xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการ "กำจัดฝุ่น"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา คุณภาพอากาศของของไทยโดยเฉพาะแถบกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเลวร้ายอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ในกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับสูงที่เฉลี่ยประมาณ 120-150 จุด และในบางขณะพุ่งสูงถึงระดับ 200 จุด และอยู่ในระดับเดียวกับหลายๆ เมืองในเอเชียและระดับโลก

ระดับมลพิษในอากาศสูงที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศเช่นเมืองเฉิงตูกว่างโจว แคลิฟอเนียและฮ่องกงเป็นต้น ขณะที่ในกรณีของกรุงเทพมหานครนั้นวิกฤตฝุ่นพิษเริ่มส่งผลกระทบด้านลบต่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ แล้ว เช่นภาคขนส่งการท่องเที่ยวและโรงแรมในส่วนของดัชนี AQI ดังกล่าว คำนวณจากก๊าซและสารพิษที่ทาอันตรายต่อร่างกายมนุษย์เช่นก๊าซโอโซน ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ รวมถึงฝุ่นควันขนาดต่าง ๆ แต่ฝุ่นควันที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์มาก ได้แก่ ฝุ่นควันที่มีอนุภาค (Particular Matter: PM) ขนาดเล็ก โดยเฉพาะต่ำกว่า 2.5 ไมครอน ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ถึงถุงลมปอดและเส้นเลือดและทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอันตรายเช่นติดเชื้อทางเดินหายใจมะเร็งปอด และหัวใจล้มเหลว เป็นต้น โดยประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่เด็กสตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจและหลอดเลือด

จากข้อมูลของ นพ. ศุภกิจ เวชพานิช แห่งสภากาชาดไทย พบว่า แหล่งที่มาหลักของฝุ่นควัน PM2.5 ได้แก่ การเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่งกระบวนการอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้าตามลำดับ ขณะที่ข้อมูลของ SCB EIC ระบุว่า แหล่งที่มาของ PM 2.5 จากการคมนาคมขนส่งนั้นมาจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก

แม้ว่าค่าดัชนี AQI ของไทยในปีนี้จะอยู่ในระดับสูง แต่ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเช่น ดร. สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ธรรมศาสตร์ และ ศ.ดร. ศิวัชพงษ์ เพียจันทร์ ผู้อานวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติและอาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม NIDA ต่างเห็นตรงกันว่า คุณภาพอากาศที่เลวร้าย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณฝุ่นขนาดเล็กเช่น PM 2.5 ที่มีมาก) ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติแล้วพบว่าค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ในเดือน ม.ค.-ก.พ. ของทุกปี อยู่ที่ประมาณ 80 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรแต่บางปีเช่น ปี 2014-15 ดัชนีดังกล่าวอยู่ในระดับ 110-120ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในปีนี้ (2019) ดัชนีดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน

เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อมลภาวะดังกล่าวต่อสุขอนามัย รวมถึงพิจารณาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ SCBS Wealth Research จึงได้พิจารณาผลกระทบดังกล่าวของไทยเปรียบเทียบกับประเทศและภูมิภาคที่ประสบภาวะวิกฤตคล้ายกันซึ่งได้แก่จีนและประเทศในยุโรปโดยในกรณีของจีนนั้น พัฒนาการเศรษฐกิจก้าวกระโดดและการเปลี่ยนเครื่องยนต์เศรษฐกิจจากภาคเกษตรมาสู่อุตสาหกรรมทาให้ระดับมลภาวะในอากาศสูงขึ้นมาก (โดยเฉพาะหลังปี 2010 เป็นต้นมา) อันเป็นผลทั้งจากอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะเหมืองถ่านหินและการผลิตไฟฟ้าและระบบทาความร้อนส่วนกลางหรือ Central Heating System ที่ใช้ถ่านหินเป็นหลัก) และการคมนาคมขนส่ง (จากรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล) ในขณะที่ในหลายประเทศในยุโรปในช่วงทศวรรษ 1990-2010 ก็เผชิญกับมลภาวะทางอากาศเป็นพิษอันเป็นผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการสนับสนุนรถยนต์ดีเซลองค์กรอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าในแต่ละปี มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เช่นหอบหืดมะเร็งปอด และการติดเชื้อในทางเดินหายใจซึ่งเป็นผลจากมลภาวะนั้นได้เสียชีวิตเป็นจานวนทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านราย ในจำนวนนี้ กว่า 5 แสนรายอยู่ในยุโรปและทาให้เกิดความเสียหาย 8 แสนล้านยูโร (หรือ 4.6% ของ GDP ยุโรป) ขณะที่ผู้เสียชีวิตในกรณีของจีนตามการศึกษาของ Chinese University ในฮ่องกงพบว่ามีจำนวนสูงถึง 1.1 ล้านรายและนำความเสียหาย 2.7 แสนล้านหยวนหรือ 0.7% ของ GDP จีน

