xs
xsm
sm
md
lg

“กรุงศรี” เจาะลึก ศก.ไทย-โลก จับตาเทรดวอร์-การเลือกตั้ง เจพีฯ แนะลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ” จัดงาน KRUNGSRI EXCLUSIVE Economic and Investment Outlook 2019 เชิญกูรูด้านเศรษฐกิจ-การเงินและการลงทุน เจาะลึกภาพรวมเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2019 เกาะติดปัจจัยเสี่ยงภายใน-นอกประเทศมีเพิ่มขึ้น ชี้เศรษฐกิจไทยยังโตตามศักยภาพ 3-4% ด้านเจพี มอร์แกน จับตาผลประชุมเฟด แนะลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย

“กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ” จัดงาน KRUNGSRI EXCLUSIVE Economic and Investment Outlook 2019 เชิญกูรูด้านเศรษฐกิจ การเงินและการลงทุน ร่วมให้ข้อมูลเจาะลึกภาพรวมเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2019 โดยงานนี้เป็นหนึ่งในเอกสิทธิ์สำหรับลูกค้ากรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ

เศรษฐกิจโตตามศักยภาพ-เชื่อเทรดวอร์ยืดเยื้อ

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในหัวข้อ Thailand Economic Outlook 2019 เศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ว่าจากประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากสำนักวิจัยต่างๆ มองการเติบโตที่ 3-4% ถือว่าเป็นการขยายตัวตามศักยภาพ โดยการลงทุนมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่คาดหวังว่าจะกลับมา ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยที่จะพิจารณา คือ การเลือกตั้ง การมีโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมไปถึงการผ่านเรื่องโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้า ซึ่งเมื่อภาครัฐเริ่มเดินเครื่องการลงทุนเหล่านี้แล้ว การลงทุนภาคเอกชนก็จะขยายตัวตามมา ส่วนการบริโภคที่เคยเป็นห่วง และการส่งออก มีแต่ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ได้รับประโยชน์ ในประเด็นนี้ภาพได้เปลี่ยนมาครึ่งปีกว่าแล้ว คือ เริ่มเห็นการผงกหัวขึ้น ภาคการเกษตรขยับตัวชัดเจน การจ้างงาน การบริโภค และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เริ่มอยู่ตัว ที่ยังน่าเป็นห่วงคือภาคการเกษตร แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะขยายตัวได้ 3% กว่าๆ หรือเกือบ 4% ส่วนประเด็นสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ หรือเทรดวอร์ เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันยาว เพราะสหรัฐฯ ยกตัวเลขการขาดดุลการค้ามาเป็นข้ออ้าง แท้จริงแล้วต้องการให้จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านเทคโนโลยี ซึ่งจีนมีท่าทีที่อ่อนลง และพร้อมจะซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกามากขึ้น แต่ปัญหาไม่น่าจะจบลงได้ง่ายๆ และรูปแบบการเจรจาน่าจะใช้เวลา แต่หากปัญหายืดเยื้อนานเกินไป ก็จะไม่เป็นผลดีนัก ส่วนที่คนห่วงว่า สหรัฐอเมริกามีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอย ความเสี่ยงที่ว่านั้นมีอยู่ แต่ไม่คิดว่าแย่ โดยยังมีเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่อื่นค้ำจุนอยู่ เช่น ญี่ปุ่น และยุโรป

