xs
xsm
sm
md
lg

สศค.ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 4%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สศค.เผยผลประเมินตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 62 อยู่ที่ 4% ลดลงจากปีก่อน 0.1% และยังมีปัจจัยเสี่ยง 4 ประการที่ต้องจับตามอง ชี้ช่วง 2 ไตมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจยังดูไม่ดีนัก ต้องรอให้ถึง 2 ไตรมาสท้าย จะปรับตัวดีขึ้น เหตุเศรษฐกิจไทยเคยปรับฐานขึ้นสูงในปี 61

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงการคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจในปี 62 ว่า สศค. ประเมินถึงแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 4% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 3.5-4.5% ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 62 ยังคงมี 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ แนวการค้าโลกที่ชะลอตัวลง สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ความผันผวนของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จะได้รับขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายในประเทศจากโครงการลงทุนของภาครัฐตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบ 62 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และโครงการลงทุนแบบร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) รวมถึงการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะช่วยส่งผลให้เกิดการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ ผลจากความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง โดยรัฐบาลปัจจุบันจะยังมีอำนาจเต็มบริหารประเทศ ทำให้รัฐบาลยังคงสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่ออย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าจะไม่มีการสะดุดในเชิงนโยบายของภาครัฐแต่อย่างใด และยังช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าอีกด้วย

นายลวรณ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ อาจจะยังทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากการปรับฐานของเศรษฐกิจในปี 61 นั้น จะอยู่ในระดับสูง แต่จะมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี อย่างไรก็ตาม ตนยังมองว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตทั้งเกินและต่ำกว่าประมาณการระดับการขยายตัวที่ 4% เป็นอัตราการขยายตัวตามศักยภาพของเศรษฐกิจ

ส่วนการส่งออกสินค้าในปี 62 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยคาดว่า การส่งออกในเชิงมูลค่าจะเติบโตที่ระดับ 4.5% หรือลดลงเมื่อเทียบจากปี 61 ที่เคยเติบโตได้ถึง 6.7% ขณะที่ผลกระทบของสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยนั้น จะมีอยู่ราว 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือมีผลกระทบไม่มากนัก สำหรับหมวดสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครืองซักผ้า และโซลาร์เซลล์

อย่างไรก็ตาม ในปี 62 ทางสหรัฐฯ และจีน จะมีการเจรจาด้านการค้า เพื่อหาทางออกแล้ว และเชื่อว่าน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนปัจจัยที่กระทบ คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ด้านผลการประเมินอัตราเงินเฟ้อในปี 62 นั้น คาดว่าจะอยู่ที่ 1% ทั้งนี้ สศค. ยังได้กำหนดช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 0.5-1.5% ลดลงจากปี 61 จากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง โดย สศค. มองโอกาสที่จะสามารถเกิดขึ้นจริง ต่างจากกระทรวงพาณิชย์ ที่มองเป้าหมายไว้ที่ 8

ทั้งนี้ ผลประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 61 นั้น จะมีการขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 4.1% โดยเร่งขึ้นจากปี 60 มีสามารถขยายตัวได้ 3.9% ทั้งนี้ เป็นผลจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภค และการลงทุน ที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลมาจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รวมถึงความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ นั้น สศค. คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกชะลอลงเล็กน้อย ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าตามทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น