xs
xsm
sm
md
lg

คลัง-ธปท.ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รมว.คลังอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คลัง-ธปท.ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รมว.คลังอาเซียน ครั้งที่ 23 “ผอ.สศค.” เผยธีมจัดงานจะอยู่ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” และยังคงเน้นความเชื่อมโยง ความยั่งยืน และการสร้างภูมิคุ้มกัน เป็น 3 กรอบประเด็นหลักในการประชุม

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปี 2562 ประเทศไทยซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน กระทรวงการคลัง จึงได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีในส่วนของความร่วมมือด้านการเงิน (Financial Cooperation) โดยมีกำหนดการจัดประชุม 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงแรก จะเป็นการจัดการประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลัง และธนาคารกลางอาเซียน รวมถึงการประชุมคณะทำงานต่างๆ ภายใต้กรอบอาเซียน ระหว่างวันที่ 11-16 กุมภาพันธ์ 2562 ที่กรุงเทพมหานคร และช่วงหลังจะเป็นการจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (AFMM) ครั้งที่ 23 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (AFMGM) ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2562 จังหวัดเชียงราย

ส่วนการกำหนดธีมในการจัดการประชุมครั้งนี้ นายลวรณ กล่าวว่า ไทยกำหนดแนวคิดหลัก คือ ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability) ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้ร่วมกันกำหนดประเด็นหลักที่เป็นกรอบการดำเนินการด้านสารัตถะของไทย 3 หมวดหลัก คือ ความเชื่อมโยง ความยั่งยืน และการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งแต่ละหมวดมีผลงานที่คาดว่าจะบรรลุ คือ ความเชื่อมโยง จะเน้นการพัฒนาความเชื่อมโยงระบบการชำระเงินและบริการ และการสนับสนุนการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อการสร้างอาเซียนที่ไร้รอยต่อ เช่น การส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการ และการลงทุน การส่งเสริมการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศ การเร่งรัดการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกันอย่างสมบูรณ์ภายใต้ระบบ ASEAN Single Window (ASW) เป็นต้น

ส่วนความยั่งยืนนั้นจะเป็นการส่งเสริมให้ภาคการเงินมีแนวปฏิบัติ เพื่อให้สามารถตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และสนับสนุนเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งจะช่วยยกระดับให้ภูมิภาคอาเซียน มีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน มีการจัดทำแนวทางการพัฒนาตลาดทุนอาเซียนที่ยั่งยืน และจัดทำกรอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยของอาเซียน การสร้างภูมิคุ้มกัน จะเป็นการสร้างกรอบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และความร่วมมือด้านการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ดิจิทัลอาเซียน โดยสนับสนุนการพัฒนาความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แก่บุคลากรด้านการเงินของประเทศสมาชิก และผลักดันให้เกิดเครือข่ายกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน พร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชนในภูมิภาค เพื่อป้องกันการหลอกลวง รวมทั้งการให้ความรู้ด้านพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัล

ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามผลงานข้างต้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจของอาเซียน จะมีความเชื่อมโยงกันในทุกมิติ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมต่อการพัฒนาในระยะยาว และมีกระบวนการด้านภาษีศุลกากร และสรรพากรระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นมาตรฐาน และมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน จะเป็นไปอย่างยั่งยืน และทั่วถึง สามารถรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ และที่สำคัญ เศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน จะมีความทันสมัย มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีมาตรการพร้อมรับมือภัยคุกคามของโลกไซเบอร์ และมีกฎเกณฑ์รองรับนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคอาเซียน ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกต่อไป
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น