xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผย Q4/61 ไทยเที่ยวไทยมากขึ้น สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 5 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผย Q4/61 ไทยเที่ยวไทยมากขึ้นจากมาตรการลดหย่อนภาษี-หยุดยาว สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี การเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ น่าจะก่อให้เกิดรายได้กระจายลงสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว เป็นมูลค่า 58,025 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากจะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทยด้วยบรรยากาศและภูมิอากาศในหลายพื้นที่ที่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว กอปรกับในช่วงท้ายปีจะมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน และงานเทศกาลต่างๆ รวมถึงการจัดการแข่งขันกีฬาทำให้การเดินทางท่องเที่ยวจะคึกคักเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ในปี 2561 รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอย่างมาตรการหักลดหย่อนภาษีทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในตลาดของการท่องเที่ยวในประเทศ คือ คนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่มีทั้งการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกลับภูมิลำเนา และการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการสัมมนา

ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดของการท่องเที่ยวในประเทศ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 510 ตัวอย่าง พบว่า คนกรุงเทพฯ มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ (เป็นการท่องเที่ยวที่มีการพักค้างคืนในจังหวัด) คิดเป็นร้อยละ 76.2 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคนกรุงเทพฯ ที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.0 ครั้ง (ทริป) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับจำนวนวันพักค้างเฉลี่ยต่อทริป 2 คืน และเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณทริปละ 4 คน

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 23.8 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดโดยกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้ เนื่องจากหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวช่วงปลายปีเนื่องจากมีผู้คนหนาแน่น และค่าใช้จ่ายสูง กลุ่มตัวอย่างมีแผนเดินทางไปต่างประเทศ และอาจจะไปเที่ยว แต่คงเป็นปลายทางระยะใกล้ หรือไม่ต้องใช้เวลาวางแผนล่วงหน้านาน

ด้านค่าใช้จ่ายกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ที่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาทต่อคนต่อทริป ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยค่าใช้จ่ายในทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น จำแนกรายละเอียดได้ดังนี้

การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถส่วนตัวเป็นหลัก (ร้อยละ 53.8) ขณะที่รองลงมา คือ โดยสารเครื่องบินร้อยละ 22.5 นอกจากนี้ จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวโดยการเช่ารถที่มีคนขับ การเดินทางโดยรถบริการขนส่งสาธารณะ รถไฟ เป็นต้น

สำหรับค่าใช้จ่ายการเดินทางของนักท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,250 บาทต่อคนต่อทริป การสำรองห้องพักผ่าน Online Travel Agents : คนกรุงเทพฯ ใช้บริการ OTAs มากขึ้น การรุกตลาดของธุรกิจ OTAs ที่เข้มข้นขึ้น และการแข่งขันที่รุนแรง กอปรกับการเกิดขึ้นของระบบ Meta Search ที่รวบรวมข้อมูลของที่พักในระบบ OTAs ทำให้เกิดการเปรียบเทียบด้านราคาได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวในการที่จะเลือกจองห้องพัก

สำหรับผลสำรวจช่องทางการจองห้องพักของคนกรุงเทพฯ พบว่า การสำรองที่พักโดยตรงกับทางโรงแรม หรือที่พัก (โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะสำรองผ่านเว็บไซต์ของโรงแรม และที่พัก และบางส่วนโทร.จอง) มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 52.2 ขณะที่การสำรองห้องพักผ่าน OTAs มีสัดส่วนร้อยละ 47.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่ายในด้านที่พักของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ประมาณ 1,580 บาทต่อคนต่อทริป

ด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ระหว่างท่องเที่ยวในพื้นที่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องของการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ร้อยละ 69.4) รองลงมา คือ การทำบุญไหว้พระ (ร้อยละ 38.1) การไปตามร้านอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง (ร้อยละ 33.3) การไปท่องเที่ยวเยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่น (ร้อยละ 27.7) และถนนคนเดิน (ร้อยละ 26.5) สำหรับค่าใช้จ่ายในกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มตัวอย่าง (การใช้จ่ายในการซื้อสินค้า รวมถึงค่าอาหารและเครื่องดื่ม) เฉลี่ยอยู่ที่ 2,150 บาทต่อคนต่อทริป

ทั้งนี้ ช่องทางที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลือกจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวและการเลือกใช้บริการโรงแรมที่พัก และอื่นๆ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีการค้นหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกที่มีชื่อเสียงในเมืองท่องเที่ยวจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีการรีวิว หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว (ร้อยละ 39.5) การได้รับข้อมูลจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ (ร้อยละ 32.1) และการสอบถามจากคนรู้จัก (ร้อยละ 24.9) นอกจากนี้ ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ กลุ่มตัวอย่างจะใช้การค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้าและบริการผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน


กำลังโหลดความคิดเห็น