xs
xsm
sm
md
lg

อนันดาไม่หวั่นปัจจัยลบลุยเปิด 10 โครงการ 3.8 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ชานนท์ เรีองกฤตยา
อนันดาไม่หวั่นเศรษฐกิจชะลอตัว เดินหน้าลงทุน 10 โครงการ มูลค่ากว่า 3.8 หมื่นล้านบาท เป้ายอดขาย 3.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่แบงก์ล็อกตุน 4.1 หมื่นล้าน ฟุ้งฐานะการเงินแกร่งแคลซโฟล์วในมือกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN กล่าวถึงภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ไนปี 62 ว่ายังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทาย ได้แก่ มาตรการควบคุม LTV ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย.62 ที่จะส่งผลต่อกลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือผ่อนบ้านหลังแรกมาไม่เกิน 3 ปี รวมถึงบ้านราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยช่วงขาขึ้น คาดว่าทั้งปีจะปรับขึ้นประมาณ 2-2.25% ส่งผลต่อความสามารถในการกู้และชำระหนี้ลดลง รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีปัญหากลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว อาจให้กำลังซื้อในกลุ่มนี้ลดลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัจจัยลบหลายประการ แต่บริษัทเชื่อว่ายังมีความต้องการซื้อที่พอให้สามารถเติบโตต่อไปได้ เนื่องจากเชื่อว่าไม่มีคำว่าโอเวอร์ซัปพลายในทำเลที่มีศักยภาพ โดยบริษัทจะเลือกพัฒนาสินค้าในทำเลที่ดี ติดรถไฟฟ้า ส่วนมาตรการ LTV มีกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ 10% เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมบริษัท ขณะที่ปัญหากำลังซื้อของคนจีนลดลง ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ใหญ่ ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ บริษัทได้ปรับแผนการพัฒนาโครงการใหม่ในปี 62 เน้นกลุ่มระดับกลาง-บน ที่มีราคาขายเฉลี่ย 150,000 บาทต่อตารางเมตร คิดเป็น 87% ของพอร์ตสินค้า ภายใต้แบรนด์ ไอดีโอ, ไอดีโอ คิว และแอชตัน ส่วนโครงการแนวราบใช้แบรนด์ Uni Town ซึ่งโครงการที่นำมาเปิดขายในปีนี้ มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นเคย และยังมีโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดเท่าที่เคยพัฒนามา ส่วนตลาดกลาง-ล่างราคาต่ำกว่า 150,000 บาทต่อ ตร.ม. พัฒนาในสัดส่วน 13% ของพอร์ต

สำหรับแผนการลงทุนในปี 62 ตั้งเป้าพัฒนา 10 โครงการใหม่ มูลค่า 38,000 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 8 โครงการ เป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร มิตซุย ฟูโดซัง 7 โครงการ ส่วนอีก 2 โครงการ เป็นโครงการแนวราบ โดยตั้งงบซื้อที่ดินไว้ที่ 6,000-8,000 ล้านบาท งบลงทุนก่อสร้าง 12,000 ล้านบาท และงบลงทุนโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 3,000 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 36,000 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายยอดโอนในปี 62 วางไว้ที่ 36,000 ล้านบาท เติบโต 9% จากปีก่อนที่ทำได้ 33,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดโอนจากคอนโดมิเนียม 90% และอีก 10% มาจากโครงการแนวราบ ขณะที่รายได้จากค่าเช่าเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ คาดว่าจะเริ่มทยอยเข้ามาหลังปี 64 ในอนาคต บริษัทตั้งเป้ามีรายได้จากค่าเช่าสัดส่วน 20% ของทั้งพอร์ต โดย ณ สิ้นปี 61 บริษัทมีมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ที่ 41,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนในช่วง 3 ปีนี้ โดยที่ในปี 62 จะรับรู้รายได้ 21,284 ล้านบาท ปี 63 รับรู้รายได้ 13,148 ล้านบาท และปี 64 อีกจำนวน 6,630 ล้านบาท โดยปีนี้จะมีคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จที่เริ่มโอนเพิ่มเข้ามาอีก 10 โครงการ ส่วนเป้าหมายยอดขายตั้งเป้าไว้ที่ 36,000 ล้านบาท หรือเติบโต 14% จากปีก่อน ทำยอดขายได้ 31,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะตลาดชะลอตัว แต่บริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถเติบโตต่อไปได้ จากฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยปัจจุบันมีกระแสเงินสด 13,000 ล้านบาท เพียงพอรองรับการลงทุน และขยายตัวของธุรกิจในอนาคต พร้อมมีทางเลือกในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่หลากหลายตามสถานการณ์ และการรักษาวินัยทางการเงินอย่างเข้มงวด โดยรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ไว้ที่ 1.1 เท่า จากปัจจุบัน บริษัทมีสต๊อกรอขายจำนวน 16,000 ล้านบาท เป็นสต๊อกสร้างเสร็จประมาณ 30% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีแผนระบายสต๊อกในปีนี้ให้ได้ 10,000 ล้านบาท โดยการจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายทุกเดือน

ล่าสุด บริษัทยังได้เข้าลงทุนในบริษัท ดุสิตธานี จำกัด มหาชน หรือ DTC โดยเข้าไปซื้อหุ้นสามัญของ DTC จำนวน 42,500,000 หุ้น หรือสัดส่วน 5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด จำนวน 850,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 12 บาท มูลค่ารวม 510 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนระยะยาว และเป็นการต่อยอดธุรกิจ คาดว่าจะคืนทุนได้ใน 8-9 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น