xs
xsm
sm
md
lg

“ทีเอ็มบี” งัดกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้า-ปี 61 กำไร 1.1 หมื่น ล. เพิ่มขึ้น 34%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธนาคารทหารไทย กำไรสุทธิปี 61 กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ 34% พร้อมเพิ่มอัตราสำรองฯ ต่อหนี้เอ็นพีแอล เป็น 152% เพื่อเตรียมรับ IFRS 9 และสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ ขณะที่ปี 62 เน้นกลยุทธ์ Get MORE with TMB ขยายฐานลูกค้าต่อเนื่อง

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB แจ้งผลการดำเนินประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 11,601.24 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.2646 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 8,686.66 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.1982 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 2,914.58 ล้านบาท คิดเป็น 33.55%

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ว่า ผลประกอบการปี 61 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ 30,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.7% หนุนโดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการรับรู้กำไรจากดีลอีสท์สปริง ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง โดยยังคงดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด ทั้งยังเตรียมความพร้อมรับ IFRS 9 ด้วยการตั้งสำรองฯ เพิ่มจากระดับปกติเป็นจำนวน 7,000 ล้านบาท ในปี 2561 ธนาคารดำเนินการตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้น 16,100 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนสำรองฯ ต่อ NPL (Coverage Ratio) ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 152% จาก 143% ในปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 2.76%

“ปี 2561 ที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการธนาคารไทย นับตั้งแต่การยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมในช่องทางดิจิทัล ไปจนถึงการพัฒนาการให้บริการใหม่ๆ บน Digital Banking ของธนาคารต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้า สำหรับทีเอ็มบี เรายกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมมาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว และทุกวันนี้ ทีเอ็มบีก้าวผ่านเรื่องของค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมไปสู่การมอบสิทธิประโยชน์กลับคืนให้กับลูกค้าภายใต้แนวคิด Get MORE with TMB

นายปิติ กล่าวว่า จากแนวคิดดังกล่าวและการพัฒนาการให้บริการในทุกๆ ช่องทาง เพื่อยกระดับ Customer Experience และรองรับรูปแบบการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลของลูกค้า ทำให้ในปี 2561 ทีเอ็มบี สามารถขยายฐานลูกค้า Retail Active Customer เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.6 ล้านคน จากปีก่อนหน้าที่ 2.5 ล้านคน และมีสัดส่วนลูกค้าดิจิทัล (Digital Active Customers) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 48% จาก 35% ในปีที่แล้ว และขยายฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นได้ 6.2% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 6.50 แสนล้านบาท

ส่วนของสินเชื่อนั้น ธนาคารเน้นการให้สินเชื่ออย่างรอบคอบเพื่อให้การโตของพอร์ตเป็นไปอย่างมีคุณภาพ โดยสามารถขยายสินเชื่อได้ที่ 6.6% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 6.86 แสนล้านบาท นำโดยสินเชื่อรายย่อย (+18%) โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (+20%) ซึ่งธนาคารได้เน้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำสอดคล้องกับแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน นำโดยลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ (+7%) โดยเฉพาะจากสินเชื่อ Trade Finance (+18%) ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเติบโตได้ที่ 1.7% จากปีก่อนหน้า

“จากสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กยังค่อยๆ ฟื้นตัว ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจึงชะลอตัวลงจากปีก่อน โดยอยู่ที่ 2.94% จาก 3.13% ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวลดลงเล็กน้อย หรือ 1.0% มาอยู่ที่ 24,497 ล้านบาท ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 85.3% มาอยู่ที่ 23,545 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากการรับรู้รายได้จากการบันทึกกำไร 1.2 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้นใน บลจ. ทหารไทย จำนวน 65% ในไตรมาส 3 ปี 2561 เพื่อเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับอีสท์สปริง อินเวสต์เมนทส์ (สิงคโปร์) โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับการให้บริการด้านกองทุนรวม หรือ ‘TMB Open Architecture’ ทำให้ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 48,042 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 17,475 ล้านบาท ลดลง 1.8% กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ ทั้งสิ้น จึงอยู่ที่ 30,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.7%”

จาก PPOP ที่เพิ่มขึ้น ธนาคารจึงเตรียมความพร้อมรองรับ IFRS 9 และการปรับลดชั้นสินเชื่ออย่างรอบคอบด้วยการตั้งสำรองฯ เพิ่มจากระดับปกติเป็นจำนวน 7,000 ล้านบาท โดยรวมทั้งปี ธนาคารดำเนินการตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้นจำนวน 16,100 ล้านบาท เทียบกับ 8,915 ล้านบาทในปีที่แล้ว โดยหลังจากหักสำรอง และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 11,601 ล้านบาท เติบโต 33.6%

นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตั้งสำรองฯ ที่สูงขึ้นในปี 2561 ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะเป็นผลจากการที่ธนาคารเน้นการบริหารจัดการอย่างรอบคอบ และการเตรียมรับ IFRS 9 ไม่ได้มีสาเหตุจากคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลง แท้จริงแล้ว คุณภาพสินทรัพย์ค่อนข้างทรงตัว และมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจากสำรองฯ ที่สูงขึ้น และสัดส่วนหนี้เสียที่อยู่ที่ 2.76% ทำให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 152% จาก 143% ในปีก่อนหน้า สะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ดีขึ้น ขณะที่ความเพียงพอของเงินกองทุน CAR และ Tier I อยู่ที่ 17.5% และ 13.6% เป็นไปตามเกณฑ์ Basel III และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ 10.375% และ 7.875% ตามลำดับ ถือเป็นการสร้างฐานเพื่อก้าวสู่ปี 2562


กำลังโหลดความคิดเห็น