xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT​ออกแคมเปญ​"คนมีเครดิต" กระตุ้นยอดรายย่อย​-รับLTV ฉุดยอดกู้ซื้อ​บ้าน​

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางสาว​อรอนงค์​ อุดมก้านตรง​ ผู้ช่วย​กรรมการผู้จัดการ​ใหญ่​ ธนาคาร​ซี​ไอเอ็มบี​ไทย​ (CIMBT​)​เปิดเผย​ว่า​ ในส่วน​ของ​สินเชื่อ​รายย่อย​ปีนี้​ ธนาคาร​ได้ตั้งเป้ายอดสินเชื่อ​ปล่อย​ใหม่ที่​ 35,000 - 38,000 ล้านบาท​ เติบโต​กว่า​ปีก่อน​หน้า​ที่มี 28,000 ล้านบาท​ แบ่งเป็น​ส่วนของสินเชื่อ​ที่มี​หลักประกัน​ 25,000-28,000 ล้านบาท​โดย​ส่วนใหญ่​ 90%เป็น​สินเชื่อ​บ้าน​ซึ่ง​ประมาณ​ 50%มาจากสินเชื่อ​รีไฟแนนซ์​เนื่อ​งจากธนาคาร​เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีเครดิต​ และเป็นสินเชื่อ​ที่​ไม่มี​หลักประกัน​ 7,000-10,000​ ล้านบาท​ ซึ่ง​จะ​ส่งผล​ให้ยอดคงค้างสินเชื่อ​รายย่อย​รวม​ ณ​ สิ้นปี​แตะกว่า​ 100,000​ ล้านบาท​ จากปีก่อน​หน้าที่​มี​ยอด​ 95,000 ล้าน​บาท

ด้านสินเชื่อ​ที่ไม่ก่อให้เกิด​รายได้​(เอ็น​พีแอล)​นั้น​อยู่​ในระดับ​มากกว่า​ 3%เล็กน้อย​เนื่องจาก​ธนาคาร​หันมาเน้นในกลุ่ม​ลูกค้า​ที่มี​คุณภาพ​ดีขึ้น​ ซึ่ง​คาดว่า​สิ้นปี​นี้จะสามารถ​รักษา​ระดับ​เอ็นพีแอล​ไว้ในระดับ​ดังกล่าว​ได้​

สำหรับ​ผลกระทบ​จากมาตรการ​ควบคุม​อัตรา​ส่วนเงิน​ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย​ต่อมูลค่า​หลักประกัน​(Loan To Value :LTV​)ในสัญญา​ที่​ 2 นั้น​ หลังจาก​ที่​ในช่วง​ 3 เดือน​แรกนั้น​ได้มีการเร่งโอนสัญญาไประดับหนึ่ง​แล้วก่อนที่มาตรการ​จะมีผลในเดือ​น​เมษายน​ ส่งให้​ยอดในช่วง​ 2 เดือน​นี้ลดลง​พอสมควร​โดยรวมประมาณ​ 40-50% มากกว่า​ที่คาดกันไว้​ที่​ 20-30% แต่ประเมินว่า​อีก​ 3-6 เดือนหลังบังคับ​ใช้เกณฑ์​ดังกล่าว​ระบบก็น่าจะ​ปรับตัว​ได้​เนื่องจาก​ความต้องการ​ที่อยู่​อาศัย​จริงยังมี​อยู่​จากไลฟ์​สไตล์​คนรุ่นใหม่​ที่นิยม​แยกครอบครัว​ เป็น​ต้น​ แต่ก็​ต้อง​ดู​ภาวะเศรษฐกิจ​โดยรวม​ด้วย​ หากภาวะ​ไม่เอื้อคนก็​คงชะลอการตัดสินใจ​ซื้อ​ออกไปก่อน

