณภาพทางทักษะ และด้านต้นทุนค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ประการที่สอง ด้านบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนให้ภาคการก่อสร้างไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงนโยบาย การควบคุมราคากลาง ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง มาตรการด้านแรงงาน การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ การควบคุมการแสวงหาผลประโยชน์โดยต่างชาติ และการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลได้แก่ประเทศชาติโดยรวมอย่างแท้จริง และประการที่สาม คือ การปรับใช้นวัตกรรมในงานก่อสร้าง เพื่อยกระดับสายการผลิตและการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำ อีกทั้งประหยัดต้นทุนและเวลา

"อุตสาหกรรมก่อสร้างภาวะปกติ รัฐจะมีการลงทุนในแต่ละปีเฉียด 400,000 ล้านบาท ซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ที่ภาครัฐ ภาคก่อสร้างเอกชนแคร์มากที่สุด คือ รัฐจะต้องลงทุนก่อน แต่ตอนนี้รัฐมีแต่โครงการจะทำ จะทำ ซึ่้งเราก็พยายามติดตามอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการพิจารณางบประมาณประจำปี 2563 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในเดือนตุลาคมนี้ กระบวนการและรายละเอียดของงบประมาณที่จะผ่าน เป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นงบประจำ ซึ่งที่เหลือจะต้องมาแกะดูว่า เป็นงบลงทุนเท่าไหร่ อะไรบ้าง ซึ่งตนมองว่าปัจจัยแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะไม่เอื้อให้เอกชนในการลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฝืดเคือง เรื่องเทรดวอร์ การชุมนุมในฮ่องกงจะมีผลต่อภาคอสังหาฯ ในไทยอย่างไรบ้าง ซึ่งเราประเมินว่า มูลค่าการก่อสร้างไทยในปี 62 เราหวังว่าจะอยู่ระดับ 2 เปอร์เซ็นต์ของจีพีดีได้" นายอังสุรัสมิ์ กล่าว

ห่วงจีนมีอำนาจกำหนดราคาเหล็กในไทย

นางอังสุรัสมิ์ ยังกล่าวด้วยความกลัวว่า การที่บริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของจีน เข้าซื้อกิจการของบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TSTH) นั้น จะส่งผลกระทบต่อราคาในประเทศ เพราะที่ผ่านมา มีการนำเข้าเหล็กจากจีนมากขึ้น และการที่จีนสามารถเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมเหล็กผ่านบริษัทผู้ผลิตเหล็กในไทย จะทำให้จีนเป็นผู้ครองตลาดเหล็ก กำหนดราคาได้

"สิ่งที่เราต้องการเสนอ คือ อยากเห็นคนไทยพึ่งคนไทย ซึ่งเรากำลังจะไปชี้แจงกับกรมบัญชีกลาง เกี่ยวกับข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง ที่จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนถึงการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศในสัดส่วนที่มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นการส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศ ซึ่งเราจะเห็นว่า จีนเข้ามารุกโครงการก่อสร้างภาครัฐจำนวนมาก โครงการรถไฟฟ้า และเข้ามาผูกขาดเรื่องเหล็ก ตอนนี้จีนเข้ามาตีตลาดวัสดุก่อสร้าง"
กำลังโหลดความคิดเห็น