xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้ามินบู บ่อทองของ “SCN-ECF-META”??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"โรงไฟฟ้ามินบู มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตที่ดีให้กับชาวพม่า เป็นโรงไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานสูงสุดระดับโลก เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าอย่างไม่ขัดสนของชาวเนปิดอว์ รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในเมืองนี้ ด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการได้รับการคัดสรรและออกแบบอย่างดีที่สุด และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุดเท่านั้น"

พลังงานทดแทนถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งและได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพราะเป็นพลังงานสะอาด เพราะวัตถุดิบที่นำมาใช้นั้นเป็นวัตถุที่เหลือจากการผลิตหรือการใช้งานในส่วนอื่นๆ ไปแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายแห่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ประเทศในภูมิภาคเอเชียก็เช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยเองก็ยังต้องพัฒนาและหาหนทางเพื่อเพิ่มพลังงานจากทุกขบวนการผลิต พลังงานแสงอาทิตย์คืออีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาเพื่อให้เกิดพลังงานนำมาใช้เป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันจะพบว่ารัฐส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน "โซลาร์ภาคประชาชน" จึงเกิดขึ้นตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต้นปี 2562 ตามแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าฉบับใหม่ PDP2018 ในการเสริมสร้างระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่มั่นคง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในราคาที่ส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสามารถแข่งขันได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีตามแนวพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 ให้เป็นระบบไฟฟ้าทันสมัยให้สามารถรองรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและมาตรการอนุรักษ์พลังงานได้สูงถึง 35% ในปี 2580

ประเทศเพื่อนบ้านของไทยต่างก็พัฒนาตัวเองขึ้นมา หลังจากเปิดประเทศและให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปมากขึ้น ขณะที่ระบบสาธารณูปโภคยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะไฟฟ้าในประเทศกำลังพัฒนานับว่าไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งต่อการพัฒนาประเทศ

พม่า คือเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ไทยและกำลังเข้าสู่การพัฒนาต่อเนื่อง ไฟฟ้าคือปัจจัยหนึ่งที่คนพม่ายังต้องการแสงสว่าง โดยเฉพาะเนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่าที่ไฟฟ้ามักจะดับทุก 30 นาที หรือบ่อยไปที่กระแสไฟฟ้าไม่ต่อเนื่อง ดับๆ ติดๆ เสมอมา ดังนั้น ไฟฟ้าจึงถือว่าจำเป็นต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในเมืองนี้มาก

"โรงไฟฟ้ามินบู" เป็นโครงการที่เกิดขึ้นด้วยเป้าหมายหลักของผู้บริหาร คือ การมีไฟฟ้าใช้อย่างไม่ขัดสนเหมือนก่อน และโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของชาวเนปิดอว์ได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าในอนาคต รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและอื่นๆ

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวที่มีมูลค่าการลงทุนถึง 1 หมื่นล้านบาท ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) หรือ GEPT มีผู้ลงทุนหลักคือ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ถือหุ้น 20%, บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) ถือหุ้น 12%, บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) 30% และ Noble Planet หรือ NP สัญชาติสิงคโปร์ถือหุ้น 38% ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ SCN จะซื้อหุ้นเพิ่มอีก

โดยโครงการนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 220 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างในเฟสถัดไป 2, 3 และ 4 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 คาดว่ารายได้รวมของโครงการดังกล่าวประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี ภายหลังหักค่าใช้จ่ายและต้นทุนดอกเบี้ยจะมีอัตรากำไรสุทธิของโครงการเฉลี่ยเกือบ 50% เลยทีเดียว

สำหรับโรงไฟฟ้ามินบูนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเริ่มต้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยโครงการได้รับการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานระดับสากล อีกทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกำลังการผลิตสูงถึง 220 เมกกะวัตต์ พื้นที่รวมของโครงการมีขนาด 836 เอเคอร์ หรือเท่ากับ 2,115 ไร่ ซึ่งได้รับสิทธิเช่าพื้นที่จากรัฐบาล และบริษัทในประเทศพม่า และเมื่อมีการดำเนินการจ่ายไฟแล้ว จะขายให้กับหน่วยงานจัดหาพลังงานภายใต้กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน (Electric Power Generation Enterprise (EPGE)) ของรัฐบาลพม่ามีกำลังการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 350,000,000 kWh ต่อปี เทียบเท่าการใช้ไฟฟ้า 2 แสนครัวเรือน ความสำเร็จของโครงการจะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ซึ่งโครงการจะกลายเป็นแบบอย่างและความภาคภูมิใจของประเทศพม่าด้วย

นายออง ทีฮา ประธานกรรมการ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวไว้ว่า บริษัทให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูให้ประสบความสำเร็จ และมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตที่ดีให้แก่ชาวพม่า โดยจะส่งมอบโรงไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานสูงสุดระดับโลก อุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการได้รับการคัดสรรและออกแบบอย่างดีที่สุด และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุดเท่านั้น

ทั้งนี้ เฟสแรกของโครงการที่สร้างขึ้นบนเนื้อที่ 160 เอเคอร์ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 50 MWDC หรือ 40 MWAC พร้อมติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ 160,000 แผง พร้อมกับการก่อสร้างสถานีจ่ายไฟย่อยขนาด 220 MVA เพื่อใช้ส่งไฟฟ้าเข้ากริดไฟฟ้าของประเทศ (National grid) โดยทางโครงการได้วางแผนล่วงหน้า และดำเนินการก่อสร้างสายส่งเข้า/ออก ขนาด 230kV (Transmission Line) เสร็จสิ้นพร้อมทั้งได้เชื่อมต่อกับกริดไฟฟ้าของประเทศฯ และส่งมอบให้ EPGE ซึ่งได้รับสัมปทานเพื่อพัฒนาและดำเนินงานแบบ BOT(Built - Operate - Transfer) ระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ 0.1275 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ kWh


ก่อนหน้านี้โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 61 แต่ล่าช้ามาถึงกลางปี 62 ซึ่งผู้บริหารต่างคาดหวังและมองถึงรายได้ที่จะเข้ามาหนุนผลประกอบการให้พุ่งแรงแต่ก็พลาดมาหลายไตรมาส ส่งผลให้ต้องแบกภาระต้นทุนไปพลางๆ โดยเฉพาะ META ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวนี้ด้วย

ล่าสุดโรงไฟฟ้ามินบูนี้ได้ทำการผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบแล้วเมื่อ 28 มิถุนายน 62 ที่ผ่านมาแม้ว่าการ COD จะล่าช้าไปจากกำหนดการเดิมไปหลายเดือน เพราะเส้นทางการขนส่งอุปกรณ์การก่อสร้างที่ลำบากและห่างไกลจากตัวเมืองมาก บางช่วงต้องซ่อมถนนเพื่อให้สามารถรองรับกับน้ำหนักของอุปกรณ์ที่ขนขึ้นไป อย่างไรก็ดี ทุกอย่างลุล่วงเป็นไปด้วยดีและดำเนินการได้อย่างพอใจในวันนี้

อย่างไรก็ดี จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อแผนงานในอนาคตของบริษัทที่ร่วมทุนร่วมแรงลงขันกันมาแต่เริ่มแรก และทำให้บางบริษัทที่เคยถือหุ้นขายหุ้นออกมาให้พันธมิตรคนใหม่เข้ามาร่วมลงขัน และวันนี้ทุกอย่างลงตัว ซึ่งผู้บริหารหนุ่มต่างประกาศคล้ายเป็นสัญญาใจต่อกันว่า จะมีการร่วมกันทำงานในอนาคตอีกแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น