xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. ฟ้องแพ่ง 8 ผู้กระทำผิด ใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น PTL สั่งปรับ-เรียกคืนทรัพย์สินรวม 56.69 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 8 ราย กรณีใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น บมจ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งและส่งคืนผลประโยชน์รวม 56.69 ล้านบาท และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน

ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าผู้ร่วมกระทำผิด 8 รายในการใช้ข้อมูลภายในการทุจริตซื้อหุ้นได้แก่ 1. บริษัท โพลีเพล็กซ์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (PCL) ซึ่งถือหุ้นใน PTL ร้อยละ 16.5 และถือผ่านบริษัท โพลีเพล็กซ์ (เอเชีย) จำกัด (PAPL) ร้อยละ 34.5
 

2.นายปราเนย์ โกธารี ผู้แทนของ PCL 


3. นายมานิตย์ กุปต้า ผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินของ PCL


4.PAPL และ


5.นายอมิต ปรากาซ กรรมการผู้จัดการของ PTL และกรรมการใน PAPL

โดยผู้ที่ปรากฏชื่อดังกล่าวได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในงบการเงินเฉพาะกิจการและงบการเงินรวมงวดไตรมาส 4/2559 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559) ของ PTL ผ่านงบรายเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยงบการเงินเฉพาะกิจการพลิกกลับมามีกำไร 98.26 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีผลขาดทุน 107.44 ล้านบาท และงบการเงินรวมมีผลกำไร 464.39 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีผลขาดทุน 111.32 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสูงสุดตั้งแต่ปี 2556 และใช้ข้อมูลดังกล่าวซึ่งยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชน ซื้อหุ้น PTL ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ PAPL จำนวน 7,940,100 หุ้น ในระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 โดยมีผู้ถูกกล่าวโทษลำดับที่ 6 คือ นางสุปรีตา ไปร กาสทูรี ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการเงินและบัญชีของ PTL เป็นผู้ช่วยเหลือในการส่งคำสั่งซื้อหุ้น PTL ดังกล่าว ก่อนที่ข้อมูลภายในดังกล่าวจะถูกเปิดเผยต่อประชาชนผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2559

จากการตรวจสอบยังพบว่ามีผู้ถูกกล่าวโทษลำดับที่ 7 ได้แก่นายอนุรักษ์ บาเฮติ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการเงินและบัญชีของ PTL ซึ่งได้ล่วงรู้ผลการดำเนินงานของ PTL ที่ดีขึ้นในงบการเงินเฉพาะกิจการงวดไตรมาส 4/2559 ผ่านงบรายเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ดังกล่าว ได้ทำการซื้อหุ้น PTL ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ในวันที่ 11 และวันที่ 17 มีนาคม 2559 รวมจำนวน 200,000 หุ้น และร่วมกับมีผู้ถูกกล่าวโทษลำดับที่ 8 ได้แก่นายราฮุล เจน ซึ่งมิได้เป็นบุคคลวงในซื้อหุ้น PTL ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายราฮุล ในวันที่ 17 มีนาคม 2559 จำนวน 258,200 หุ้น นอกจากนี้ นายอนุรักษ์ยังใช้ข้อมูลผลการดำเนินงาน ในงบการเงินรวมงวดไตรมาส 4/2559 ของ PTL ผ่านงบรายเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยร่วมกับนายราฮุลซื้อหุ้น PTL ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายราฮุล ในวันที่ 23, 24, 26 และ 27 พฤษภาคม 2559 รวมจำนวน 465,000 หุ้น

การกระทำของผู้ถูกกล่าวโทษลำดับที่ 1. PCL ,ลำดับที่ 2 นายปราเนย์ ,ลำดับที่ 3. นายมานิตย์ ,ลำดับที่ 4. PAPL ,ลำดับที่ 5. นายอมิต ,และลำดับที่ 7 นายอนุรักษ์ ที่ใช้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาเพื่อซื้อหุ้น PTL เข้าข่ายเป็นตัวการกระทำความผิดตามมาตรา 241 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด ซึ่งปัจจุบันการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 โดยมีนางสุปรีตา และนายราฮุลช่วยเหลือสนับสนุนการกระทำผิด ซึ่งเป็นความผิดและมีบทกำหนดโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 8 ราย โดยกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 1. PCL ,ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 2. นายปราเนย์ , ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 3. นายมานิตย์ และ ,ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 5.นายอมิต ชำระค่าปรับทางแพ่งรายละ 500,000 บาท

ส่วนผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 4. คือ PAPL ชำระค่าปรับทางแพ่งและส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดรวมเป็นเงินจำนวน 50,603,066.50 บาท

ขณะที่ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 6. คือนางสุปรีตาชำระค่าปรับทางแพ่งจำนวน 333,333.33 บาท และผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 7. คือนายอนุรักษ์ชำระค่าปรับทางแพ่งและส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวมเป็นเงินจำนวน 2,982,300.50 บาท ส่วนผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 8. คือนายราฮุลชำระค่าปรับทางแพ่งจำนวน 775,153.67 บาท

ทั้งนี้ หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่งตามอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดและส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด

จากการที่ ค.ม.พ. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดที่เป็นบุคคลธรรมดาทั้ง 6 ราย เป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิด 6 ราย ได้แก่ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 2.นายปราเนย์ ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 3.นายมานิตย์ ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 5.นายอมิต ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 6.นางสุปรีตา ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 7. นายอนุรักษ์ และผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 8.นายราฮุล เข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้กรณีผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 2. นายปราเนย์ ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 3.นายมานิตย์ ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ 5.นายอมิต ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ6. นางสุปรีตา และผู้ถูกกล่าวโทษลำดับ7.นายอนุรักษ์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหาร จะต้องพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่กำหนดในหนังสือที่ ก.ล.ต. จะแจ้งการมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจดังกล่าวในขั้นตอนหลังจากนี้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น