xs
xsm
sm
md
lg

กนง.และ กนส.กังวล 4 ปัจจัยเสี่ยงต่อ ศก.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยผลประชุม กนง.-กนส. จับตา 4 ปัจจัย หนี้ครัวเรือนสูง ผลกระทบมาตรการ LTV สหกรณ์ออมทรัพย์ และพฤติกรรมแสวงหากำไรสูง เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ และช่องว่างให้ประชาชนถูกหลอกลงทุนในแชร์ลูกโซ่ และเงินดิจิทัล

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยที่ประชุมให้ความสาคัญกับ 4 ประเด็นหลัก คือ 1. สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังน่ากังวลโดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง การก่อหนี้ครัวเรือนมีสัญญาณกลับมาเร่งขึ้นโดยเฉพาะจากสินเชื่อหมวดรถยนต์ รวมทั้งพบว่าธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่มิใช่ธนาคารแข่งขันกันรุนแรงขึ้นในตลาดสินเชื่อรายย่อย มีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่หย่อนลง ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นว่ากังวลว่าหนี้ครัวเรือนเป็นประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อระบบการเงินไทย หากไม่เร่งดูแลโดยเร็วจะก่อตัวเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนยังต้องระมัดระวังผลกระทบจากการกำกับดูแลที่เข้มงวดไม่เท่ากัน อาจส่งผลให้กิจกรรมการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงย้ายออกไปยังผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่นอกการกำกับดูแลมากขึ้น จึงเห็นควรให้พิจารณาแนวนโยบายที่ดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างครอบคลุมโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง

ที่ประชุมยังหารือเกี่ยวกับตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วง 5 เดือนแรกของปียังขยายตัวได้ แม้ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่จะเริ่มชะลอลง หลังจากเร่งตัวไปในช่วงก่อนหน้า ส่วนการปรับตัวในตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ( LTV) มีผลบังคับใช้ พบว่าโดยรวมเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้จำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ที่ปรับลดลงมาจากกลุ่มที่ผ่อนที่อยู่อาศัยพร้อมกัน 2 หลังเป็นต้นไป โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวสูง สะท้อนภาวะการเก็งกำไรที่ชะลอลง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อรัดกุมขึ้น ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการและปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับภาวะตลาดมากขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ติดตามผลของมาตรการ LTV การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาวะอุปทานคงค้างในระยะต่อไป

ส่วนเรื่องที่ 3 คือ สหกรณ์ออมทรัพย์มีสินทรัพย์ที่ขยายตัวต่อเนื่องและมีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้นในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับการกำกับดูแล แต่ที่ประชุมเห็นว่าการออกกฎกระทรวงประกอบพระราชบัญญัติสหกรณ์ยังมีความล่าช้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งผลักดันให้หลักเกณฑ์ส่วนที่สำคัญโดยเฉพาะด้านเครดิต สภาพคล่อง และการก่อหนี้ของลูกหนี้ครัวเรือน ออกบังคับใช้ได้โดยเร็วเพื่อดูแลความเสี่ยงในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ขณะที่เรื่องที่ 4 คือ พฤติกรรม search for yield ยังมีต่อเนื่องอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ธุรกิจประกันภัยลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น กองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีกำหนดอายุโครงการ ยังลงทุนกระจุกตัวสูงในบางประเทศและผู้ออกตราสารบางราย

ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ขยายการลงทุนออกจากธุรกิจหลักดั้งเดิมและมีโครงสร้างกลุ่มธุรกิจที่ซับซ้อน ทำให้การประเมินความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ทำได้ยากขึ้น ส่วนภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยังต้องติดตามปัญหาการหลอกลวงประชาชนให้ลงทุนในแชร์ลูกโซ่และเงินดิจิทัลปลอมโดยจูงใจด้วยผลตอบแทนที่สูงเกินจริง ดังนั้น ที่ประชุมประเมินว่าความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น