ส่วนกรณีของไทยนั้นข้อมูลจาก Greenpeace Thailand ระบุว่าจานวนผู้เสียชีวิตจากกรณีดังกล่าวอยู่ที่ 3.75 หมื่นราย และคิดเป็นมูลค่าเสียหายทั้งสิ้น 2.5-4.2 แสนล้านบาทหรือ 1.6-2.7 % ของ GDP ไทยจากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศของไทยนั้น แม้มีจำนวนน้อยกว่า แต่หากคิดเป็นสัดส่วนกับกับประชากรทั้งหมดก็ใกล้เคียงกับในจีนและยุโรปขณะที่เมื่อพิจารณาด้านความเสียหายด้านเศรษฐกิจ(จากค่าเสียโอกาส) จะพบว่าไทยมีความเสียหายด้านเศรษฐกิจรุนแรงเป็นอันดับสองรองจากยุโรป

ในส่วนของมาตรการของทางการในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศนั้นจากการศึกษาพบว่าทั้งทางการจีนและยุโรปต่างแสดงความตั้งใจแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ภาวะดังกล่าวลดลงได้ในระดับหนึ่ง อาทิเช่น

จีน : ตั้งกองทุนมูลค่า1.6 หมื่นล้านหยวนเพื่อควบคุม/ ปรับปรุงคุณภาพอากาศสั่งการให้โรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษในเขตเมืองใหญ่ยุติกิจกรรมดังกล่าวเปลี่ยนโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน / ระบบทำความร้อนส่วนกลาง (Central Heating System) จากถ่านหินที่อยู่ในแถบตอนเหนือของจีนให้ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติทั้งหมดเพิ่มโทษกับผู้ที่ทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม และเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมกว่า1,000 นายในช่วงปี 2015 - 17 และทำการจับกุมการละเมิดกว่า 10,000 คดีเพิ่ม KPI ด้านสิ่งแวดล้อมกับรัฐวิสาหกิจ + รัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ

โดยในกรณีของจีนตั้งเป็นเป้าหมายหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปีของจีนในช่วงปี 2013-18 ทั้งการตั้งกองทุนในการปรับปรุงคุณภาพอากาศ คุมเข้มโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติและสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้คุณภาพของอากาศในเขตเมืองหลวงและเมืองใหญ่ดีขึ้น (แต่คุณภาพอากาศของเมืองอุตสาหกรรมยังไม่ดีนัก)

ยุโรป : อังกฤษตั้ง Congestion Charge, Low Emission Zones(LEZ) โดยเก็บค่าธรรมเนียมเข้าในเขตเมือง 12.5 ปอนด์ต่อวัน ฝรั่งเศส เปลี่ยนที่จอดรถฟรี เป็นที่จอดรถที่ต้องเสียค่าจอด เดนมาร์ก ปรับเพิ่มค่าจอดรถในเมือง 50 % สวีเดน ปรับขึ้นภาษีโรงงานที่ปล่อยก๊าซไนโตรเจน เยอรมนี ตั้งเป้ายุติการใช้รถดีเซลในปี 2020

