xs
xsm
sm
md
lg

คลังจ่อชง 2 แสนล้านกระตุ้น ศก.ช่วยเกษตรกรประสบภัยแล้ง ประกันรายได้ เติมเงินบัตรคนจนเข้า ครม.เศรษฐกิจพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ครม.เศรษฐกิจเตรียมพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังช่วยทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกรประสบภัยแล้ง หนุนการท่องเที่ยว เติมบัตรสวัสดิการ ช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน รายย่อย และเอสเอ็มอี รวมวงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอยจากสงครามการค้า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังหารือกับคณะผู้แทนสภาธุรกิจ สหรัฐอเมริกา-อาเซียน เกี่ยวกับแนวทางบริการทางการเงิน ว่า นักลงทุนต่างชาติความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา โดยพร้อมเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศและต้องการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี การเงินดิจิทัล โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจย่อมสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ตลาดตราสารหนี้ดอกเบี้ยลดลง การส่งออกมีปัญหา จึงต้องดูแลกำลังซื้อของฐานราก ภาคเกษตรผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง สนับสนุนการปลูกพืชทดแทน ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหลายพื้นที่ เพื่อให้ธุรกิจรายย่อยระดับท้องถิ่นขายสินค้าได้มากขึ้น เมื่อรัฐบาลอัดฉีดเงินผ่านหลายมาตรการ ทั้งงบกลาง เงินทุนจากแบงก์รัฐ และอีกหลายส่วนที่ใช้ลดหย่อนภาษี เมื่อมีการใช้จ่ายของชาวบ้านจะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระกระทรวงการคลังร่วมกับหลายหน่วยงานเตรียมเสนอที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคมนี้ พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากเศรษฐกิจโลกผันผวน และแนวโน้มอาจกระทบเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.มาตรการบรรเทาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เช่น การช่วยเหลือเกษตรกรผ่อนคลายหนี้สินสนับสนุนพิเศษด้านดอกเบี้ย ทั้งสนับสนุนสินเชื่อใหม่และต้นทุนการเพาะปลูก ด้วยการชดเชยการปลูกข้าว 4 ล้านครัวเรือน 500-800 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ วงเงินช่วยเหลือ 57,000 ล้านบาท ส่วนเงินกู้ฉุกเฉินรองรับภัยแล้ง ปล่อยกู้ 500,000 บาทต่อราย ยกเว้นดอกเบี้ยปีแรก รวมวงเงิน 55,000 ล้านบาท

ด้านประกันรายได้ให้เกษตรกรในพืชเศรษฐกิจหลักทั้งข้าวเปลือกเจ้า ประกัน 10,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 15,000 บาทต่อตัน วงเงิน 53,000 ล้านบาท มันสำปะหลัง ยางพารา 60 บาทต่อกิโลกรัม วงเงิน 35,743 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน ราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม วงเงิน 10,000 ล้านบาท รวมช่วยเหลือ 6.23 ล้านครัวเรือน

2.มาตรการดูแลปรับเพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาท รับค่าครองชีพ 200 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง 1,500 บาทต่อคน ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ฝึกอาชีพ 100 บาทต่อคน สำหรับกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี รับค่าครองชีพ 300 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง 1,500 บาทต่อคน ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ฝึกอาชีพ 100 บาทต่อคน

และ 3.มาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศ เช่น กระตุ้นการท่องเที่ยวล่าสุดที่สอดรับยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เล็งสร้างเงินสะพัดท้องถิ่น จากการใช้จ่ายและการชอปสินค้าชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เตรียมมอบเงินให้ 1,500 บาทสำหรับท่องเที่ยวทั่วประเทศ เป้าหมาย 10 ล้านคน ใช้เงิน 15,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเตรียมพิจาณายกเว้นวีซ่าด่านตรวจคนเข้าเมือง Visa On arrival (VOA) ให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 21 ประเทศ หลังจากมาตรการครบกำหนด 31 ตุลาคม 2562 เพื่อจูงใจกลุ่มทัวร์ให้เข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ตลอดจนการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวจีน อินเดีย เข้ามาท่องเที่ยว 15 วัน มีผล 1 พฤศจิกายน 2562-31 ตุลาคม 2563 เป็นเวลา 1 ปี ขณะที่การท่องเที่ยวฯ เตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น การส่งเสริมท่องเที่ยวรายเดือน วันที่ 9 เดือน 9 จัดโปรโมชันลดราคาที่พักหลักร้อยบาทต่อคืน เพื่อดึงยอดเข้ามาใช้จ่ายช่วงท้ายปี

กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการพิเศษช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายเล็กทั่วประเทศเข้าถึงเงินทุน เพื่อรักษาสภาพคล่อง รวมถึงลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้คาดว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ และเชื่อว่าจะสามารถรับมือผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกได้ โดยประเมินว่าชุดมาตรการจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจรวมเพิ่มไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาทในครึ่งหลังของปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น