xs
xsm
sm
md
lg

“รื่นวดี” ประสาน 10 ทิศ ยกเครื่อง ก.ล.ต.สู่องค์กรดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"รื่นวดี สุวรรณมงคล" เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดเผยวิสัยทัศน์ต่อทิศทางนโยบายการทำงานต่อ "I-Business" ว่าเป็นความโชคดีของการได้มาทำหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งหลังจากที่เสร็จสิ้นกระบวนการสรรหาและได้มีการประกาศชื่อล่วงหน้าก่อนที่จะมารับตำแหน่ง ทำให้มีเวลาในการศึกษากระบวนการทำงานและวางแผนนโยบายตลอดจนถึงขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเมื่อเข้ามารับตำแหน่งแล้วก็ได้มีการนำข้อมูลและแผนงานใหม่ๆ ที่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้านั้นเสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.พิจารณาเพื่อให้ขับเคลื่อนได้รวดเร็วมากขึ้น สอดคล้องกับเทคโนโลยีการลงทุนใหม่ๆ ในโลกปัจจุบัน

เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบันทุกอย่างล้วนพึ่งพาเทคโนโลยี และแนวทางหรือกรอบในการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ถือเป็นสำคัญ การช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อชี้ช่องทางแหล่งเงินทุน ตลอดจนการให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงการหาเงินทุนในระบบ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยุคนี้ ก.ล.ต.ถือว่ามีบทบาทไม่น้อย และแผนงานของ ก.ล.ต.ที่จะให้ประชาชนเข้าถึง ตลอดจนสนับสนุนพัฒนาตลาดทุนไทย อีกทางหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่ทำต่อเนื่องมา

“ผลักดัน SME ใหม่มีช่องทางแหล่งระดมทุน”

จากที่ได้มีการนำเสนอไปบ้างแล้วในเรื่องการสร้างแหล่งระดมทุนให้แก่ผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือ SME ที่เป็น Real Sector ที่ประสบปัญหาทางการเงินได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้น หากพิจารณาถึงเกณฑ์การระดมทุนในตลาดแรกปัจจุบันนี้ถือว่ายังไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือรายย่อยมากนัก เพราะยังมีกฎเกณฑ์ด้านผลประกอบการรายได้และกำไรย้อนหลัง 3 ปี ตามหลักเกณฑ์ทางบัญชีอยู่ เพราะหากมองภาพธุรกิจในประเทศ บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน ที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจมีอยู่จำนวนมาก และมีศักยภาพ แต่หลายแห่งยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุนในตลาดแรกได้เพราะติดในเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่ โดยจะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้เมื่อไม่สามารถเข้าถึงการระดมทุนในตลาดแรกได้ ก็จะเลี่ยงไปอาศัยการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องจากสถาบันการเงินเป็นหลัก และหากสามารถแก้ไขปัญหาช่องว่างตรงนี้ได้ ก็คาดว่าในอนาคตจะมีผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เข้าสู่แหล่งระดมทุนได้มากขึ้น โดยล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาปรับเกณฑ์หุ้นสามัญเสนอขายแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ให้เหมาะสมกับธุรกิจ SME เนื่องจากเกณฑ์เดิมไม่เอื้อให้ธุรกิจ SME เข้าระดมทุน

“เพิ่มโอกาสให้ประชาชนในการเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น”

