xs
xsm
sm
md
lg

กนง.เสียงแตก 4:2 คงดอกเบี้ย 1.75%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กนง.เสียงแตก 4:2 ให้คงดอกเบี้ย 1.75 % ย้ำเศรษฐกิจเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้ากระทบส่งออก หวังเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินยังเสี่ยง เปราะบางจากหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นไตรมาส 3 สัดส่วน 77.8% ของจีดีพีจากไตรมาส 2 อยู่ที่ 77.7% ส่วนใหญ่จากสินเชื่อรถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น ตามการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมทั้งผลจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง

ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด แรงส่งของอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น และกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ แต่ยังมีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน

“กนง. จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศ ทั้งจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป” นายทิตนันทิ์ กล่าว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ลดลง และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากความผันผวนของราคาพลังงาน และอาหารสด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าอดีต ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบดอลลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเป็นสำคัญ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และสกุลเงินในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม กนง. ยังมองว่า ในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ คณะกรรมการจึงให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

“ค่าเงินในตลาดการเงินโลก มองว่า ในระยะข้างหน้าจะมีความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ ทั้งเบรซิต เทรดวอลล์ ซึ่ง ธปท. จะติดตามเรื่องดังกล่าวใกล้ชิด และหากพบการเคลื่อนไหวที่รุนแรงผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ทางการจะมีการบริหารจัดการ” นายทิตนันทิ์ กล่าว
 
ส่วนระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร กนง. เห็นว่า มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมา จะช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมทั้งทิศทางการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

“กนง. ให้น้ำหนักความเสี่ยงเสถียรภาพสถาบันการเงินอย่างมาก เนื่องจากยังมีความเปราะบางแนวโน้มหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ไตรมาส 3 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 77.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ 77.7 % ส่วนมหญ่จะมาจากหนี้รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศอาจชะลอลง กนง. เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า โดยจะต้องติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น