ในกรณีของยุโรปทางการของหลายประเทศมีความตั้งใจในการลดมลภาวะในเขตเมืองโดยเฉพาะในลอนดอนของอังกฤษที่มีการจัดตั้ง “ค่าธรรมเนียมในการเข้าเขตจราจรหนาแน่น” (Congestion Charge) ขณะที่ฝรั่งเศสมีมาตรการเปลี่ยนที่จอดรถฟรีเป็นที่จอดที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกับเดนมาร์กที่ปรับเพิ่มค่าจอดรถในเมืองทั้งหมดนี้เพื่อลดแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ในเขตเมืองซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้การปล่อยมลพิษและฝุ่นควันขนาดเล็กและจิ๋ว (PM<10) ลดลง

ไทย : ให้ทุกหน่วยงานมีมาตรการดำเนินการที่เข้มข้นขึ้นเช่นตรวจวัดควันดำ ตรวจสภาพรถยนต์ปรับเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิงหากเข้าสู่ระดับอันตราย (75-100 มคก./ ลบ.ม.) ให้ผู้ว่าการ ฯ กทม.ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมหากเข้าสู่ระดับวิกฤต (100+) ให้ คณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมประชุมด่วน และเสนอแนวทางให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ

ในกรณีของไทย แม้ว่าปัญหามลภาวะทางอากาศจะเกิดในไทยมาหลายปี แต่เพิ่งรับรู้ในวงกว้างปีนี้ ทางการไทยจึงยังไม่ได้ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมเท่าใดนัก โดยคณะกรรมการควบคุมมลพิษได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาตามระดับความรุนแรง เริ่มจากการตรวจสภาพรถยนต์ การให้ผู้ว่าการฯ กทม. ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม และหากเข้าขั้นวิกฤตจะประชุมด่วนและให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ โดยล่าสุด (30 ม.ค.) ผู้ว่าการฯ กทม. ได้ประกาศสั่งปิดโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพหานคร ขณะที่นายกรัฐมนตรีสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษ

“มาตรการเชิงนโยบายให้แก่ทางการ”เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางในการควบคุมและลดทอนมลภาวะทางอากาศในไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยข้อเสนอเชิงนโยบายในการควบคุมมลพิษทางอากาศ

1. ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดีเซลที่เครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,250cc. (อัตรา 3%-30%) ให้มีอัตราเดียวกับเครื่องยนต์สูงกว่า 3,250cc. (50%)

2. ปรับขึ้นภาษีโรงงานที่ปล่อยก๊าซพิษโดยเพิ่มการจัดเก็บตามปริมาณการปล่อยอนุภาค

3.ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จาก 5.85 บาทต่อลิตรเป็น 6.50บาทต่อลิตร (เท่ากับเบนซิน)

4. จัดตั้งกองทุนดูแลคุณภาพอากาศแห่งชาติ โดยนำรายได้จากการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และจากการปรับขึ้นภาษีโรงงานที่ปล่อยก๊าซ มาเป็นกองทุนในการปรับปรุงคุณภาพอากาศเช่นร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นในการปลูกต้นไม้ในเขตเมือง

5. เพิ่มโทษกับผู้กระทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเผาในที่โล่ง

SCBS Wealth Research เห็นว่า มาตรการต่างๆ ที่นำเสนอนั้น ส่วนใหญ่เพื่อลดแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ดีเซลที่มีการปล่อยมลพิษ (โดยเฉพาะฝุ่นควันขนาดเล็ก) ในปริมาณสูง รวมถึงการจำกัดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นอนุภาคเล็ก (PM 2.5) เช่นการเผาในที่โล่ง การลดกิจกรรมในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดมลพิษทางอากาศด้วย

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวต้องทำควบคู่ไปกับการสนับสนุนการผลิตและการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง นอกจากนั้นทางการยังควรรีบพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน อันจะเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นควันครั้งนี้อย่างยั่งยืน

ที่มา: The Economist, SCMP, European Commission, กรมควบคุมมลพิษ


กำลังโหลดความคิดเห็น