ด้าน ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า แม้ปัจจุบันดูเหมือนมีปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเข้ามา แต่เชื่อว่าด้วยโครงสร้างและนโยบายที่ออกมาแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ช่วยได้พอสมควร และยังทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง แต่จุดที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลใจ คือ เศรษฐกิจดี แต่ทำไมคนไม่รู้สึก การบริโภคยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากรายได้ภาคการเกษตรที่ผ่านมา ราคาสินค้าประเภทข้าวเริ่มดีขึ้น แต่ราคาปาล์ม ยาง ยังไม่ดีนัก ทำให้รายได้ภาคการเกษตรภาคใต้ไม่ค่อยดี การไม่กระจายตัวของรายได้จึงเป็นจุดที่ต้องรีบแก้ไข อย่างไรก็ดี การลงทุนมีสัญญาณที่ดีขึ้น พบยอดการลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างชาติ ในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2561 เติบโตเกือบ 5% ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ส่วนการลงทุนภาครัฐหลายโครงการได้ผ่านการอนุมัติ และก่อสร้างแล้ว จึงเชื่อว่าไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล โครงการเหล่านี้จะยังขับเคลื่อนต่อไป กรณีสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ มีผลกระทบต่อไทย 2 แบบ คือ ธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน โดยส่งวัตถุดิบ หรือกึ่งวัตถุดิบ ไปประกอบที่จีน เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เช่น สินค้าเกษตร และเคมีภัณฑ์ ส่วนนี้จะได้รับผลกระทบ อีกแบบ คือ สินค้าทดแทน หากไม่นำเข้าจากจีน ก็อาจจะนำเข้าจากที่อื่นแทน ซึ่งถือว่าส่วนนี้ไทยจะได้ประโยชน์ แต่ก็พบว่า เวียดนามได้ประโยชน์มากกว่าจากตัวเลขการส่งออกที่ดีขึ้น แต่ที่น่ากังวลมากกว่า คือ ทั้งสองประเทศตกลงจะทำการค้ากันมากขึ้น ค้าขายกันเองมากขึ้น

ชี้ปัจจัยเสี่ยง “การเลือกตั้ง-ต่างประเทศ”

ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2561 ไม่ได้มีผลอะไรมากนัก สิ่งที่เห็น คือ ดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้นปรับขึ้นจริง แต่ดอกเบี้ยระยะยาวไม่ได้ขึ้นเลย ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับขึ้นก็เป็นการขึ้นแบบเฉพาะเจาะจง วงเงินไม่มาก เหตุผลของการปรับขึ้นก็ชัดเจนตามคำชี้แจงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) คือ กังวลต่อความเปราะบางในระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ภาคอสังหาฯ ปล่อยกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเปิดช่องหรือโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยกรณีเศรษฐกิจแย่มากๆ ส่วนปัจจัยเสี่ยงในขณะนี้คงต้องพูดถึงเรื่องเลือกตั้ง เพราะว่ามีผลถึงความต่อเนื่องของนโยบาย ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้คาดเดาค่อนข้างยาก ที่เดาได้ คือ มีรัฐบาลผสม แต่ที่เดาไม่ได้ คือ พรรคใดจะผสมกับพรรคใด เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ประเด็นถัดมา คือ เลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว และตั้งรัฐมนตรีแล้ว จะบริหารประเทศได้หรือไม่ เพราะต้องผ่านกฎหมายสภาล่าง ที่สำคัญ คือ พ.ร.บ. งบประมาณจะผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่าน ก็บริหารประเทศไม่ได้ ไม่มีเงินใช้ แต่ก็มีช่องทางเปิดให้ คือ หากกฎหมายไม่ผ่านด้วยสาเหตุบางประการ เมื่อมีรัฐบาล ก็อนุโลมให้เอางบประมาณปีก่อนหน้ามาใช้ได้ แต่ก็ไม่มีใครอยากให้ไปถึงช่องนั้น

ขณะที่ ดร.สมประวิณ กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสขึ้นได้อีก 1 ถึง 2 ครั้งในปีนี้ แต่จะไม่ขึ้นแบบต่อเนื่อง โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลต่อการเก็งกำไรจากการลงทุน เพื่อแสวงหาผลตอบแทน แต่จะไม่มีผลกับคนทำงานปกติทั่วไป ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้มองว่าน่าจะมาจากปัจจัยนอกประเทศ หากเกิดเศรษฐกิจถดถอย หรือชะลอตัว ก็จะเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ อีกประเด็นที่คนยังไม่พูดกันมากนัก คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมา เราสามารถวางกลยุทธ์ได้ถูกต้อง เพราะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่คำถาม คือ อีก 30 ปีข้างหน้า จะเป็นอะไร ซึ่งตนเองก็ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ จึงเป็นโจทย์ที่จะต้องไปคิด ปรับตัวให้เร็วขึ้น บางทีต้องแยกให้ออกถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว หรือปัจจัยทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การแก้ปัญหาไม่ควรผิดพลาด ต้องแยกแยะการแก้ปัญหาระยะสั้น และระยะยาวให้ถูก