ที่ผ่านมาจากการพูดคุยกับหลายๆ หน่วยงานด้านตลาดทุน จะเห็นได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของการลงทุนยังอยู่ในวงแคบๆ ทำให้มองเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้รับรู้เรื่องความสำคัญของการลงทุนยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนทั่วๆ ไปยังรู้จักกับ ก.ล.ต.ได้ไม่เท่ากับตลาดหลักทรัพย์ ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ก.ล.ต.จะดูในภาพใหญ่เพราะการลงทุนมีมากกว่าหุ้น ยังมีการลงทุนอื่นๆ อีกหลายประเภท ทั้งความเสี่ยงมาก ความเสี่ยงน้อย ขึ้นอยู่กับลักษณะและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนนั้นๆ และได้มีการเสนอต่อบอร์ด ก.ล.ต.ที่จะเปิดสาขาสำนักงานย่อยของ ก.ล.ต.ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองจังหวัดที่สำคัญๆ ในแต่ละภาคทั้งภาคเหนือ อีสาน ใต้ และตะวันออก เพราะในกฎหมายหลักทรัพย์ระบุให้สามารถจัดตั้งสำนักสาขาในต่างจังหวัดได้ ซึ่งพิจารณาจากจำนวนบัญชีนักลงทุนในหุ้นปัจจุบันที่ 1.5 ล้านบัญชี บัญชีนักลงทุนกองทุนรวมประมาณ 1.8 ล้านบัญชี จากจำนวนประชากรวัยทำงานกว่า 70 ล้านคนที่จะสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการออม และการสร้างหลักประกันสำรองไว้ใช้เมื่อยามเกษียณ สอดคล้องต่อเนื่องกับยุทธศาสตร์ที่ คุณรพี สุจริตกุล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.ได้ทำไว้ หากมองในมุมกลับกัน ถ้าทำงานอยู่ในจุดศูนย์กลาง เพียงแต่ส่งข่าวไปยังภูมิภาคต่างๆ ก็สื่อสารกันได้ในระดับหนึ่ง แต่จะไม่ได้รับรู้ถึงปัญหาและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในภูมิภาคท้องถิ่นนั้นๆ ได้ชัดเจน แต่ด้วยความที่เป็นโครงการแรก ทางบอร์ด ก.ล.ต.ไม่ได้ขัดข้องในหลักการที่เสนอ แต่ก็มีข้อสังเกตว่าหากเปิดสาขาในต่างจังหวัดลูกค้าอาจจะน้อยเกินไป และเกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายขึ้น จึงอยากให้จัดเป็นโรดโชว์ จึงได้ปรับจากการจัดตั้งสาขาเป็น “คาราวาน ก.ล.ต.สู่ภูมิภาค” โดยจังหวัดเป้าหมายในภูมิภาคแรกที่เล็งไว้คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น ระยอง และสงขลา ซึ่งหลังจากนั้นก็จะกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ ต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สถาบันการเงินต่างๆ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นจังหวัดนั้นๆ โดยวัตถุประสงค์หลักจะเน้น 1. ให้กลุ่มธุรกิจขนาดย่อมได้รู้จักถึงตลาดทุนว่าจะเป็นช่องทางการระดมทุน ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นฐานของการลงทุนเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น 2. สำหรับผู้มีเงินออม และไม่มีเงินออม จะวางแผนลงทุนรับวัยเกษียณอย่างไร 3. ส่งเสริมความรู้สร้างภูมิคุ้มกันในการลงทุนอย่างถูกต้อง ทั้งการปกป้อง และคุ้มครอง ไม่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงของมิจฉาชีพที่จะเข้ามาในรูปแบบต่างๆ

“หนึ่งในนโยบายที่จะขับเคลื่อน ก.ล.ต.ไปสู่ความเป็นองค์กรที่ประชาชนเข้าถึงได้ คือการส่งเสริมความรู้ จัดสัมมนาหลากหลาย ที่กำลังจะเปิดสัมมนาเร็วๆ นี้คือ Class Action ซึ่งได้มีการยกร่างแก้กฎหมายปี 2558 เพื่อเยียวยานักลงทุน ซึ่งในข้อกฎหมายฉบับนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การเสียหายในตลาดหลักทรัพย์ จำนวนนักลงทุนที่มีมากสามารถมาร่วมกันฟ้องได้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2558-2561 ยังไม่มีนักลงทุนผู้เสียหายยื่นฟ้องเรื่องนี้เลย โดยหากพิจารณาในส่วนการดำเนินการทางกฎหมายไม่ได้ยากเลย เพราะทางศาลมีนิติกรทางกฎหมายพร้อมที่จะเขียนคำฟ้องให้ แต่ประเด็นสำคัญคือการรับรู้การมีอยู่ของกฎหมายที่จะปกป้องนักลงทุนของนักลงทุนนั้นยังมีจำนวนน้อยที่รับทราบในส่วนนี้ แม้จะมีการพูดคุยกับทางสมาคมผู้ส่งเสริมการลงทุนไทยบ้างแล้วแต่ยังติดปัญหาในเรื่องความเข้าใจในข้อกฎหมาย ซึ่งสิ่งที่ ก.ล.ต.กำลังจะเปิดสัมมนา Class Action ก็เพื่อให้นักลงทุน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน และประชาชนทั่วไปได้รับความรู้และเข้าใจถึงการพิทักษ์สิทธิตัวเองในการลงทุน”

