xs
xsm
sm
md
lg

"สบน." ปรับแผนหนี้สาธารณะ -เตรียมจ่ายดอกเบี้ยแทน ขสมก.ปีละ 3 พันล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สบน. แจงการปรับแผนก่อหนี้สาธารณะ ปีงบฯ 62 เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-พัฒนาคน-พัฒนาอุตสาหกรรมเพิ่ม เผย "คมนาคม" ทำแผนฟื้นฟู ขสมก. เพื่อเสนอ ครม. แล้ว เตรียมให้รัฐรับภาระดอกเบี้ย 3 พันล้านบาทต่อปี และหาก EBITDA ของ ขสมก. ไม่ติดลบ โยกหนี้มาให้รัฐบาลรับภาระแทน ตามแผนฯ คาดจะเห็นภาพในปี 66

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักบริหารหนี้ (สบน.) กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 62 ครั้งที่ 1 ที่เพิ่งผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น กระทวงการคลังขอชี้แจงว่า การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวมีวงเงินปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการกู้ใหม่ที่เพิ่มกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท จะเป็นการปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพื่อการพัฒนาประเทศ เช่น โครงการพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม, โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV), และโครงการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นต้น แต่ระดับหนี้ต่อมมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หลังการปรับแผนฯ ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก

นอกจากนี้ การอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิม ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะฯ นั้น กระทรวงการคลังได้พิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นที่ต้องกู้เงิน รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา และแผนการบริหารหนี้ ที่ชัดเจนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง
ทั้งนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.), และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มีรายได้เพียงพอในการชำระดอกเบี้ยจ่ายซึ่งถือเป็นต้นทุนทางการเงินที่ต้องจ่ายจริง แต่สาเหตุที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 นั้น เนื่องจากมีหนี้ซึ่งครบกำหนดชำระคืนในวงเงินที่ค่อนข้างจะสูง กระทรวงการคลังจึงได้จัดทำแนวทางในการกระจายภาระหนี้ให้สอดคล้องกับการจัดหารายได้ของหน่วยงานและความสามารถในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ในแต่ละปี

ส่วนกลุ่มที่ 2 นั้น จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มี DSCR ติดลบ ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะ (Public Service) และดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกสถานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง, กระทรวงคมนาคม, และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำกับติดตามเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการหนี้และแผนการแก้ไขปัญหาขององค์กรให้ชัดเจนและสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ทั้งนี้ กรณีของ ขสมก. ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมยังได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยในแผนฟื้นฟูฯ นั้น ได้กำหนดให้มีการจัดหารถใหม่ และการปรับเส้นทางเดินรถใหม่ เพื่อทำให้ ขสมก. มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนภาระหนี้สินสะสมที่มีอยู่ร่วม 1 แสนล้านบาทนั้น เบื้องต้นรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระในการจ่ายดอกเบี้ยให้ไปก่อนประมาณ โดยคิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 2-3 พันล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม หากผลประกอบการของ ขสมก.หลังจากนี้ มีกำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคา (EBITDA) โดยไม่ติดลบแล้ว จึงค่อยพิจารณาโยกหนี้ก้อนดังกล่าวมาให้รัฐบาลรับภาระแทน ทั้งนี้ ตามแผนได้ประเมินไว้ว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 66

ส่วนประเด็นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ ได้ย้ำถึงเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ที่ได้กำหนดขอบเขตของหนี้สาธารณะให้ไม่รวมหนี้เงินกู้ของหน่วยงานภาคการเงิน (Financial Operation) ที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน เนื่องจากเป็นตัวกลางในระบบเศรษฐกิจ (Financial Intermediary) ที่มีการเคลื่อนไหวของกระแสเงินอย่างรวดเร็วตลอดเวลา

นอกจากนี้ ตั้งแต่กฏหมายหนี้สาธารณะมีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรก กระทรวงการคลังก็ไม่ได้นับรวมหนี้เงินกู้ของ ธปท. เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะด้วย ทั้งนี้ ในการแก้ไขนิยามหนี้สาธารณะในปี 60 นั้น จะมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความชัดเจนและสอดคล้องกับหลักการเดิมของกฎหมายในการไม่นับรวมหนี้ของ ธปท. เป็นหนี้สาธารณะ โดยหลักการดังกล่าวยังถือเป็นแนวปฏิบัติของนานาประเทศที่ไม่นับรวมหนี้ของธนาคารกลางเป็นหนี้สาธารณะด้วย และเพื่อให้เกิดความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จึงได้กำหนดให้มีการติดตามสถานะหนี้เงินกู้ของหน่วยงานของรัฐที่ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ โดย
รวมถึงหนี้ของ ธปท. ด้วย เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐและคณะรัฐมนตรีได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ


กำลังโหลดความคิดเห็น