สำหรับ​สินเชื่อ​บุคคล​นั้น​ ขณะนี้​มียอดคง​ค้าง​ประมาณ​ 12,000​ ล้านบาท​ ในช่วง​ 5 เดือน​ที่ผ่านมา​ยัง​ไม่ค่อย​ดีนัก​ เนื่องจาก​บรรยากาศ​โดยรวม​ยังไม่ดี​และการแข่งขัน​ที่สูง​ โดย​มียอดปล่อย​กู้​ไปประมาณ​ 2,000 ล้านบาท​ จาก​เป้าหมาย​ 10,000​ ล้านบาท​ เติบโต​ 30% ซึ่ง​คาดว่า​ทั้งปี​อาจจะ​ได้ยอดที่​ 7,000​ ล้าน​บาท​ ซึ่ง​ธนาคาร​ก็​จะ​มีแคมเปญ​ออกมาอย่างต่อเนื่อง​

ล่าสุด​ได้ออกแคมเปญ​ "คนมีเครดิต" บัตรสินเชื่อบุคคลเอ็กซ์ตร้าแคช (ExtraCash) วงเงินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับคนที่มี 2 อย่าง คือ 1. มีประวัติสินเชื่ออย่างน้อย 12 เดือน 2. ผ่อนตรงเวลา  โดยพนักงานประจำ และเจ้าของกิจการ ที่มีรายได้รวม 40,000 บาทต่อเดือน รับดอกเบี้ย 12% ต่อปี  นาน 12 รอบบัญชีแรก รอบบัญชีที่ 13 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย 18% ต่อปี

สำหรับพนักงานประจำ และเจ้าของกิจการ ที่มีรายได้รวม 20,000 บาทต่อเดือน รับดอกเบี้ย18%ต่อปี นาน 12 รอบบัญชีแรก รอบบัญชีที่ 13 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย  24%ต่อปี และสำหรับพนักงานประจำ และเจ้าของกิจการ ที่มีรายได้รวม 12,000 บาทต่อเดือน รับดอกเบี้ย 24%ต่อปี นาน 12 รอบบัญชีแรก รอบบัญชีที่ 13 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย 28% ต่อปี นอกจากนี้ ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ฟรี ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสดที่ ตู้ ATM ทุกตู้

นางสาว​อร​อนงค์​กล่าว​อีกว่า​ ธนาคาร​ยังมีฐาน​ลูกค้า​รายได้​ต่ำกว่า​ 30,000​ บาทต่อเดือน​น้อย​ แคมเปญ​ดังกล่าว​จะช่วยให้ขยายฐานไปยังกลุ่ม​ดังกล่าวและกลุ่ม​อาชีพ​อิสระ​ได้มากขึ้น​ รวมทั้ง​ยัง​เป็น​กลุ่ม​ลูกค้า​ที่มี​คุณภาพ​ดี​เพราะ​มีประวัติ​การชำระหนี้ที่ดีด้วย​ โดย​ได้ตั้งเป้า​หมาย​ปล่อย​กู้​จากแคมเปญ​ดังกล่าว​ในปีนี้​ 500​ ล้านบาท​

“ธนาคารมอบดอกเบี้ยพิเศษให้ลูกค้าที่ดีได้ ด้วย Risk Base Pricing โดยไม่ต้องรอให้มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ถึงจะทำได้ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่เชื่อในแบบเดียวกัน สร้างเครดิตที่ดี เราเชื่อว่าจะปฏิว้ติวงการสินเชื่อได้ แบงก์จะออกมาแข่งกันบนหลักการ แข่งขันกันที่การพิจารณาเครดิตลูกค้า อนาคตอันใกล้ เมื่อธนาคารให้บริการ mobile lending เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้ลูกค้าที่คล้ายกันรวมกลุ่มกันได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ลูกค้าจะกำหนดราคาเองได้เร็วขึ้น สังคมจะเกิดจุดสมดุลมากขึ้น"
กำลังโหลดความคิดเห็น