xs
xsm
sm
md
lg

kresearch ชี้ข้าวเหนียวขาดตลาด กดดันค่าครองชีพด้านอาหารเพิ่มขึ้น 2.3-3.2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้สถานการณ์ราคาข้าวเหนียวในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยหลักมาจากปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวในรอบนาปี 2561/2562 ลดลง จากการที่เกษตรกรหันไปปลูกข้าวหอมมะลิแทน ประกอบกับผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตในรอบนาปรัง ส่งผลให้ภาพรวมปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวในปี 2561/2562 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.45 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี กดดันให้ราคาข้าวเปลือกเหนียวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาข้าวเหนียวที่ขยับสูงขึ้น เริ่มส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้ประกอบการทั้งห่วงโซ่การผลิต และส่งผ่านผลกระทบดังกล่าวไปสู่ครัวเรือนที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก ทั้งนี้ แม้ว่าข้าวเหนียวจะไม่ใช่อาหารหลักของคนไทยส่วนใหญ่ แต่กว่าร้อยละ 95 ของการผลิตข้าวเหนียวของไทยเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ ดังนั้น ผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาข้าวเหนียวที่เกิดขึ้น จึงมีผลต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคและต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการอาหารที่มีข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบ โดยราคาข้าวเหนียวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือนสิงหาคม 2562 ราคาเฉลี่ยในช่วง ธ.ค.-ส.ค.2562 เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 17.7 (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) เป็นผลจากปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวที่ลดลงตั้งแต่ฤดูเพาะปลูกนาปี 2561/2562 และนาปรัง 2562 เป็นผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวรวมในปี 2561/2562 อยู่ที่ 6.45 ล้านตัน น้อยที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการ คือ

1.สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกเหนียวที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคมปี 2561 ปรับตัวลดลงจากราคาเฉลี่ยที่ 10,636 บาทต่อตัน มาอยู่ที่ 9,389 บาทต่อตัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ซึ่งสวนทางกับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาเฉลี่ยที่ 9,506 บาทต่อตัน ไปเป็น 14,799 บาทต่อตัน ทำให้เกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกข้าวหอมมะลิในฤดูเพาะปลูกนาปี 2561/2562 กระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวในรอบนาปี 2561/2562 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.18 (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า)

2.สถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2561 ถึงปี 2562 สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกข้าวเหนียวนาปรังปี 2562 ประมาณ 6 แสนไร่ กระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวเปลือกกว่า 0.18 ล้านตัน ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวในรอบนาปรัง 2562 ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 9.2 (YoY)

ดังนั้น จากปัจจัยข้างต้นที่กดดันให้ราคาข้าวเปลือกเหนียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่าราคาข้าวเปลือกเหนียวที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2562 จะปรับตัวสูงขึ้นจากราคาเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 40.5 (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า)

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาข้าวเหนียวจะปรับตัวสูงขึ้นครอบคลุมกรอบเวลาอย่างน้อย 2 เดือนในช่วงรอยต่อฤดูเพาะปลูก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าราคาข้าวเปลือกเหนียวน่าจะปรับลดลงในช่วงปลายเดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม 2562 เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี 2562/2563 ประกอบกับผลของราคาข้าวเปลือกเหนียวที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาจกระตุ้นให้เกิดอุปทานข้าวเปลือกเหนียวที่เพิ่มมากขึ้นจากฐานของปีก่อนหน้า ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์น้ำสำหรับการเพาะปลูกมีเพียงพอ โดยประมาณการผลผลิตข้าวเปลือกเหนียว ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 จะอยู่ที่ระดับ 5.12 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาคาดการณ์ข้าวเปลือกเหนียวเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับตัวลงไปอยู่ที่ระดับ 11,900 บาทต่อตัน

ผลต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากราคาข้าวเปลือกเหนียวที่เกษตรขายได้ที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผ่านมายังราคาข้าวสารเหนียวขายส่งร้านค้าปลีกให้เร่งตัวสูงอย่างชัดเจนในเดือนสิงหาคม 2562 โดยปรับสูงขึ้นมาที่ระดับเฉลี่ย 33.8 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นอัตราการเพิ่มถึงร้อยละ 19.6 (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) เทียบกับราคาในช่วงก่อนหน้านี้ที่ค่อนข้างทรงตัวเฉลี่ยที่ราว 28.25 บาท/กิโลกรัม และเนื่องจากในเดือนกันยายน ผลผลิตข้าวเหนียวจะยังไม่ออกสู่ตลาด จึงมีความเป็นได้ว่าราคาข้าวสารเหนียวจะยืนระดับสูงต่อเนื่องจากช่วงปลายเดือนสิงหาคม หรือสูงกว่า 33.8 บาท/กิโลกรัม

ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การเร่งตัวของราคาข้าวสารเหนียวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 จะส่งผลต่อราคาอาหารที่มีข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบ หรือเป็นองค์ประกอบในมื้ออาหาร มีผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าวครัวเรือนอาจเผชิญต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อเดือนราวร้อยละ 2.3-3.2 และส่งผลต่ออัตรา เงินเฟ้อทั่วไปประมาณร้อยละ 0.1

อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารข้างต้นอาจจะมีความแตกต่างกันในรายประเภทสินค้าอาหารและความนิยมบริโภคอาหารของแต่ละพื้นที่ เช่น หากเป็นอาหารประเภทข้าวเหนียวหมูปิ้ง ข้าวเหนียวไก่ย่าง ข้าวเหนียวส้มตำ จะมีข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนไปใช้สินค้าอื่นทดแทน แต่ถ้าผู้บริโภคและผู้ผลิตอาหารสามารถที่จะปรับเปลี่ยนและหาสินค้าอื่นมาทดแทนข้าวสารเหนียวได้ ผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารของครัวเรือนที่มีข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบ หรือเป็นองค์ประกอบในมื้ออาหารก็จะน้อยกว่าร้อยละ 2.3-3.2 ได้

นอกจากนี้ การที่ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค ทั้งในเรื่องของการตรวจสอบสต๊อกข้าวเหนียวตลอดห่วงโซ่ การจัดทำข้าวเหนียวบรรจุถุงจำหน่ายให้แก่ประชาชนในราคาถูกกว่าตลาด ตลอดจนการออกมาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรสำคัญๆ ซึ่งรวมถึงข้าว ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาข้าวเหนียวที่สูงขึ้นได้บ้าง และหากผลผลิตข้าวเหนียวทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไปตามที่มีการประเมินกันไว้ ก็น่าจะทำให้สถานการณ์ราคาข้าวสารเหนียวชะลอตัวลงจากช่วงที่เร่งตัวสูงในเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารจากการเปลี่ยนแปลงของราคาข้าวเหนียวก็น่าที่จะทยอยเบาบางลงในทิศทางที่สอดคล้องกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น