xs
xsm
sm
md
lg

Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดที่ 2.25 - 2.50%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ชี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 19-20 มีนาคม 2019 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ที่ช่วง 2.25 - 2.50% นอกจากนี้ Fed ได้เปลี่ยนท่าทีจากที่เคยส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เป็นคงดอกเบี้ยตลอดปี 2019 พร้อมทั้งคงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 1 ครั้งในปี 2020 และประกาศยกเลิกการปรับลดขนาดงบดุล (balance sheet run-off) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2019

วชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่าจากการที่ ธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปรับลดประมาณการ dot plot ลง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวชะลอลง และอัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ Fed ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวชะลอลงนับจากการประชุมครั้งก่อน “slow from its solid rate” สะท้อนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนเอกชนที่ชะลอลงในไตรมาสแรก

นอกจากนี้ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและยุโรป และผลข้างเคียงจากเหตุการณ์ Brexit ด้วยปัจจัยข้างต้นนี้จึงเป็นสาเหตุให้ Fed ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2019 และ 2020 ลงไปอยู่ที่ 2.1%YOY และ 1.9%YOY จากเดิมที่ 2.3%YOY และ 2.0%YOY ตามลำดับ สำหรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาวยังคงไว้ที่ 1.8%YOY

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (PCE) ที่ชะลอลงเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ PCE ชะลอลงมาอยู่ที่ 1.7% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของ Fed ที่ 2% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานที่ปรับลดลง นอกจากนี้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในตลาดเงิน (market-based inflation compensation) ก็ยังอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน Fed จึงได้ปรับลดประมาณการ PCE ปี 2019 และ 2020 มาอยู่ที่ 1.8% และ 2.0% จากเดิมที่ 1.9% และ 2.1% ตามลำดับ

ในส่วนของตลาดแรงงาน Fed มองว่าการจ้างงานโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ที่ทรงตัวอยู่ที่ 3.8% และการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm payroll) เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม Fed ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการว่างงานปี 2019 และ 2020 มาอยู่ที่ 3.7% และ 3.8% จากเดิมที่ 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดีผลการดำเนินนโยบาย Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ และปรับลดแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2019 2020 และ 2021 เป็น 0-1-0 ครั้ง จากเดิมที่ 2-1-0 ครั้ง ทั้งนี้ยังคงค่ากลางของประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะยาว (neutral rate) ไว้ที่ 2.8%

นอกจากนี้ Fed ยังได้ประกาศยุติลดขนาดงบดุล (balance sheet normalization) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2019 จากรายงานแผนการปรับลดขนาดงบดุลพบว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกันยายน 2019 Fed มีแผนที่จะลดขนาดงบดุลในอัตราที่ช้าลง โดยลดจาก 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2019 เป็นต้นไป Fed จะคงขนาดงบดุลไว้เท่าเดิมผ่านการต่ออายุพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US treasury) และพันธบัตร MBS โดยรายละเอียดของการต่ออายุสินทรัพย์คือ Fed จะนำเงินต้นจาก MBS ที่หมดอายุมาลงทุนต่อในพันบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แทนเพื่อลดปริมาณการถือ MBS ในงบดุลลง โดยปริมาณเงินสูงสุดที่จะย้ายมาต่ออายุพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ที่ 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน อย่างไรก็ตาม หากมีเงินต้นหมดอายุมากกว่าโควตาข้างต้น ก็จะนำเงินไปต่ออายุพันธบัตร MBS ไว้ดังเดิม ทั้งนี้นาย Powel ได้ให้สัมภาษณ์ว่าขนาดงบดุลของ Fed จะลดลงเหลือประมาณ 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (17% ของ GDP)

ขณะที่ พงศกร ศรีสกาวกุล นักวิเคราะห์ศูนวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวเสริมว่า การปรับแนวโน้มการดำเนินนโยบายของ Fed ส่งผลให้ภาวะการเงินของสหรัฐฯ โดยรวมผ่อนคลายขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้ หลังการประชุม FOMC อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับลดลง 10 bps มาอยู่ที่ระดับ 2.51% ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2018 นอกจากนี้แนวโน้มการดำเนินนโยบายของ Fed ที่ dovish ขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวปรับขึ้นน้อยลงกว่าที่คาดไว้เดิม โดยมุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญต่อแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว ดังนั้นการที่ Fed ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อลง พร้อมกับปรับลด dot plot จึงทำให้ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อ (breakeven inflation) ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นได้ไม่มาก นอกจากนี้การที่ Fed ประกาศว่าจะยังคงขนาดงบดุลในระยะต่อไปโดยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ทำให้ส่วนชดเชยความเสี่ยง (term premium) ไม่สามารถปรับขึ้นได้มากเช่นกัน สำหรับดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นพบว่า อ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.3% ส่วนดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทรงตัว

ทั้งนี้การปรับขึ้น Fed fund rate ที่มีแนวโน้มน้อยลง เป็นการลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ เนื่องจากความจำเป็นที่ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ EM ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม Fed ลดลงไปด้วย จึงทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจ EM จะชะลอลงอย่างมากปรับลดลง นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกที่มีแนวโน้มผ่อนคลายขึ้นจะเป็นปัจจัยเสริมให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับดีขึ้น (risk-on sentiment) ซึ่งอาจทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าสู่ EM มากขึ้นและลดความเสี่ยงที่เงินทุนเคลื่อนย้ายจะไหลออกอย่างรวดเร็ว (capital flight) ลง


แนวโน้มการดำเนินนโยบายของ Fed ที่เปลี่ยนไปประกอบกับมุมมอง กนง. ที่ dovish ขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี ปรับลดลง 9 bps มาอยู่ที่ 2.46% โดยเป็นผลจากสองปัจจัยด้วยกันคือ 1) การปรับลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยค่อนข้างมาก และ 2) ท่าทีที่ dovish ขึ้นของ กนง. หลังการประชุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2019 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง สำหรับนัยของการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. นั้น อีไอซีมองว่า เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศที่แข็งแกร่งอยู่แล้วและมีการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. จึงไม่ได้รับอิทธิพลจาก Fed มากนัก



กำลังโหลดความคิดเห็น