xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติหนุนตั้งกรรมการร่วมดูแลค่าบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้ว่าฯ ธปท. หนุนตั้งคณะกรรมการร่วมดูแลการเงิน-การคลัง หวังรับมือสงครามการค้า เชื่อไม่แทรกแซงการทำงาน กนง. ด้านลดดอกเบี้ย เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอ สงครามการค้าตึงเครียด

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อรับมือต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเป็นนโยบายภาครัฐจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างประเทศ ความผันผวนทางเศรษฐกิจนั้นยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ควรมีความร่วมมือกันในหลายๆ มิติ และยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อย่างแน่นอน

“การตั้งคณะกรรมการเป็นเรื่องที่ดี ทำให้มาตรการต่างๆ ในการรับมือจากการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เรื่องของความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลก จะสามารถทำงานได้อย่างชัดเจน และอยู่บนความเข้าใจที่ตรงกัน” นายวิรไท กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีคณะกรรมการอีกชุดที่ ธปท.ได้เคยเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนเก่า โดยได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินทั้งระบบ เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยยังขาดกลไกของการมองในเรื่องนี้ เนื่องจาก ธปท.กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก และนอนแบงก์บางประเภท ก.ล.ต.กำกับดูแลตลาดทุน คปภ.ดูแลประกันภัย ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ดูแลสหกรณ์ กระทรวงการคลังดูแลนอนแบงก์บางประเภท แต่หากจะดูระบบการเงินจะมีความเชื่อมโยงกันสูง ดังนั้น ธปท.จึงได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการที่เสนอในขณะนี้

“คณะกรรมการเสถียรภาพระบบการเงินเราเสนอตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่อาจจะมีการผนวกกับบางเรื่องที่มีความกังวลในขณะนี้ เช่น เรื่องสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางอ่อนไหวมากขึ้น จากบรรยากาศกีดกันทางการค้า หรือความผันผวนต่างๆ แต่คณะกรรมการที่จะต้องมีอันแรก คือ เรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน เพื่อดูให้แน่ใจว่า การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเฉพาะในภาคที่ยังไม่ค่อยมีผู้กำกับดูแลที่ชัดเจน หรือธนาคารเงา ได้รับการกำกับดูแลในทิศทางเดียวกัน และลดความเสี่ยงในระยะยาวได้ แต่ยืนยันว่า คณะกรรมการเสถียรภาพ กับคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องความผันผวนเป็นคนละคณะกรรมการกัน” นายวิรไท กล่าว

ส่วนการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อครั้งที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากคณะกรรมการ เห็นพัฒนาการของเศรษฐกิจที่ต่างไปจากกรอบที่เคยประมาณการไว้ จากหลายปัจจัย ทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีบรรยากาศทางการค้าที่ตึงเครียดมากขึ้น ประกอบกับเริ่มเห็นผลกระทบจากราคาพลังงานที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อ โดยแรงกดดันเงินเฟ้อผ่อนไปมาก และอาจทำให้เงินเฟ้อปีนี้ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อที่ประมาณการไว้ที่ 1-4% อันที่สอง เริ่มเห็นภาคการเงิน โดยเฉพาะจากภาคการส่งออกมีการชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจ และจากภาพบรรยากาศกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้นอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปที่การจ้างงาน การบริโภค การลงทุนภายในประเทศได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น กนง.จึงตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง

“ถ้าดูในแถลงของคณะกรรมการ เรายังให้ความสำคัญต่อเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน แต่มีมาตรการบางอย่างเริ่มส่งผลในทิศทางที่เราต้องการ แต่ในภาพที่อัตราดอกเบี้ยจะต่ำต่อเนื่อง ยิ่งจำเป็นเราต้องดูมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้มีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร และเพื่อไม่ให้สร้างความเปราะบางให้แก่เศรษฐกิจในอนาคต เป็นตัวอย่างที่ต้องผสานเครื่องมือและนโยบายต่างๆ นโยบายการเงิน นโยบายดอกเบี้ย และนโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงิน” นายวิรไท กล่าว

สำหรับในงานสัมมนา Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 ในวันนี้นั้น ยืนยันว่า ความยั่งยืนของสถาบันการเงิน การธนาคารเพื่อความยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง ธปท.ได้สนับสนุนให้สถาบันการเงินเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเงินไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต ทำให้คาดหวังว่าสถาบันการเงินจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และตระหนักรู้เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่ออีเอสจี ซึ่งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประชาชน เพราะหากสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในอนาคตคุณภาพสินเชื่ออาจกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ได้ในที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้สนับสนุนให้สถาบันการเงินขับเคลื่อนธนาคารเพื่อความยั่งยืนแล้ว โดยเริ่มทำจากการให้ธนาคารพาณิชย์รับเปิดบัญชีเงินฝากขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อย ได้มีบัญชีธนาคารแบบไม่มีค่าใช้จ่ายหรือไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ซึ่งปัจจุบันผ่านไป 1 ปี มีจำนวนบัญชีขั้นพื้นฐานอีกกว่า 1 ล้านบัญชี และสถาบันการเงินมีการตั้งฝ่ายงานในการส่งเสริมธนาคารเพื่อความยั่งยืน ปล่อยสินเชื่อบนความรับผิดชอบ ซึ่งการลงนามระหว่างสมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงิน และแบงก์รัฐ เป็นแนวปฏิบัติให้แต่ละสถาบันการเงินปรับเปลี่ยนวิธีการและให้เปิดเผยข้อมูลที่มีผลต่อสังคมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น