xs
xsm
sm
md
lg

ยอดคำขอส่งเสริมลงทุนปี 61 ทะลุ 9 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สมคิด” มอบนโยบายบีโอไอ ตั้งเป้าคำขอส่งเสริมลงทุนปีนี้ 7.5 แสนล้าน หวังดึงญี่ปุ่น-จีน-ยุโรป ย้ายฐานการลงทุน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการทำงานและการส่งเสริมการลงทุนปี 2562 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า บีโอไอ ได้รายงานสถานการณ์การลงทุนปี 2561 มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,626 โครงการ สูงกว่าปีก่อนร้อยละ 3 มูลค่าเงินลงทุนรวม 901,770 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43

“ไตรมาสสุดท้ายมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยานยนต์หลายรายมายื่นรับส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งมาตรการจะสิ้นสุดปี 2561 ทำให้มูลค่าคำขอปีที่ผ่านมาสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 25” นายสมคิด กล่าว

สำหรับภาพรวมโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2561 อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 84 คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนกว่า 758,000 ล้านบาท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมดิจิทัล, การแพทย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอากาศยาน เงินลงทุนรวม 539,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์และชิ้นส่วน, ท่องเที่ยว และแปรรูปอาหารเงินลงทุนรวม 219,000 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมยอดคำขอและจำนวนโครงการรับส่งเสริมการลงทุนปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 422 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 683,910 ล้านบาท เป็นคำขอลงทุนในจังหวัดชลบุรี มากที่สุด 193 โครงการ เงินลงทุนรวม 576,910 ล้านบาท รองลงมา คือ จังหวัดระยอง 156 โครงการ เงินลงทุน 58,700 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 73 โครงการ เงินลงทุน 48,300 ล้านบาท

นอกจากนี้ มอบหมายให้บีโอไอ รื้อฟื้นโครงการบ้านบีโอไอ ที่เคยดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2535 โดยปรับหลักเกณฑ์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สามารถลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกได้ แต่บีโอไอ ต้องมีเงื่อนไขและมาตรฐานที่ควบคุมคุณภาพไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า บีโอไอ มองปี 2562 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว บีโอไอ จึงตั้งเป้าหมายคำขอรับการส่งเสริมลงทุน 750,000 ล้านบาท สูงขึ้นไม่มากจากปี 2561 ตั้งเป้าหมายอยู่ที่ 720,000 ล้านบาท แต่ยอดคำขอทั้งปีทำได้กว่า 900,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้

“แทนที่ปีนี้ บีโอไอ จะตั้งเป้าคำขอรับการส่งเสริมลงทุนกว่า 900,000 ล้านบาทไปเลย แต่บีโอไอ มองว่า เศรษฐกิจโลกยังผันผวน การเมืองที่ประเทศไทยกำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งมีผลทั้งบวก และลบ จึงตั้งเป้าคำขอปีนี้ไว้ที่ 750,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ที่ต้องดำเนินการให้ได้ก่อนมีการเลือกตั้งตามแผนที่กำหนด เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น” นายกอบศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยังส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ เช่น เกาหลี, จีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ มีความสนใจที่จะย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น จากทั้งนักลงทุนในจีน และสหรัฐฯ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องกำแพงภาษีที่จะส่งออกสินค้าไปจีน และสหรัฐฯ ทำให้ไทยเนื้อหอมโดยปริยาย

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า เดือนมกราคม-กันยายน 2562 บีโอไอ มีแผนชักจูงการลงทุนในประเทศเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลี, สหรัฐฯ และกลุ่มยุโรป โดยจะใช้กลยุทธ์เจาะลึกรายละเอียดและข้อมูลเป็นรายบริษัท เพื่อสร้างความเข้าใจในนโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ

รายงานข่าวแจ้งว่า แม้ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2561 จะมีมูลค่าเงินลงทุนรวมสูงถึง 901,772 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 43 จากปี 2560 มียอดคำขอ 630,930 ล้านบาท แต่ยอดอนุมัติให้การส่งเสริมลงทุนจริงปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเพียง 549,481 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 จากปี 2560 ยอดอนุมัติอยู่ที่ 631,069 ล้านบาท แต่มีจำนวนโครงการ 1,469 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้ามี 1,330 โครงการ โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีเงินลงทุนมากสุด คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 510,320 ล้านบาท รองลงมา อุตสาหกรรมยานยนต์ 130,290 ล้านบาท อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 31,350 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น