การระดมทุนในตลาดหุ้นของ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB เจ้าของโรงเรียนนานาชาติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องออกแถลงการณ์ ชี้แจงการอนุมัติเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป
แต่ละปี ก.ล.ต. พิจารณาอนุมัติแบบคำขอเสนอขายหุ้นต่อประชาชนหลายสิบบริษัท โดยไม่เคยออกแถลงการณ์ชี้แจงการอนุมัติ เพิ่งมีหุ้น SISB เป็นกรณีแรก เนื่องจากมีกระแสต้านการนำหุ้นสถาบันการศึกษาเข้าตลาดหุ้นจากสังคมอย่างรุนแรง
และ ก.ล.ต. ตกอยู่ในฐานะจำเลยร่วม แถลงการณ์ของ ก.ล.ต. เป็นความพยายามดับกระแสการโจมตี แต่กลับทำให้เกิดข้อสงสัยในการทำหน้าที่กลั่นกรอง บริษัทที่จะนำหุ้นเสนอขายประชาชน และจุดยืนในการปกป้องผลกระทบทางสังคมของ ก.ล.ต. มากขึ้น
ก.ล.ต. ระบุในแถลงการณ์ว่า ก่อนอนุมัติเสนอขายหุ้น ได้ส่งหนังสือหารือกับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาเอกชน (สช.) ว่า SISB สามารถดำเนินการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ได้หรือไม่ ซึ่ง สช. ตอบกลับมาว่า ไม่มีข้อห้าม
เมื่อมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ จึงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธคำขอเสนอขายหุ้น โดยพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้ระดมทุน หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เน้นความโปร่งใสและดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอ
ส่วนข้อสังเกต สถาบันการศึกษาไม่ควรมุ่งหวังผลกำไรเป็นหลักนั้น ก.ล.ต. ระบุว่า SISB ได้ชี้แจงและเปิดเผยในหนังสือชี้ชวนว่า มีวัตถุประสงค์หลักต้องการพัฒนาการศึกษาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาในประเทศให้ทัดเทียมสากล โดยไม่ได้มุ่งหวังกำไรสูงสุด
นอกจากนั้นยังอ้างถึง พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน กรณีค่าธรรมเนียมและค่าธรรมเนียมอื่น ที่โรงเรียนแสวงหากำไรเกินควร หรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร สช. มีอำนาจสั่งให้ลดลงตามสมควร
แถลงการณ์ของ ก.ล.ต. ทำให้เกิดคำถามตามมาหลายประเด็น ประเด็นแรกคือ กิจการที่ยื่นขอเสนอขายหุ้นต่อประชาชน ก.ล.ต. ต้องสอบถามไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลในทุกกรณีหรือไม่ เช่นกิจการโรงงานอุตสาหกรรมขอเสนอขายหุ้น ต้องสอบถามความเห็นไปยังกรมควบคุมโรงงานด้วยหรือไม่
ประเด็นต่อมาคือ การอนุมัติการเสนอขายหุ้น ก.ล.ต. พิจารณาเพียงแค่คุณสมบัติของกิจการที่ยื่นคำขอ หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การแสดงความโปร่งใสและการดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอต่อผู้ลงทุนเท่านั้นหรือ
ไม่พิจารณาถึงพฤติกรรมของกิจการ ไม่ได้พิจารณาผลกระทบทางสังคมบ้างเลยหรือ