xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ประเมินสินเชื่อแบงก์ปีนี้เติบโต 5%-คาดครึ่งปีแรกยังคง ดบ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยสินเชื่อแบงก์ปี 61 โต 5.17% ส่วนปีนี้คาดชะลอตัวลงที่ 5% นำโดยสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยชะลอลงจากฐานที่สูง แต่ในบางประเภทยังเติบโตได้ต่อเนื่อง คาดครึ่งปีแรกแบงก์ยังคงตรึงดอกเบี้ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.18 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.03% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ส่งผลให้ภาพรวมสินเชื่อสุทธิทั้งปี 2561 ขยายตัว 5.17% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2560 โดยมียอดคงค้างสินเชื่อสุทธิ 11.63 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อเดือน ธ.ค.2561 เร่งตัวขึ้นในทุกประเภท นำโดยสินเชื่อรายย่อยที่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยด้านฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย ขณะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ยังคงขยับขึ้นตามทิศทางการโอนกรรมสิทธิ์บ้านก่อนเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จะมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ยังมีการเบิกใช้สินเชื่อจากธุรกิจรายใหญ่ และธุรกิจเอสเอ็มอี ด้วยเช่นกัน

ด้านเงินรับฝากเดือน ธ.ค.2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.36 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.09% MoM มาที่ 12.58 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้ภาพรวมเงินฝากในปี 2561 เติบโตขึ้น 3.96% นำโดยเงินฝากออมทรัพย์ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย และแคมเปญเงินฝากอย่างต่อเนื่องในปีนี้ หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำสำหรับบุคคลธรรมดาที่มียอดเงินฝากไม่เกิน 5 ล้านบาทแล้ว

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อในปี 2562 มีโอกาสชะลอลงมาที่ 5.0% (กรอบคาดการณ์ 4.0-6.0%) โดยคาดหวังการขยายตัวของทิศทางการลงทุนภายในประเทศจะเป็นแรงหนุนต่อเนื่องให้สินเชื่อธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยอาจเติบโตชะลอลง เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน และแรงหนุนจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ น่าจะน้อยลงกว่าปี 2561 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อรายย่อยบางประเภท อาทิ สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (clean loan) และสินเชื่อที่มีหลักประกันที่ปลอดภาระ อาจประคองทิศทางการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ คาดว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่น่าจะยังไม่ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นการทั่วไปภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2562

ด้านแนวโน้มเงินฝาก+BE ในปี 2562 คาดว่าจะเติบโตที่ระดับประมาณ 5.0% ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของสินเชื่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น