โดยรูปแบบของ “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม” หรือ Class Action นี้มีใช้อยู่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย จีน และบราซิล นำมาใช้บังคับเนื่องจากเห็นว่าเป็นกลไกที่จะช่วยให้ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะรายย่อยสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่กระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยลักษณะสำคัญของ Class Action ก็คือ ผู้เสียหายคนเดียวหรือหลายคน ฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่ก่อเหตุ โดยขอให้ศาลดำเนินคดีแบบ Class Action เนื่องจากกรณีที่ฟ้องนี้มีผู้เสียหายรายอื่นที่อยู่ภายใต้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน (common law and common fact) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเมื่อศาลตัดสินหรือพิพากษาคดีแล้ว ผลก็จะผูกพันผู้เสียหายรายอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ด้วย โดยหากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะร่วมเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มกฎหมายก็เปิดช่องให้สามารถขอออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มได้ (Opt Out) เดิมทีนั้น ก.ล.ต. เสนอร่างกฎหมายเพื่อการฟ้องร้องในคดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์ แต่ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นควรให้กฎหมายครอบคลุมไปถึงคดีประเภทอื่นด้วย ได้แก่ คดีละเมิด คดีผิดสัญญา คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน และการแข่งขันทางการค้า

“ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ดิจิทัล”

หากพิจารณาถึงองคาพยพภายในองค์กรของ ก.ล.ต. บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน หรือองค์กรต่างๆที่เกี่ยวเนื่องด้วย ซึ่งองค์กรจะต้องมีแม่ทัพในการทำงานด้านต่างๆ ไม่ใช้ให้เลขาธิการต้องลงไปเล่นทุกเรื่อง เปรียบง่ายกับบริษัทเอกชนที่จะมีแม่ทัพฝ่ายต่างๆ นอกจาก CEO แล้วยังมี CFO,CIO หรือตำแหน่งอื่นๆตามแต่ประเภทของธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งก็ได้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่จะทำงานร่วมกันกับหน่วยงานดิจิทัลภาครัฐทั้งหมด ผลักดันงานด้านนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะปัจจุบันนี้ดิจิทัลถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันแทบทุกด้าน แม้แต่ทางด้านตลาดทุนและการเงินด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากนั้นยังมีในส่วนของ “Ai และการบังคับใช้กฏหมาย” ซึ่งหากมี Ai เข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือในการประมวลผล พิจารณาตามหลักเกณฑ์และฐานข้อมูลการกระทำความผิด จะทำให้การบังคับใช้กฏหมายเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทย”

ได้มีการเสนอต่อบอร์ด ก.ล.ต. และได้มีการอนุมัติจัดตั้งอนุกรรมการแข่งขันของตลาดทุนไทย โดยได้มีการทาบทาบคุณเทวินทร์ วงศ์วานิช ซึ่งเป็นประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ที่เป็นศูนย์รวมของบรรดานักบริหาร ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และประเมินความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจต่างๆในประเทศไทย มาเป็นประธานคณะอนุกรรมการ และผู้บริหารที่ทำงานด้านธุรกิจการเงินในต่างประเทศ มาร่วมกันทำงานเพื่อที่จะขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะต้องศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยหากเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นเก่าแก่ เช่นในสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานว่าด้วยศูนย์กลางศึกษาการแข่งขันของตลาดทุนในประเทศ เพื่อพิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อน และช่องโหว่ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานด้านนี้มาวางแผนพัฒนา และผลักดันไปสู่การทำงานเชิงรุกเพื่อแข่งขันในระดับสากล


“บูรณาการเชิงรุกประสานสิบทิศ”

