xs
xsm
sm
md
lg

คลังเตรียมจ่ายเงินลดต้นทุนปลูกข้าวนาปี 3 วันข้างหน้า 500 บาทต่อไร่ ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คลังเตรียมจ่ายเงินลดต้นทุนปลูกข้าวนาปี 3 วันข้างหน้า 500 บาทต่อไร่ ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่หอการค้าไทยยื่น 7 ข้อเสนอต่อ รมว.คลัง ผลักดันเศรษฐกิจ การค้า-การลงทุน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังประชุมร่วมคณะทำงานเร่งรัดติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากกระทรวงเกษตรฯ ส่งรายชื่อเกษตรกรลงทะเบียนการปลูกข้าวนาปี 2562/2563 ให้กับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายใน 3 วันข้างหน้า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะได้รับเงินชดเชยต้นทุน 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินตั้งไว้ 25,000 ล้านบาท ธ.ก.ส.จะทยอยส่งเงินเข้าบัญชีหลังจากตรวจสอบรายชื่อถูกต้องแล้ว เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เงินในช่วงปลายปีและลดภาระต้นทุน นอกจากนี้ การช่วยลดต้นทุนเกษตรกรแล้ว ยังมีแบงก์รัฐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส.เตรียมปล่อยสินเชื่อโครงการพิเศษช่วยเหลือรายย่อยในช่วงปลายปี

นอกจากนี้ ยังหารือกับคณะทำงานเตรียมนโยบาย “ชิมช้อปใช้” เตรียมการเปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงิน 1,000 บาท เริ่มเปิดลงทะเบียน 23 กันยายนนี้ ผ่านเว็บไซต์ www.ชิมช้อปใช้.com ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หลังจากเดินหน้าแผนเชิงรุกรับสมัคร มีร้านค้า ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการ 32,000 ราย เมื่อครบกำหนดเปิดลงทะเบียน คาดว่าจะครบตามเป้าหมาย 40,000 ราย ในวันที่ 20 กันยายนนี้ เมื่อรวมกับร้านค้ารายเดิมในโครงการบัตรสวัสดิการฯ จะมีผู้ประกอบการกว่า100,000 รายเข้าร่วมโครงการ ในวันที่ 17 กันยายน 3 หน่วยงานทั้งกรมบัญชีกลาง การท่องเที่ยวฯ ธนาคารกรุงไทยเตรียมเปิดงานใหญ่แนะนำร้านค้ารับชำระการใช้จ่ายเงิน และแผนที่ท่องเที่ยวที่มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ และการส่งเสริมใช้เงินผ่านแอปเป๋าตัง และการรับชำระเงินผ่านแอปถุงเงินของร้านค้า นับเป็นกลไกสำคัญที่ต้องใช้รองรับนโยบายในการช่วยเหลือของภาครัฐเพิ่มเติม ไม่ใช่ทำเพียง 2 เดือนท้ายปีอย่างแน่นอน เพื่อส่งเสริมสังคมไร้เงินสด

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีร้านค้าเป็นห่วงว่า หากเข้าร่วมโครงการ “ชิมช้อปใช้” แล้ว ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม ยืนยันว่าการเติมเงินไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับการท่องเที่ยวจะได้รับเงินคืนกลับมาอีกร้อยละ 15 เป็นเงินงบประมาณที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ชดเชยเพื่อการท่องเที่ยว ไม่เกี่ยวกับภาระภาษีของร้านค้าที่ต้องเสียเพิ่มเติม และยังเป็นช่องทางสร้างรายได้ของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยต้องติดป้าย “ชิมช้อปใช้” เพื่อให้ลูกค้าได้รับทราบ

นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการหารือกับคณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยพร้อมรับข้อเสนอมาพิจารณาและการตั้งคณะทำงานศึกษาร่วมกัน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจร่วมกับภาคเอกชน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ข้อเสนอของภาคเอกชน ในการผลักดันเศรษฐกิจของประทศประกอบด้วย 1.ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว เสนอให้จัดตั้งจุดรับคืนภาษีในเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Downtown VAT Refund) เป็นแบบถาวร หลังจากภาคเอกชนได้ทดลอง (Sand Box) ร่วมกับกรมสรรพากรในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่า มีการคืนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสนอออกมาตรการทางภาษีสำหรับการปรับปรุงโรงแรมและห้องพักเก่า (Renovate) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว เนื่องจากขณะนี้มีภาคเอกชนสนใจนำอาคารเก่าแก่มาปรับปรุงเป็นที่พักรีสอร์ทจำนวนมาก

2.การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ขอให้ขับเคลื่อนและพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ NSW (National Single Window) อย่างสมบูรณ์ โดยกรมศุลกากรทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก และขอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน 3.เร่งออกระเบียบปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีการเตรียมความพร้อมก่อนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้กำหนดนิยามที่ดินทุกประเภทให้ชัดเจน เช่น ที่ดินรกร้าง การทำเกษตร เพื่อให้ท้องถิ่นประเมินจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง เพราะบางครั้งปลูกต้นไม้ไม่กี่ต้นหวังหลีกเลี่ยงภาษี หรือบางครั้งท้องถิ่นอาจประเมินผิดประเภท เพื่อสร้างความชัดเจนกับทุกฝ่าย

4.การอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจพาณิชยนาวี อาทิ ด้านการถ่ายลำและผ่านแดน เพื่อให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็น ASEAN GATEWAY การพิจารณามาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจพาณิชยนาวี วงเงิน 18,000 ล้านบาท ให้มีผลในทางปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง และขอให้กรมศุลกากรร่วมกับภาคเอกชน โดยหอการค้าไทยศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการพิจารณาอนุญาตใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศมาขนส่งในประเทศ นอกจากนี้ ยังขอให้กรมสรรพากรเชิญผู้แทนจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ เข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นต่อการปรับปรุงประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข กรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรฯ เพื่อให้มีความชัดเจนและปฏิบัติได้จริง พร้อมทั้งขอให้แจ้งแนวปฏิบัติด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศตามสัญญาแบบ Time Charter Party ให้ภาคเอกชนได้รับทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อแนวปฏิบัติที่ชัดเจนร่วมกัน รวมถึงขอให้กรมฯ ศึกษารายละเอียดและแนวปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพิจารณาภาษีสำหรับเรือ Super Yacht ต่างชาติ เพื่อบรรเทาผลกระทบกรณีที่ผู้ประกอบการจะต้องรับภาระต้นทุนระหว่างการขอคืนภาษี

5.การสนับสนุนงบประมาณดำเนินมาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้กรมบัญชีกลางดำเนินโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปี 2563 อาทิ โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative : CoST) 6.การร่วมแก้ไขปัญหาจากการจัดเก็บภาษีและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยขอให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (กกร.ร่วมกับกระทรวงการคลัง)

7.การส่งเสริมการค้าชายแดนและข้ามแดน เสนอให้กรมศุลกากรพิจารณาขยายเวลาเปิด-ปิดด่าน ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถขนส่งสินค้าและแก้ปัญหารถแออัดบริเวณหน้าด่านชายแดน เช่น บางด่านปิดเวลา 18.30 น. ขอขยายเพิ่มเป็น 20.00 น. ด่านชายแดนบางแห่งปิดเวลา 20.00 น. ขอขยายเวลาเป็น 22.00 น. บางแห่งปิดเวลา 22.00 น. ขอขยายเวลา 24.00 น. เพื่อสร้างมูลค่าทางการค้าและลงทุนตามแนวชายแดนเพิ่มเติม ประกอบด้วย ด่านช่องสะงำ (ศรีษะเกษ) ด่านสะพานข้ามแม่น้ำแม่สาย (เชียงราย) ด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 (ตาก) ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย) ด่านมุกดาหาร(มุกดาหาร) ด่านช่องเม็ก (อุบลราชธานี) ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม) และด่านท่าลี่ (เลย)


กำลังโหลดความคิดเห็น