xs
xsm
sm
md
lg

หนี้ครัวเรือนปี61พุ่งสูงสุด 78.6%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธปท.ชี้ หนี้ครัวเรือนปี 61 ตีกลับพุ่งสูงสุด 78.6 %ของจีดีพี ติดอันดับ 3 ของเอเชีย พบหนี้รถยนต์ เป็นหนี้เสียมากสุด รองมาเป็นสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ระบุนโยบายคุมหนี้ไร้ผล หากครัวเรือนขาดวินัย ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แนะ 8 แนวทางกู้สุขภาพการเงินแข็งแกร่ง

นางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทยเริ่มมีอัตราการขยายตัวเร็วกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 78.6% ซึ่งปรับขึ้นจากปีที่แล้ว และจากข้อมูลของ BIS ยังพบว่า อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับ 3 ของเอเชีย รองจากแระเทศเกาหลีและออสเตรเลีย พฤติกรรมของผู้กู้มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยมากกว่า 50 % ของผู้กู้ใหม่ในแต่ละปีมีอายุน้อย และมีสัดส่วนผู้กู้อายุต่ำกว่า 25 ปีสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้กู้สูงอายุในกลุ่มผู้กู้เดิม มีหลายบัญชี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีหนี้เร็วขึ้น และนานขึ้น และมีโอกาสเสี่ยงเป็นหนี้เสียสูงขึ้น

การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่มาจากผู้กู้รายเดิม แต่มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ที่มาจากการขยายตัวของผู้กู้รายใหม่ เป็นการขยายตัวของสินเชื่อรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ส่วนใหญ่มาจากผู้กู้ใหม่ และเป็นหนี้เสียมากที่สุด รองลงมาเป็นสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต โดยสินเชื่อดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากผู้กู้เดิม
นายสรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนั้น มีผลจาก นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจซบเซา ภัยน้ำท่วมใหญ่ ที่ทำให้ภาคครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินในระบบที่มากขึ้น หรือ วินัยบทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปของครัวเรือน สถานการณ์นี้ส่งผลให้ครัวเรือนไทยสะสมความเปราะบางทางการเงินและอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามออกมาตรการเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือน เช่น การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน มาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธปท. โครงการคลินิกแก้หนี้ และโครงการเดินหน้าขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์นั้น แต่มาตรการดังกล่าวจะเกิดผลไม่ได้ หากครัวเรือนยังขาดวินัยทางการเงิน

นายสรา กล่าวว่า หากจะแก้หนี้ครัวเรือนให้ได้ประสิทธิภาพ จะต้องเริ่มที่ระดับครัวเรือนก่อน โดยมี 8 แนวทางที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ 1.เข้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง 2.ตั้งเป้าหมายลดค่าใช้จ่าย โดยแบ่งเป้าหมายเป็นแบบขั้นบันไดจากง่ายไปหายาก 3.ออมเงินให้เป็นกิจวัตร 4.ออมก่อนกู้เพื่อลดภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในอนาคต 5.พยายามไม่ให้สัดส่วนภาระหนี้จ่ายต่อเดือนเทียบกับรายได้ต่อเดือนสูงกว่า 40%

6.อย่าเสียดายโอกาส หรือหลงกลในกับดักทางการตลาดของผู้ขาย 7.การดูแลสุขภาพเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ 8.การทำประกันสุขภาพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในยามที่เจ็บป่วย ทั้งนี้ เห็นว่า แนวทางดังกล่าว หากทำได้จริงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ครัวเรือนมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น และทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีขึ้นตามมา


กำลังโหลดความคิดเห็น