อีกประการหนึ่งจากประสบการณ์ในการทำงานกรมบังคับคดี ซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งที่ใกล้เคียงกันกับ ก.ล.ต. คือการกำกับดูแล และบังคับใช้กฏหมาย จึงได้ปรึกษากับทางบอร์ด ก.ล.ต. ที่จะทำงานบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐทั้งจากกระทรวงยุติธรรม เช่นกรมบังคับคดี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI โดยจะเริ่มจากการสืบสวนสำนวนในคดีร่วมกัน ซึ่งในข้อกฏหมายไม่ได้มีการบังคับห้าม แต่ที่ผ่านมาหน่วยงาน ก.ล.ต. ไม่ได้มีการทำงานร่วมกันกับทั้ง DSI ,ปปง.,หรือ กรมบังคับคดีในลักษณะงานแบบนี้ เพราะหากเป็นการทำงานในรูปแบบเดิมเมื่อ ก.ล.ต. ส่งต่อไปให้หน่วยงานต่างๆ ก็มักจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทำให้การรับรู้และทำความเข้าใจร่วมกัน ตรงกัน ต่อคดีที่พิจารณาล่าช้าออกไป ซึ่งหากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น มีการทำงานร่วมกัน พร้อมๆกันไป ก็จะสามารถลดช่องว่างในกระบวนการทำงานลงได้มาก และมีประสิทธิภาพได้รวดเร็วขึ้น นอกจากทาง ก.ล.ต. ยังได้ขอความร่วมมือไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในการเข้ามาช่วยตรวจสอบหลักฐานด้านธุรกรรมต่างๆ ในทุกรูปแบบ เพื่อให้กระบวนการบังคับใช้กฏหมาย มีความเที่ยงตรง ยุติธรรมต่อทุกฝ่ายมากที่สุด จากการบังคับใช้กฏหมายหลักทรัพย์ไทยใน 3 ระบบคือ 1.อาญา 2.เปรียบเทียบปรับ และ 3.มาตรการบังคับทางแพ่ง

นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะเข้าไปพบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. เพื่อประสานการทำงานร่วมกันในการรวบรวมหลักฐานการกระทำผิดและดำเนินคดีต่อมิจฉาชีพทั้งไทยและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการประชุมร่วมกับผู้บริหารและผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย เพื่อบูรณาการความร่วมมือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงให้ประชาชนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงดำเนินการเพื่อเพิ่มเครือข่ายในการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และคดีที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดหลักทรัพย์หรือคดีฉ้อโกงในรูปแบบแชร์ลูกโซ่คริปโต หรือ ดิจิทัลโทเค่น ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ และอาจมีการพลิกแพลงรูปแบบใหม่ๆที่จะเกิดมีขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกันทาง ก.ล.ต. ก็ยังได้มีการพิจารณาถึงข้อกฏหมายเดิมที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ตามวาระ เพื่อให้เหมาะสมและมีความทันสมัยเทียบเท่าตลาดทุนอื่นๆ ตลอดจนถึงการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการการศึกษาความเป็นไปได้ และเตรียมที่จะเสนอ เช่น มาตรการคุ้มครองพยาน และการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน หรือ Investor Protection Fundในลักษณะกองทุนเพื่อเยียวยาและคุ้มครองผู้ลงทุนครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากลงทุนในทุกๆ สินทรัพย์ ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล คาดว่ามีความชัดเจนใน 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะต้องแก้ไขกฎหมายในมาตราไหนหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการหามาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ กฎหมายหลักทรัพย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในส่วนของการพิจารณาความผิดของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นไปในลักษณะมูลฐานความผิดคาบเกี่ยวระหว่าง พรบ.หลักทรัพย์ และ พรบ.บริษัทมหาชน ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า โดยจากนี้ ก.ล.ต.ได้มีการวางแผนที่จะตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน อีกทั้งยังได้มีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กรมบังคับคดี ฯลฯ เพื่อประสานการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น

“เดินหน้าขยายตลาดทุนต่างประเทศ”

ในส่วนงานด้านความร่วมมือและส่งเสริมงานด้านต่างประเทศของ ก.ล.ต. ได้มีการเตรียมทีมคณะผู้บริหารระดับสูงที่จะเดินสายเข้าพบกับคณะผู้บริหารด้านตลาดทุนของประเทศต่างๆ เช่น ก.ล.ต. ประเทศกัมพูชา , เมียนมา และ สปป.ลาว เพื่อศึกษาการออกผลิตภัณฑ์ด้านตลาดทุนร่วมกัน เช่น การจดทะเบียนบริษัท 2 ตลาดหลักทรัพย์ หรือ ออกใบแทนหลักทรัพย์โดยมีหุ้นของบริษัทเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง (DR ) เป็นต้น ขณะเดียวกันผ่านมาก็ได้มีการเดินทางไปหารือกับ ก.ล.ต. ประเทศฮ่องกง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกัน ในการเชื่อมโยงการซื้อขายกองทุนข้ามประเทศ ตามแผนเชื่อมโยงการลงทุนเดิมตั้งแต่ปี 2547 เพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว ในการขยายโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ตลาดทุนของไทยยกระดับไปสู่เวทีโลกมากขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น