เจพี มอร์แกน เน้นปลอดภัยมุ่งลงทุนพันธบัตร

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทจัดการกองทุนระดับโลก J.P. Morgan มาวิเคราะห์ถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลก และทิศทางการลงทุนในปี 2562 Dr. Jasslyn Yeo, CFA, CFTe Executive Director Global Market Strategist J.P. Morgan และ Mr. Leon Goldfeld Portfolio Manager, Multi-Asset Solutions J.P. Morgan

เจพี มอร์แกน ให้มุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจ เป็นช่วงขาลงก็จริง แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย จากนี้จะต้องจับตาดูที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งจะเป็นตัวชี้ชัดว่าเป็นอย่างไร เพราะจะส่งผลกับเศรษฐกิจโลก แต่ล่าสุด Fed มีเสียงอ่อนลงในการปรับขึ้นดอกเบี้ย และต้องการรอดูข้อมูลทางเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มความระมัดระวังในการตีความว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะหากขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองครั้ง เศรษฐกิจโลกจะถดถอยทันที แต่ตอนนี้ Fed พิจารณาอย่างระมัดระวังดังนั้น เจพีฯ มองว่าอีก 12 เดือนนับจากนี้ Fed จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน จึงสรุปได้ว่า เศรษฐกิจเป็นขาลง แต่จะยังไม่ถดถอย ส่วนญี่ปุ่น และยุโรป ก็ต้องติดตามเช่นกัน แต่คาดว่า เศรษฐกิจจะอยู่ในลักษณะไซด์เวย์ คือไม่ไปไหนเท่าไหร่ ส่วนจีนเติบโตต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ 6.4% ส่วนหนึ่งมาจากความตั้งใจที่ต้องการลดความร้อนแรงของจีนเอง และสงครามการค้าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ทำให้เกิดความท้าทายกับจีนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นความตึงเครียดทางการค้าจะยืดเยื้อต่อไป แต่ไม่รุนแรง ดังนั้น แม้เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อไป แต่ไม่ให้น้ำหนักมากนัก ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เจพีฯ ค่อนข้างชอบสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งหากเรามองว่าเศรษฐกิจโลกตอนนี้มีความเสี่ยง สินทรัพย์ประเภทนี้ก็จะมีความปลอดภัย เพราะไปในทิศทางตรงข้ามกับตลาดหุ้น ส่วนหุ้น หาก Fed ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย หุ้นสหรัฐฯ ยังไปได้อยู่ และน่าจะให้ผลกำไร 10% ต่อปี ทำให้หุ้นสหรัฐฯ ยังคงลงทุนได้ สำหรับมุมมองการจัดสรรพอร์ตการลงทุน มองออกเป็นสองส่วน คือ ตลาดที่พัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ จะเป็นการกระจายการลงทุนด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม หากจีนเกิดปัญหา อาจมีผลในเชิงลบกับตลาดเกิดใหม่ แต่ภาพดังกล่าวยังไม่ชัด เมื่อไม่ชัดจึงเลือกให้น้ำหนักกับส่วนที่มีความปลอดภัยมากกว่า คือ ให้น้ำหนักไปที่ตลาดพัฒนาแล้วมากกว่า

งาน KRUNGSRI EXCLUSIVE Economic and Investment Outlook 2019 เป็นหนึ่งในเอกสิทธิ์สำหรับลูกค้ากรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ เพื่อเข้าร่วมสัมมนาด้านการเงินการลงทุน ร่วมรับฟังทิศทางการลงทุน และมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก โดยนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ และการลงทุนระดับแนวหน้าของประเทศ ไปจนถึงระดับโลก รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของธนาคารและบริษัทในเครือกรุงศรี เพื่อให้ก้าวทันภาวะการเงินและเศรษฐกิจที่ไม่หยุดนิ่ง เอกสิทธิ์พิเศษนี้ กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ จัดขึ้นเพื่อลูกค้าคนสำคัญอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี


กำลังโหลดความคิดเห็น