xs
xsm
sm
md
lg

PwC ชี้ผู้บริโภคสื่อ-บันเทิงทิ้งการเสพสื่อแบบดั้งเดิม มุ่งสู่ดิจิทัลมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึง Global Consumer Insights Survey ของ PwC
"ปัจจุบันผู้บริโภคมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์มากกว่าแค่การชอปปิ้ง หลังเปลี่ยนรูปแบบการเสพสื่อ-บันเทิงผ่านการสตรีมมิ่งมากขึ้น ขณะที่เลือกใช้โซเชียลเป็นช่องทางหลักในการรับข่าวสาร พบเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่ผู้บริโภคมีการใช้สมาร์ทโฟน มากกว่าพีซี-แท็บเล็ตในการชอปปิ้งออนไลน์ ขณะที่มองไทยจะมีการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น"

น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึง Global Consumer Insights Survey ของ PwC ซึ่งถูกจัดทำขึ้นเพื่อประเมินพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และความคาดหวังของผู้บริโภคออนไลน์จำนวนมากกว่า 21,000 คน ใน 27 ประเทศทั่วโลก พบว่า ปัจจุบันผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์มากกว่าแค่การชอปปิ้ง ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของการเข้าถึงสื่อและความบันเทิงที่กำลังเกิดขึ้น โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ยังได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจบันเทิงและสื่อด้วย

ทั้งนี้ พบว่า 38% ของผู้บริโภคทั่วโลกที่ถูกสำรวจ มีการเสพสื่อและความบันเทิงผ่านการสตรีมมิ่ง (Streaming) อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และมีมากถึงกว่า 50% ในบรรดาผู้บริโภคที่เกิดช่วงปลาย ค.ศ.1990 และตั้งแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นไป หรือเด็กรุ่นใหม่ที่เป็น (Generation Z : Gen Z)

ในส่วนของการรับชมข่าวสารปัจจุบัน รายงานพบว่า 25% ของผู้บริโภคต่างหันมาใช้ช่องทางโซเชียลเป็นอันดับแรก ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย เพราะการใช้โซเชียลมีเดียกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ ทั้งนี้ โฆษณาที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย ยังทำให้ผู้บริโภคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ ได้ โดยได้รับการจัดอันดับว่า เป็นรูปแบบการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในอันดับที่ 3 และเป็นรูปแบบการโฆษณาที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวมิลเลนเนียลมากที่สุด โดยแซงหน้าโฆษณาโทรทัศน์ในรูปแบบดั้งเดิม

ผู้บริโภคพร้อมจ่าย หากได้ประสบการณ์ที่ง่ายและดีกว่า

รายงานพบว่า ช่องทางในการนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายและมีให้เลือกมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาเครื่องมือที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจด้านการใช้จ่าย โดยนอกเหนือไปจากการใช้เทคโนโลยีแล้ว พวกเขายังมองหากลุ่มบุคคล หรือชุมชนที่สามารถไว้วางใจได้ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ

คุณลักษณะ 3 อันดับแรกที่จะช่วยปรับปรุงประสบการณ์การชอปปิ้งภายในร้านค้า ประกอบด้วย

1.การจัดวางสินค้าที่ง่ายต่อการเข้าถึง

2.มีพนักงานขายที่มีความรู้

และ 3.มีช่องทางในการชำระเงินที่ง่ายและสะดวก

โดย 61% ของผู้บริโภคได้รับอิทธิพลจากโซเชียลมีเดียในการจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นแรงบันดาลใจ หรือการบริโภคตามรีวิวเชิงบวก แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้บริโภคน้อยกว่า 20% บอกว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าตามศิลปิน-ดาราที่มีชื่อเสียง หรืออินฟลูเอนเซอร์

ขณะที่เกือบ 50% ของผู้ถูกสำรวจ อาศัยความคิดเห็นของครอบครัวและเพื่อนฝูงมาช่วยในการตัดสินใจในการเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว

ด้าน นายจอห์น แมกซ์เวลล์ หัวหน้าสายงาน Global Consumer Markets ของ PwC ให้ความเห็นว่า “กุญแจสำคัญในการนำเสนอประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสร้างประสบการณ์ในการชอปปิ้งและค้าปลีก แต่ยังครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย เพราะวันนี้ผู้บริโภคกำลังมองหาประสบการณ์ในการใช้จ่ายที่ง่ายและไร้รอยต่อ โดยบริษัทต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ด้วยการผสมผสานวิธีการทั้งแบบกายภายและแบบดิจิทัล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ตอบแทนกลับมาจะยิ่งใหญ่และสร้างความยั่งยืนให้แก่บริษัทได้มากกว่า”

ทั้งนี้ 2 ใน 3 ของผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพแบบออนไลน์มากขึ้น โดยเกือบ 75% มีแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและการควบคุมสุขภาพ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากที่สุด นอกจากนี้ มากกว่าครึ่ง (51%) ของผู้บริโภคที่ถูกสำรวจ ใช้สมาร์ทโฟนในการชำระบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ในปีที่ผ่านมา และผู้บริโภคในสัดส่วนที่เท่ากัน ก็มีการใช้บริการโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย

อย่างไรก็ดี นี่ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ PwC ได้มีการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าอุปกรณ์อื่นๆ ในการชอปปิ้งออนไลน์ โดย 24% ใช้สมาร์ทโฟนในการชอปปิ้งออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังพบว่า ตลาดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่มีการขยายตัวของการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile payment) มากขึ้น โดยเวียดนาม เป็นตลาดที่เห็นผู้บริโภคชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในร้านค้าเติบโตเร็วมากที่สุดที่ 61% (จากปีก่อนที่ 37%) ตามด้วยตะวันออกกลางที่ 45% (จากปีก่อนที่ 25%) โดยในระดับโลกเห็นการเติบโตที่ 34% จากปีก่อนที่ 24% ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว ประเทศในแถบเอเชียยังมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้รวดเร็วกว่าประเทศในแถบตะวันตก

น.ส.วิไลพร กล่าวเสริมว่า ในส่วนของประเทศไทย ผลสำรวจยังพบว่า การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคนั้นเพิ่มขึ้นมาที่ 67% จากปีก่อนที่ 48% เนื่องจากปัจจุบันคนไทยใช้มือถือมากขึ้น โดยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่า ณ ไตรมาส 3 ปี 2561 มีผู้ใช้มือถือถึง 124.6 ล้านเลขหมาย ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 119.8 ล้านเลขหมาย และส่วนใหญ่ยังใช้มือถือต่ออินเทอร์เน็ต 71.5 ล้านเลขหมาย

“การส่งเสริมให้ไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ผ่านแผนพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ หรือ National e-payment จะยิ่งทำให้สถาบันการเงินของไทยหันมาให้บริการชำระเงิน ถอนเงินสดจากตู้ผ่านโมบายแบงกิ้งโดยไม่ต้องใช้บัตรเอทีเอ็ม ขณะที่ร้านค้าทั่วไปก็หันมารับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน หรือคิวอาร์โค้ดมากขึ้น สำหรับธุรกิจไทยควรศึกษากลุ่มเป้าหมายของตัวเองว่า มีกลุ่มลูกค้าอยู่ในช่วงวัยใด และมีพฤติกรรมในการใช้เทคโนโลยีแบบไหน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เพื่อช่วยออกแบบการสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น นี่ยังรวมไปถึงการออกแบบโปรโมชัน และกิจกรรมส่งเสริมการขายอื่นๆ ที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วย โดยไม่ลืมเรื่องของมาตรการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้เกิดขึ้นแก่กลุ่มผู้บริโภค”


กำลังโหลดความคิดเห็น