xs
xsm
sm
md
lg

“เอเชียเวลท์” ประกาศสงคราม (จบ) / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียเวลท์ จำกัด ตกเป็นข่าวฉาวโฉ่ 2 กรณีติด ๆ ทั้งการที่สองผู้บริหารระดับสูง ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ โดยปกปิดบิดเบือนข้อมูลคดีการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น และถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งปรับ 5.85 ล้านบาท ฐานปล่อยให้ลูกค้าต่างชาติขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นในครอบครอง


ทั้ง 2 คดี ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรโดยตรง ซึ่งผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการบริษัท ควรพิจารณาหามาตรการแก้ไขจุดบกพร่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอย ไม่ใช่โทษคนอื่น อาละวาดไปทั่ว ซึ่งเป็นสิ่งที่นางสาวชญานี โปขันเงิน ผู้บริหาร “เอเชียเวลท์” กำลังกระทำอยู่


หนังสือร้องเรียนที่นางสาวชญานี ยื่นให้ ก.ล.ต. พิจารณาฐานะของ นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และผู้บริษัท บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด นั้น คู่กรณีที่มีความขัดแย้งตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ  

สั่งปรับ “เอเชียเวลท์” มีหลายประเด็นที่เป็นการแสดงความก้าวร้าว ไม่เหมาะสม หรือ จงใจทำลายความน่าเชื่อถือของนางภัทธีราอย่างไร้เหตุผล


ประเด็นที่นางสาวชญานีตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ โดยระบุว่านางภัทธีราอาจะมีบทบาทในการครอบงำการคัดเลือกนั้น แทบจะเป็นประเด็นที่เลอะเทอะเฟอะฟะ และไม่น่าเชื่อว่า คนที่คลุกคลีในตลาดหุ้นมานับสิบ ๆ ปีอย่างนางสาวชญานี จะไม่เข้าใจขั้นตอนการคัดเลือกกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์


การคัดเลือกกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ แม้จะเป็นมติคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์รวม 11 คน แต่เป็นที่รับรู้และปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ว่า กระทรวงการคลังจะส่งสัญญาณว่า จะให้ความเห็นชอบใครมาเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ แม้เป็นคนที่ผ่านกระบวนการสรรหาจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม


ดังนั้นนางภัทธีราหรือนายกสมาคมโบรกเกอร์คนใดก็ตาม ไม่มีอิทธิพลมากพอที่จะผลักดันใครเป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ได้แน่


ส่วนอีกประเด็นของนางสาวชญานีที่ โหดร้ายต่อนางภัทธีรา คือ การหยิบยกข่าว ระบุว่าบุตรและธิดานางภัทธีรา ทำงานใน ก.ล.ต. และตั้งคำถามกับเลขาธิการ ก.ล.ต. ว่า สมควรหรือไม่ และจะป้องกันความขัดแย้งของผลประโยชน์ ระหว่างบุพการีแบะบุตรธิดาที่ตำแหน่งหน้าที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อกันได้อย่างไร


ไม่รู้ว่านางสาวชญาณี มีบุตรธิดาหรือไม่ มีความเข้าใจถึงความรู้สึกของคนเป็นแม่ และคนที่อยู่ในฐานะลูกหรือไม่ เพราะเมื่อมีปัญหากับแม่ แต่ทำไมต้องดึงลูกมาเกี่ยวด้วย


คำถามประเด็นนี้ สังคมคงยอมรับนางชญานีไม่ได้ ไม่มีใครชื่นชมแน่ แต่จะมีแต่เสียงประณาม เพราะไม่ว่าจะมีเรื่องเครียดแค้นอะไรกับนางภัทธีรา แต่ไม่ควรลามปามไปถึงครอบครัว กลายเป็นผู้ใหญ่รังแกเด็ก แพ้แล้วพาล


ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ลูกของนางภัทธีราใช้เส้นสายวิ่งเต้น จนได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงาน ก.ล.ต. จะหยิบประเด็นเรื่องลูกมาโจมตีคงไม่มีใครว่า

แต่ถ้าลูกนางภัทธีราดิ้นรน ขนขวายสอบบรรจุเป็นพนักงาน ก.ล.ต. ได้ด้วยความสามารถของตัวเอง เด็กจะมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกกล่าวหาในเรื่องที่ไม่จริง และลูก ๆ ของนางภัทธีรา น่าจะยังเป็นพนักงานตัวเล็ก ๆ ระดับทั่วไปในก.ล.ต. ไม่ใช้ผู้บริหารที่จะให้คุณให้โทษใครได้

นอกจากนั้น การกล่าวอ้างว่า พนักงาน ก.ล.ต. อาจเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องหรือคนในครอบครัวนั้น เป็นความคิดที่สบประมาทและดูหมิ่นดูแคลนระบบการบริหารงานภายในของ ก.ล.ต. โดยที่ไม่มีหลักฐานว่า ก.ล.ต.ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่โปร่งใส


การที่ลูกผู้บริหารบริษัทโบรกเกอร์ ทำงานใน ก.ล.ต. จะถือเป็นความผิด หรือเป็นสิ่งต้องห้าม จนต้องให้เลขาธิการ ก.ล.ต. ไล่ออกลูกของนางภัทธีราหรือไม่ นางสาวชญานีต้องตอบคำถามสังคมให้ได้


และถ้าลูกของผู้บริหารโบรกเกอร์ทำงานในหน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดทุน กลายเป็นสิ่งต้องห้าม คงจะต้องออกกฎหมายใหม่ ประกาศห้ามลูกของผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ทำงานใน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ กระทรวงการคลังและกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ขัดแย้งให้สิ้นเรื่องกันไปเลย


ไม่มีใครปกป้อง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ หรือนายกสมาคมโบรกเกอร์หรอก ถ้ามีพฤติกรรมไม่โปร่งใส จงใจกลั่นแกล้งโบรกเกอร์บางแห่ง โดยสั่งลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม


แต่ปัญหาที่สังคมตลาดหุ้นยุ่งเหยิงวุ่นวายทุกวันนี้ เพราะมีคนที่เห็นแก่ประโยชน์ ยอมกระทำความผิด เมื่อถูกจับได้ มีหลักฐานมัดแน่ แต่กลับไม่ยอมรับบทลงโทษตามความผิด


และสำหรับ "บล.เอเชียเวลท์" ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ต้องดูแลเป็นพิเศษแล้ว เพราะโบรกเกอร์สำนักนี้ ไม่ธรรมดาทีเดียว



กำลังโหลดความคิดเห็น