xs
xsm
sm
md
lg

สคร.แจงข้อวิจารณ์ร่างกฎหมายร่วมทุนฯ ปี 61

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผอ.สคร. แจงข้อวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนรัฐและเอกชนปี 61 เน้นกำกับดูแลโครงการลงทุนภาครัฐตามอำนาจหน่วยงานของรัฐที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ส่วนครอบคลุมถึงโครงการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรหรือไม่ปลอดอากรในสนามบินด้วยหรือไม่ ต้องพิจารณารายละเอียดของโครงการที่หน่วยงานของรัฐจัดทำเป็นสำคัญ

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาห้กิจ (สคร.) ชี้แจงข้อวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ปี 2561 จากแฟนเพจเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ว่า ร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน มุ่งเน้นเรื่องการกำกับดูแลโครงการลงทุนของภาครัฐตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะ เพื่อให้ภาครัฐสามารถควบคุมการดำเนินการของภาคเอกชนในการให้บริการประชาชนได้อย่างเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการสากลเรื่อง Public Private Partnership โดยหากเป็นโครงการลงทุนของรัฐที่สอดคล้องกับกิจการ 11 ประเภท (หรือที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมตามมาตรา 7(12)) ตามมาตรา 7 ของร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน ซึ่งรวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการดังกล่าวด้วย ก็จะเข้าข่ายที่จะต้องดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งหมด

สำหรับกรณีโครงการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรหรือไม่ปลอดอากรในท่าอากาศยานจะเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. .... หรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาจากรายละเอียดของโครงการที่หน่วยงานของรัฐจัดทำเป็นสำคัญ โดยจะต้องมีความชัดเจนถึงความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าอากาศยาน ซึ่งจะทำให้สามารถพิจารณาได้ว่า การจัดทำร้านปลอดอากรดังกล่าวมีลักษณะเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าอากาศยาน ตามมาตรา 7(3) หรือเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการท่าอากาศยาน ตามมาตรา 7 วรรคสอง ของร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. .... หรือไม่ ซึ่งหากมีลักษณะที่ต้องด้วยบทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็จะเข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 มีขอบเขตการใช้บังคับกับกิจการของรัฐทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการให้เอกชนใช้ทรัพย์สินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินโครงการที่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ทำให้โครงการที่เข้าข่ายการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 มีขอบเขตที่กว้างขวาง ส่งผลให้ทุกโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะ ที่เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องควบคุมให้เกิดมาตรฐาน และคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมด ทำให้ภาครัฐอาจไม่สามารถดูแลโครงการที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง และเป็นผลให้โครงการร่วมลงทุนไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น